Adul Kaewdee, ASA Committee (Institute of Siamese Architect; ISA) Interview

กิจกรรมในส่วนของ ISA หรือสถาบันสถาปนิกสยามฯ มาจากนโยบายและวิสัยทัศน์ของท่านนายก ที่ต้องการให้นำข้อมูลทางวิชาการ หรือกิจกรรมที่เคยทำมาแล้วในอดีตกลับมาทำขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสมาคม รวมถึงกิจกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกันเพิ่มขึ้นมาด้วย

คุณอดุลย์ แก้วดี
กรรมการกลาง สมาคมสถาปนิกสยามฯ


อาษา
: อยากให้คุณอดุลย์ ช่วยพูดถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันกับการบริหารของ ISA สั้นๆ 

คุณอดุลย์ แก้วดี: เราได้รับมอบหมายจากท่านนายกให้เข้ามาดูแลกิจกรรมในส่วนของ ISA หรือสถาบันสถาปนิกสยามฯ ตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของท่านายก ท่านต้องการให้นำข้อมูลทางวิชาการ หรือกิจกรรมที่เคยทำมาแล้วในอดีตกลับมาจัดทำขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสมาคม รวมถึงกิจกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกันเพิ่มขึ้นมาด้วย

อาษา: โครงการด้านพัฒนาวิชาชีพต่างๆ ที่ผ่านมา มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

คุณอดุลย์ แก้วดี: ตั้งแต่ผมได้เข้ามาดูแลในส่วนของ ISA กิจกรรมที่เราจัดอบรมหรือสัมมนาขึ้นก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ก็เป็น on site ที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ เลย โดยเราแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลักด้วยกัน ได้แก่ กิจกรรม Materials Info Seminar เป็นกิจกรรมที่พูดถึงวัสดุและการก่อสร้างทางด้านสถาปัตยกรรม อีกกิจกรรมหนึ่งเป็นกิจกรรมจัดสัมมนาออนไลน์ Webinar เป็นเรื่องที่จัดขึ้นตามความสนใจของสังคม และเรื่องของสมาคมสถาปนิกที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมนั้นๆ ด้วย เช่น เราเคยจัดเรื่องสัมมนาเกี่ยวกับ บ้านบอมเบย์ เบอร์มา ที่จังหวัดแพร่ หรือว่าเป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาตัว ประสบการณ์การติดโควิด-19 ของสมาชิกสมาคม และมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับไปดูงาน ISA Material Visit ซึ่งจะต่อเนื่องกันกับ ISA Materials Info Seminar ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็ได้รับการตอบรับจากสมาชิกค่อนข้างดี และมักจะมีผู้เข้าร่วมเต็มในทุกกิจกรรมเสมอ 

โดยในช่วงก่อนโควิด-19 ที่ผ่านมา กิจกรรมของ ISA เราได้ทำการทดลองกิจกรรมเป็นรูปแบบออนไลน์หรือ Webinar ร่วมด้วยอยู่แล้ว จึงทำให้ช่วงที่มีสถานการณ์ห้ามจัดกิจกรรม on site เราก็ปรับกิจกรรมต่างๆ มาเป็นรูปแบบออนไลน์ 100% เลยโดยไม่ได้ติดขัดอะไร ซึ่งก็อาจจะได้พบกันแล้วในกิจกรรม ASA Talk Series หรือกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบชุมชน รวมถึงการประกวดแบบต่างๆ ที่สมาคมได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และยังมีกิจกรรม ISA Materials Info Online อันนี้เป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุ และการก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีคนให้ความสนใจเข้ามากันค่อนข้างมาก จากยอดผู้เข้าชมที่เราพบคือ 100 ถึง 200 ผู้เข้าชม และหลังจากที่เผยแพร่ลงในเพจเฟสบุ๊คของสมาคมสถาปนิกฯ หลังจากการสัมมนาก็ยังมีผู้ที่ตามเข้าไปรับชมย้อนหลังโดยมียอดผู้เข้าชมกว่า 1,000 ผู้เข้าชมเลยทีเดียว

อาษา: โครงการที่กำลังวางแผนจะจัดขึ้นหลังจากเปิดประเทศและมาตรการผ่อนปรนมีอะไรบ้าง และแต่ละโครงการมีความคืบหน้าอย่างไร

คุณอดุลย์ แก้วดีทาง ISA ได้เตรียมกิจกรรมสำหรับช่วงมาตรการผ่อนปรน รวมถึงปีหน้าไว้ 5 ถึง 6 กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมแรกคือ ISA Materials Info Seminar หรือเดิมทีเราเคยจัด on site ที่สมาคมอยู่แล้ว ต่อมาคือ ISA Materials Visit ต่อเนื่องกับกิจกรรม ISA Materials Info Seminar ก็จะเป็นการเยี่ยมชมดูงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีคนให้ความสนใจตลอด เราจึงตั้งใจจะกลับมาจัดขึ้นเหมือนเดิมในปีหน้า และยังมี ASA Talk Series เกี่ยวกับเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ วันเสาร์ โดยจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเช่นกัน ส่วนกิจกรรมที่เคยวางแผนกันไว้ก่อนช่วงที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด คือกิจกรรม ASA Dinner Talk เป็นกิจกรรมสัมมนา on site ที่เราตั้งใจจะจัดให้เกิดขึ้นในทุกช่วงเย็นวันพุธ หรือสองอาทิตย์ครั้ง เพื่อที่จะพบปะสมาชิกหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน กิจกรรมนี้เราก็ได้เตรียมแผนนำกลับมาจัดขึ้นในปีหน้าด้วย

ในส่วนกิจกรรมของที่เราทำมาตลอดอยู่แล้ว และกำลังจะเผยแพร่ออกไปเร็วๆ นี้คือ ISA Library เป็นการรวบรวมข้อมูลวัสดุการก่อสร้างต่างๆ ทั้งที่เคยจัดไปแล้วหรือที่กำลังจะจัดต่อไป โดยนำมารวบรวมให้เป็นที่สืบค้น หรือเป็นศูนย์กลางเพื่อประสานกับทาง supplier ต่างๆ โดยจัดเตรียมไว้เป็นห้องสมุดที่สมาคมฯ เพื่อที่จะให้สมาชิกสามารถเข้ามาสืบค้นองค์ความรู้ได้เองทั้งแบบ on site และ online อีกกิจกรรมสุดท้ายที่น่าติดตามอย่างยิ่งคือกิจกรรมประกวดแบบ ที่เราได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อผลักดันและให้สมาชิกได้มีโอกาสนำเสนอผลงานของตนเองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในปีหน้าก็คงมีการประกวดแบบที่น่าสนใจให้เห็นกันเรื่อยๆ เช่นกัน

อาษา: โครงการพัฒนาวิชาชีพ 7 หัวข้อ ที่ฝ่ายวิชาชีพของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดนี้ได้วางแผนไว้ ทาง ISA ได้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ด้วยไหม และแต่ละหัวข้อมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

คุณอดุลย์ แก้วดี: เดิมทีโครงการวิชาชีพทั้ง 7 หัวข้อ เป็นโครงการที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตั้งใจให้เป็นรูปแบบ on site โดยเนื้อหาของทั้ง 7 หัวข้อ จะเป็นการจัดอบรมที่หนักเน้นไปทาง 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือเรื่องของวัสดุก่อสร้างและงานสถาปัตยกรรมที่คิดไว้จะมีเรื่องของกระจก หรือสุขภัณฑ์จำพวก touchless ช่วงที่มีกระแสโควิด-19 ตอนนั้นเราก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์มาก รวมถึงเรื่องของการใช้ซิลิโคน เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับสถาปนิกในแง่ของการออกแบบก่อสร้าง เรื่องที่สองคือส่วนงานออกแบบที่เป็นเรื่องของงานระบบต่างๆ เช่น ระบบที่จอดรถอัตโนมัติ หรือเรื่องที่สามอย่างรายละเอียดเชิงเทคนิคในการออกแบบ เช่น universal design ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นคือกิจกรรมทั้งหมดเราก็ได้นำมาปรับให้สอดแทรกอยู่ ในกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ที่เราจัดขึ้นทั้งหมด ซึ่งมีการจัดขึ้นเกือบจะครบทุกหัวข้อแล้ว ตอนนี้ก็กำลังเตรียมหัวข้อใหม่ๆ ในปีต่อไปกันอยู่

อาษา: การพัฒนาวิชาชีพสถาปนิก หรือการ upskill และ reskill ในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ของวิชาชีพสถาปนิกมีทิศทางการปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร

คุณอดุลย์ แก้วดี: ไม่ว่าจะมีโควิด-19 หรือไม่ ผมมองว่าการพัฒนาวิชาชีพทางด้านสถาปนิกนั้นมีความจำเป็นเสมอ และยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ ISA เราพยายามคัดสรรเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สมาชิกหลายๆ คนต้องพบเจอ รวมถึงองค์ความรู้ที่ยังคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เข้ามาผสมผสานกันไป ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากช่วงโควิด-19 ได้เริ่มระบาดขึ้นหลายคนก็ต้องมีการปรับตัวหันมาทำงาน สื่อสาร รวมถึงเข้าสัมมนาอบรมผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น ข้อดีของรูปแบบออนไลน์คือทำให้องค์ความรู้ที่ ISA หรือทางสมาคมได้ตั้งใจจัดเตรียมไว้ให้สมาชิกนั้นสามารถกระจายสู่สมาชิกส่วน ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย จากแต่เดิมที่หลายคนไม่สามารถเดินทาง มาอบรม หรือร่วมกิจกรรมของทางสมาคมได้สะดวก ก็กลับกลายเป็นสามารถเข้าร่วมและเรียนรู้  upskill ต่างๆ จากทางได้ไกลได้

อาษา: สิ่งที่ ISA คาดหวัง หรืออยากให้เกิดขึ้นกับวงการสถาปัตยกรรมไทยในอนาคตคืออะไร

คุณอดุลย์ แก้วดี: ISA และทุกฝ่ายของทางสมาคมเรามองว่า การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและก่อสร้างในบ้านเรา รวมถึงการถ่ายทอดความรู้จากสถาปนิกอาวุโส หรือสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ หรือสถาปนิกวิชาชีพ ที่ต้องการเสริมความรู้เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพนั้นยังมีความสำคัญมาก โดยที่ทางเราก็พยายามเข้ามาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สมาชิกสมาคมสถาปนิกฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้นในอนาคต ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท่านนายกและ ISA มุ่งหวังอยากจะให้เกิดขึ้น ในวงการสถาปัตยกรรมของเรา

อาษา: ช่วยฝากถึงสมาชิกที่ประกอบวิชาชีพสถาปนิกและนิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ รวมถึงเพิ่งจบใหม่สั้นๆ 

คุณอดุลย์ แก้วดี: ส่วนตัวเชื่อว่าสมาคมสถาปนิกฯ เป็นพื้นที่ของทุกๆ คน และยังคงต้องการความร่วมมือ ร่วมใจ ให้ทุกท่านเข้ามาช่วยสร้างสมาคมฯ ให้เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในการประกอบวิชาชีพร่วมกันของทุกๆ คน เราอยากเห็นหรืออยากให้สมาคมฯ ดำเนินการอย่างไรกับวิชาชีพบ้าง เราอาจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดัน เสนอแนะ หรือร่วมมือกันทำได้ ส่วนน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่ยังเรียนอยู่ตอนนี้ ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับสมาชิกของทางสมาคมฯได้แล้วเช่นกัน  เราจะเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ อาสาเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการร่วมพัฒนา ด้านวิชาชีพต่างๆ ได้ด้วย ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่อยากฝากถึงสมาชิกทุกๆ ท่าน

อ่านบทความจากคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 04 Towards Circular Living คลิกได้ที่นี่

Pin It on Pinterest

Shares
Share This