Professor Tonkao Panin, Vice President Interview

เรามีโครงการที่สมาคมกําลังทําอยู่ ก็คือโครงการหนังสือแปล ที่สมาคมเรายังเล็งเห็นในคุณค่าของการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจาก ตําราภาษาต่างประเทศ โดยเราได้เริ่มนโยบายสนับสนุนโครงการหนังสือ แปลฉบับภาษาไทยและจัดพิมพ์กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากเพื่อนพี่น้องในแวดวงการวิชาชีพเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์
อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ฝ่ายวิชาการ

อาษา: อยากให้ท่านอุปนายกช่วยพูดถึงนโยบาย และวิสัยทัศน์ของฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการบริหารชุดนี้

ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์: จริงๆ งานวิชาการของสมาคม เราพยายามทำให้สัมพันธ์กับงานวิชาชีพอยู่เสมอ คือไม่ใช่เป็นงานวิชาการที่เหมือนกับทางสถาบัน แต่พยายามจะให้มีมิติที่สัมพันธ์กับงานวิชาชีพ อันนี้คือหลักการใหญ่ๆ ที่ฝ่ายวิชาการของสมาคมให้ความสำคัญ

อาษา: โครงการต่างๆ ในส่วนของฝ่ายวิชาการที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ หรือที่กำลัง เตรียมแผนจะทำในอนาคตมีอะไรบ้าง

ศ.ดร.ต้นข้าวปาณินท์: ฝ่ายวิชาการของทางสมาคม เราคือส่วนที่คอยช่วยประสานงานกับทางสถาบันต่างๆ ดำเนินกิจกรรม ร่วมมือกับสถาบัน ไปจนถึงร่วมมือกับสภาคณบดี ซึ่งนอกจากส่วนงานดังกล่าวที่เราทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เราก็มีโครงการที่สมาคมกำลังทำอยู่ด้วย ก็คือโครงการหนังสือแปล ด้วยที่สมาคมเรายังเล็งเห็นในคุณค่าของการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจากตำราภาษาต่างประเทศ โดยเราได้เริ่มนโยบายสนับสนุนโครงการหนังสือแปลฉบับภาษาไทยและจัดพิมพ์โดยบริษัท ลายเส้น พับบลิชชิ่ง จำกัด กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งตรงนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับจากเพื่อนพี่น้องในแวดวงการวิชาชีพเป็นอย่างดีมาโดยตลอด สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือแปลประจำปี 2563-2565 นั้น จะมีทั้งหมด 4 เล่มด้วยกัน ได้แก่ A  Feeling  of  History เขียนโดย Peter  Zumthor และ Mari  Lending, A  New  Architecture  and  the  Bauhaus  เขียนโดย  Walter  Gropius, The  Feeling  of  things.  Writings  on  architecture  เขียนโดย  Adam  Caruso, และ The  Necessity  of  Artifice :  Ideas  in  Architecture  เขียนโดย  Joseph  Rykwert  รวมทั้งทางสมาคมก็ยังได้ทำหน้าที่ในการจัดอบรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ รวมถึงแง่มุมอื่นๆ ให้กับสมาชิก ซึ่งส่วนนี้เราก็ดำเนินกิจกรรมกันอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำตลอดปีอยู่แล้ว

อาษา: จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณนิเวศน์ วะสีนนท์ อุปนายกฝ่ายวิชาชีพในคอลัมน์ Chat เล่มก่อน ท่านได้กล่าวถึงโครงการพัฒนาวิชาชีพไว้เบื้องต้น ส่วนนี้ฝ่ายวิชาการได้ข้องเกี่ยวอย่างไรบ้าง 

ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์: โดยปกติฝ่ายวิชาชีพและฝ่ายวิชาการเป็นฝ่ายที่มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการเฉพาะของฝ่ายวิชาชีพ หรือเป็นโครงการของฝ่ายวิชาการได้ เพราะว่าคนที่เข้ามาร่วมโครงการก็ล้วนแต่เป็นสถาปนิก ซึ่งสถาปนิกก็เป็นวิชาชีพที่มีมิติทั้งในแง่ของวิชาการและวิชาชีพอยู่ ไม่ว่าจะจัดอบรมอะไร หรือกิจกรรมประเภทไหน ก็จะมีมิติของทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นแน่นอนว่าโครงพัฒนาวิชาชีพก็เป็นอีกโครงการที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน

อาษา: ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 จนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นออนไลน์ ท่านคิดว่าการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมามีผลกับความรู้ในการประกอบวิชาชีพไหม 

.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์: ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อการประกอบวิชาชีพในอนาคต เพราะว่าวิชาชีพสถาปัตยกรรมก็ยังคงเป็นวิชาชีพเดิม ถึงแม้การเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปบ้าง ส่วนนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วของการเรียนการสอนที่จะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเช่นเมื่อก่อนที่เราไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้แต่ในปัจจุบันเราก็มีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเรียนและการทำงานมากขึ้น แต่ว่าวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยเนื้อแท้ของวิชาชีพนั้นคงไม่ได้เปลี่ยน เพราะเราก็ยังคงสร้างตึก และออกแบบอาคารกันเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่ามีโควิด-19 เข้ามาแล้วบทบาทเหล่านี้จะเปลี่ยนไป ฉะนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าต่อให้มีโควิดหรือไม่มีโควิด อาคารก็ยังคงเป็นอาคาร ถึงแม้ประโยชน์ใช้สอยอาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่แท้จริงแล้วการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องขึ้นอยู่กับโควิดเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีในส่วนของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในภาพรวมด้วย ฉะนั้นโควิดจึงไม่มีผลต่อวิชาชีพ หรือต่ออาชีพสถาปนิกในระยะยาว แน่นอนว่าถึงแม้เราจะเห็นว่าโควิดกำลังส่งผลในปัจจุบันกับการทำงาน เช่น ออฟฟิศก็ Work from home กันเกือบ 100% แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแค่วิชาชีพเราเท่านั้นที่ต้องรับมือกับการทำงานรูปแบบนี้ วิชาชีพอื่นๆ ก็ต้องทำงานรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน ในระยะยาวจึงไม่คิดว่าโควิดจะส่งผลอะไรต่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

อาษา: ในฐานะคณาจารย์ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กรณีศึกษาจากวิกฤตโควิด-19 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเสริมในบทเรียนบ้างไหม หรือมี การให้ความสำคัญกับเนื้อหาของ Resilience Design มากน้อยเพียงใด

ศ.ดร.ต้นข้าวปาณินท์: อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วคือสถาปัตยกรรมไม่ได้ตอบแค่ประเด็นของโควิดเพียงอย่างเดียว โควิดเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่ง หรือเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งในกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งหมด สถาปัตยกรรมเป็นสหวิชาการ ซึ่งประกอบไปด้วย ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ล้วนต่างมีพลวัฒน์ของสิ่งนั้นๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว และการเรียนการสอน ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนและสอนในทุกแขนง หรือทุกสาขาวิชาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โควิดจึงไม่ได้มีผลอะไร เพราะแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเรียนออนไลน์เท่านั้น เราแค่ไม่ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยกันก็เท่านั้น

อาษา: สิ่งที่ฝ่ายวิชาการคาดหวังหรืออยากให้เกิดขึ้นในวงการสถาปัตยกรรมของไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้คืออะไร

ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์: จริงๆ อยากให้ความสัมพันธ์ทางวิชาการและวิชาชีพเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ อยากให้การพัฒนาทางวิชาชีพเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการโดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการปฏิบัติวิชาชีพ และเนื้อหาทางวิชาการ อยากจะให้เป็นเนื้อหาเดียวกัน และคิดว่าวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะพัฒนาได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อฝ่ายวิชาชีพและฝ่ายวิชาการนั้นทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง

อาษา: ช่วยฝากอะไรถึงสมาชิกที่ประกอบวิชาชีพสถาปนิกและนิสิตนักศึกษาสักนิดได้ไหม 

ศ.ดร.ต้นข้าวปาณินท์: เชื่อว่าทุกคนค่อนข้างให้ความสนใจกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ทุกคนดึงเรื่องของโควิดเข้ามามาเป็นประเด็นหลักที่เกี่ยวเนื่องอะไรกับการประกอบวิชาชีพ เพราะโควิดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ชั่วขณะและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาทุกคนก็กลับมาทำงานกันเป็นปกติแล้ว มหาวิทยาลัยเปิดทำการได้ปกติ นักเรียนก็สามารถมาเรียนกันได้ตามปกติ ตรงนี้จึงคิดว่าโควิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมากแต่ไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป และอยากให้มองว่าทุกวันนี้เราที่เราสื่อสารออนไลน์กันมากขึ้น ก็เป็นตัวช่วยทำให้เราสะดวกมากขึ้นเช่นกัน ช่วยประหยัดเวลากันมากขึ้น ในบางมุมก็ทำงานง่ายขึ้นด้วย แต่นั่นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อสถาปัตยกรรมหรือไม่ เราก็ยังไม่สามารถตอบกันได้ ณ วันนี้ คงต้องให้เวลาผ่านไปและมองย้อนกลับมาในเชิง retrospective จึงจะสามารถตอบกันได้อย่างชัดเจน

อ่านบทความจากคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 03 Seeing Through คลิกได้ที่นี่

Pin It on Pinterest

Shares
Share This