Assistant Professor Rattapong Angkasith and Chutayaves Sinthuphan,Vice President Interview

กิจกรรมเล็กสุดของสมาคมฯ คือการร่วมมือกันระหว่าง 4 Nations เป็นจตุภาคีที่เราจัดปีละ 4 ครั้ง เวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากเพราะเป็นภูมิภาคที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ตัวอย่างโครงการที่เราได้ร่วมกันจัดขึ้น เข่น โครงการแลกเปลี่ยนบทความเพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของแต่ละประเทศ และโครงการจัดทำ Nations Book

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์
ฝ่ายต่างประเทศ สมาคมสถาปนิกสยามฯ
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์

นโยบายและวิสัยทัศน์ฝ่ายต่างประเทศ ของคณะกรรมการบริหารชุดนี้มีแนวทางและแผนงานเป็นอย่างไร

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์: จริงๆ นโยบายของคณะกรรมการชุดนี้คือเราพยายามจะทำความร่วมมือกับต่างประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักศึกษา ทั้งกับเครือข่ายที่เราติดต่อด้วยอยู่แล้ว ไปจนถึงการติดต่อหาพาร์ทเนอร์อื่นๆ ขณะเดียวกันหน่วยงานใหญ่อย่าง UIA เราก็พยายามเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้สถาปัตยกรรมของไทยเข้าไปอยู่ในกระบวนการระดับสากลได้ในไม่มากก็น้อย

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: ส่วนตัวมีโอกาสได้เข้ามาช่วยฝ่ายต่างประเทศตั้งแต่สมัยของ ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ จึงทำให้พบว่านโยบายหลักๆ ของฝ่ายต่างประเทศคือการพิจารณาโอกาสให้สมาชิกทั่วประเทศเข้ามามีกิจกรรมส่วนร่วมในเวทีอาเซียนและเวทีสากล เพื่อสร้างเครือข่ายสังคมผู้ประกอบวิชาชีพในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมทุกแผนงานของท่านนายกทุกสมัยอยู่แล้ว 

การสร้างโอกาสและผลักดันผลงานของสมาชิกในประเทศไทยไปสู่เวทีอาเซียนหรือเวทีระดับสากลมีทิศทางเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์: เราพยายามทำ Publication ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Media Partner จากต่างประเทศที่เราส่งผลงานของสถาปนิกไทยเข้าไป หรือผลักดันให้นักออกแบบไทยส่งผลงานเข้าไปประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงหน่วยงานต่างประเทศที่มีความสนใจผลงานของสถาปนิกไทยและสอบถามเข้ามา เราก็พยายามคัดสรรผลงานดีๆ ไปเผยแพร่หรือจัดแสดง เช่นในปีที่ผ่านมาถึงแม้เราจะไม่ได้ไป The Venice Biennale แต่เราก็นำผลงานไปร่วมจัดแสดงด้วยเหมือนกัน โดยนำชิ้นงาน copy ที่จัดแสดงจริงในประเทศไทยไปจัดแสดงที่เวนิส

โครงการต่างๆ ในส่วนของฝ่ายต่างประเทศที่ขณะนี้กําลังดําเนินการอยู่ และที่กําลังเตรียมแผนจะทําในอนาคตมีโครงการใดน่าสนใจบ้าง

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: ปกติแล้วสมาคมเราจะมีเครือข่ายสมาคมวิชาชีพ โดยมีตั้งแต่สเกลเล็กสุดในระดับอาเซียนคือ 4 Nations เป็นจตุภาคีที่เราจัดประชุมกันปีละ 4 ครั้ง เวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง 4 Nations เป็นอะไรที่น่าสนใจมากเพราะเป็นภูมิภาคที่อยู่ใกล้ตัวเรา เรามีโครงการจัดทำ 4 Nations Book โครงการแลกเปลี่ยนบทความเพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของแต่ละประเทศ โครงการที่เน้นให้นักศึกษาและสถาปนิกในวิชาชีพมา workshop ร่วมกัน รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสถาปัตยกรรม เช่น สิงคโปร์ถนัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบก็นำมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน ตลอดจนกิจกรรมเสวนา และแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างในช่วงโควิด-19 ที่จัดประชุมกันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเครือข่ายที่สเกลใหญ่ขึ้นมาก็จะเป็น Arcasia หรือกลุ่มสถาปนิกเอเชีย ทุกประเทศจะส่งตัวแทนเข้ามาอยู่ในแต่ละหมวดของ Arcasia ซึ่งก็จะมีการจัดประชุมย่อยกันเองในแต่ละหมวดและมีประชุมใหญ่ร่วมกันด้วย 

หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทําให้หลายๆ โครงการตามแผนบริหารต้องหยุดชะงัก ทางคณะกรรมฝ่ายต่างประเทศรวมถึงเครือข่ายสมาชิกในประเทศอื่นๆ มีการรับมือ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในแต่ละโครงการอย่างไร

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: คิดว่าฝ่ายการทำงานที่กระทบมากที่สุดน่าจะเป็นฝ่ายต่างประเทศ เพราะเราเดินทางกันไม่ได้ จากที่ต้องเป็นตัวแทนเดินทางไปประชุมในแต่ละคณะกรรมการก็ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือคนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถเข้ามาฟังงานเสวนาได้ หรือบางกิจกรรมก็ยังคงสามารถจัดขึ้นได้อยู่ เช่น การประกวดแบบหรือการสัมมนาวิชาการออนไลน์ กลุ่มกิจกรรมเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่ได้หยุดชะงักหรือได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์: ในการร่วมมือกับกลุ่ม 4 Nations ปีที่ผ่านมา เราต่างพยายามสร้างสัมพันธไมตรีและดำเนินการกิจกรรมให้คงเดิมในหลายๆ โครงการมากที่สุด โดยตอนนี้ก็เน้นติดต่อกันในรูปแบบของออนไลน์เป็นหลัก แม้แต่การเซ็น MOU ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออนไลน์เช่นกัน อย่าง Arcasia ปีล่าสุดเราก็รับรางวัลกันผ่านรูปแบบ Virtual เพราะการเดินทางระหว่างประเทศในแถบของเรายังค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่ แต่ท้ายที่สุดแล้วการทำงานของเราก็คือต้องพยายามสร้างประสบการณ์ในรูปแบบออนไลน์ให้ดีขึ้นให้ได้ เพราะ Metaverse เป็นเว็บไซต์ 3 มิติที่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรปฏิเสธ Metaverse ขณะที่ยังต้องพยายามสร้างสรรค์ประสบการณ์ออนไลน์ให้เกิดความน่าสนใจขึ้นด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าทุกวันนี้การใช้งานในรูปแบบ Virtual หรือในโลก Metaverse ก็เริ่มทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วงแรกที่เราเพิ่งหันมาใช้งานกัน

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์

หลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เราต้องปรับตัวจากช่วงเวลาที่ผ่านมา อีกหนึ่งสิ่งที่สถาปนิกจะต้องปรับตัว และทำความเข้าใจกับการทำงานร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็คือ สถาปนิกจะต้องสร้างประสบการณ์ในรูปแบบออนไลน์ให้ดีขึ้นให้ได้ เพราะ Metaverse เป็นเว็บไซต์ 3 มิติที่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรปฏิเสธ Metaverse ขณะที่ยังต้องพยายามสร้างประสบการณ์ออนไลน์ให้เกิดความน่าสนใจขึ้นด้วย

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์
ฝ่ายต่างประเทศ สมาคมสถาปนิกสยามฯ

ในช่วงแรกเริ่มของสถานการณ์โควิด-19 จนถึงสถานการณ์ระลอกปัจจุบัน ตัวแทนฝ่ายต่างประเทศจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนหรือหารือกับกลุ่มองค์กรวิชาชีพสถาปนิกระหว่างประเทศในประเด็นที่น่าสนใจประเด็นใดบ้าง

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดมา สมาคมแต่ละวิชาชีพรวมถึงสมาคมสถาปนิกเราค่อนข้างมีส่วนร่วมกับสังคมเยอะมาก เข้าไปจัดตั้งภาคีและเท่าที่ทราบมาคือท่านนายกชนะก็ยังได้เข้าไปช่วยในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตั้งแต่ระลอกแรกๆ มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เพื่อให้ในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น แนวทางความรู้ในเรื่องของการออกแบบระบบระบายอากาศเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงช่วยออกคู่มือต่างๆ แจกจ่ายให้ใช้ในประเทศด้วย ส่วนทางกลุ่มสถาปนิก ACSR ก็ออกคู่มือออนไลน์เกี่ยวกับการปรับพื้นที่เพื่อรองรับสถานการณ์โควิดเหมือนกัน รู้สึกว่าในช่วงนั้นก็ค่อนข้างร่วมมือร่วมใจกันมากในกลุ่มของประเทศสมาชิก สำหรับในกลุ่ม Young Architect ก็มีการจัดประกวดแบบหัวข้อเกี่ยวกับบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่สามารถรองรับกับสถานการณ์โควิดได้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดทั้งกิจกรรมและการสร้าง Awareness ได้ดีด้วย ในส่วนอื่นจริงๆ เราก็มีการพูดคุยกันตลอดเกี่ยวกับเคสของแต่ละประเทศ โดยตัวแทนจากสิงคโปร์ได้พูดถึงเรื่องระบบ Hospitel ของเขาซึ่งเขาใช้ระบบนี้เป็นพื้นที่แรกๆ ส่วนเคสที่หลายประเทศสนใจกันคือเคสของไทย ซึ่งช่วงระลอกแรกเราใช้ระบบ อสม. เป็นการติดตามและดูแลผู้มีความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ 

คุณรุ่งโรจน์ อ่วมแก้ว: อย่างที่กล่าวไปคือเราแลกเปลี่ยนการทำงานกันมาตลอด ยกตัวอย่างโครงการ Hack Vax หรือ Hack Vaccine Nation ซึ่งเป็นโครงการของ MIT ที่ Media Lab พัฒนาขึ้นมา โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่นำโครงการ Hack Vax เข้ามาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย เช่น รูปแบบโรงพยาบาลในประเทศไทย หรือการรอคิวแบบไทยๆ โดยสถานที่แรกที่นำ Hack Vax ไปใช้คือที่โคราช โดยให้กรรมการสถาปนิกอีสานมาร่วมด้วย ซึ่งในฝั่งของภาคอีสานเราดำเนินการไปได้กว่า 10 โรงพยาบาล รวมถึงในภายหลังโครงการ Hack Vax ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ยังได้นำไปพัฒนาต่อเป็นขั้นตอนการฉีดวีคซีนด้วย มันจึงเป็นโครงการที่ถูกปรับและใช้งานมาเรื่อยๆ จนลงตัวกับการทำงานของทางกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่นั้นๆ อย่างบางแห่งให้ผู้ที่ไปรับวัคซีนจะเป็นผู้เคลื่อนที่โดยให้แพทย์อยู่กับที่ หรืออย่างบางแห่งที่โรงพยาบาลเล็กๆ ใน จ.อดุรธานี ก็ใช้วิธีให้ผู้เข้าไปรับวีคซีนอยู่กับที่แล้วแพทย์เคลื่อนที่แทนก็มี ตรงนี้จะมีกระบวนการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการที่สถาปนิกและแพทย์ร่วมมือกันคิดกระบวนการทำงานต่างๆ นี้ขึ้นมา อีกทั้งยังมีการคิดไปถึงเรื่องของบรรยากาศการนั่งรอ ความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดความตึงเครียดก่อนรับวัคซีน เป็นต้น ตลอดจนเราก็นำแนวทางของเรานี้ไปแชร์กับกลุ่มประเทศอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาใช้กับประเทศของเรา หรือเขานำของเราไปใช้ได้บ้าง 

สิ่งที่คณะกรรมฝ่ายต่างประเทศคาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตกับวงการสถาปัตยกรรมและวิชาชีพสถาปนิกของไทยคืออะไร

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์: ภาพรวมของแผนงานที่เราวางแผนกันมาตลอดคิดว่าค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้ว สิ่งที่จะเข้ามาเสริมน่าจะเป็นส่วนของกิจกรรมมากกว่า ส่วนตัวมองว่าการส่งเสริม คือการหาเวทีที่จะส่งงานของประเทศเราไปโปรโมท เพราะส่วนใหญ่ในเวทีโลกจะมีการจัดประกวดผลงานและสถาปนิกดีเด่นอยู่แล้ว สมาคมของเราก็มีการส่งผลงานเข้าไปร่วมประกวดกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

คุณชุตยเวศ สินธุพันธุ์: เราอยากเห็นคนไทยไปทำงานในตลาดโลกมากขึ้น สังเกตเห็นได้เลยว่าสถาปนิกในประเทศญี่ปุ่นเขาจะได้รับงานต่างประเทศเยอะมาก ซึ่งเขาไม่ได้ออกไปหางานเอง 100% แต่จะมีหน่วยงานที่คอยผลักดันว่างานของสถาปนิกคนนี้ดี สามารถนำไปเผยแพร่ในสื่อหรือนิทรรศการในต่างประเทศได้ เป็นหน่วยงานที่คอยผลักดันคนของตัวเองไปสู่ตลาดโลก ส่วนของเราก็พยายามที่จะร่วมงานกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการส่งออกก็ดี หรือหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ดี เราพยายามช่วยกันหาวิธีทางต่างๆ ที่จะผลักดันให้สถาปนิกไทยมีโอกาสได้ไปร่วมงานหรือรับงานในประเทศอื่นได้มากขึ้น ถึงแม้ทุกวันนี้จะเห็นผลงานของสถาปนิกไทยในไปออกแบบในต่างแดนเยอะอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าต้องขยับไปให้ได้ไกลกว่านี้ ซึ่งคิดว่าคุณภาพฝีมือของคนไทยสามารถทำได้แน่นอน

อ่านบทความจากคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 05 Home Smart Home คลิกได้ที่นี่

Pin It on Pinterest

Shares
Share This