Photo Essay: ASA Trip in Shanghai 2023

text & photo: Boonchai Tienwang (except as noted)


กลับมาเซี่ยงไฮ้รอบที่สี่ ร่วมกับเหล่าสถาปนิกไทย ที่จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ หลังจากที่เคยมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้านงานออกแบบผังเมืองที่ Tongji University อยู่ 4-5 เดือนช่วงปี 2005

สมัยที่ผมเรียน จีนกำลังตื่นตัวกับการสร้างบ้านแปลงเมืองต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับการจัดงาน Olympic 2008 ที่ปักกิ่งและ World Expo Shanghai 2010 (ก่อนที่ Wang Shu จะได้รับรางวัลสูงสุดในโลกสถาปัตยกรรม Pritzker Prize ในปี 2012) การรื้อถอนชุมชนเดิม เพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศนั้น กำลังดำเนินไปอย่างคึกคัก จนมีเสียงร่ำลือกันว่าครึ่งหนึ่งของ tower crane ของทั้งโลกนั้นกำลังหมุนอยู่ในจีน

มาเยี่ยมเยียนเซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ เหมือนได้กลับมาทบทวนสภาพแวดล้อมในความทรงจำเมื่อหลายปีก่อนแล้วเปรียบเทียบกับสภาวะปัจจุบัน หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายอย่างยังคงจิตวิญญาณเดิมของมันอยู่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ คือ มหานครแห่งนี้กำลังวิวัฒนาการไปในทิศทางที่สมดุลมากขึ้น และยอมรับให้ประชาชน เทคโนโลยี และธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกายภาพเมือง ผมจึงสรุปความคิดและความรู้สึกของผมจากการเดินทางออกมาดังนี้

1. การพัฒนาเมืองของจีน มีความสมดุลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

2. เหมืองจินหยุน : THE MOST BASIC FROM OF ARCHITECTURE

3. พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หลินอัน เมื่องานธรณีวิทยา / สถาปัตยกรรม / หัตถกรรม / ประวัติศาสตร์หลอมรวมกัน

4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน พัฒนาได้อย่างมีชั้นเชิง

5. Architecture walk tour ของสถาปนิก โดยสถาปนิก เพื่อสถาปนิก

6. Neri&Hu Office – Local go Global design studio

7. งานอนุรักษ์อาคารเก่าของจีน ทำได้ดีมากอย่างน่าชื่นชม

8. ASA LECTURE IN SHANGHAI

9. XIN TIAN DI ยังคงประสบความสำเร็จอย่างสูง

10. พื้นที่ว่างในเมือง ที่เข้าถึงได้โดยคนทุกชนชั้น เป็นประโยชน์ต่อเมืองทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม


1. การพัฒนาเมืองของจีน มีความสมดุลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

SHANGHAI WATERFRONT

สมัยเรียนที่ Tongji โปรเฟสเซอร์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงด้านออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมือง แกได้เล่าให้ฟังเรื่องการรื้อย้ายชุมชนเก่าแก่ในเซี่ยงไฮ้ขนานใหญ่ สร้างผลกระทบกับผู้คนที่อาศัยในย่านริมน้ำและกลางเมืองเซี่ยงไฮ้หลายแสนคนเพื่อจัดงาน Expo โลกในปี 2010 ผมได้ถามอาจารย์ว่าแล้วชุมชนเดิมอยู่ร่วมกับงาน Expo อย่างไร

อาจารย์แกตอบกลับมาว่า “ไม่มีคำว่า conservation ในพจนานุกรมจีน รัฐบาลจีนมี total authority ในการโยกย้ายชุมชน ทำลายเมืองเก่า แล้วสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้คนได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายชุมชนเก่าเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่จัดงาน Expo เสร็จ รัฐก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการดัดแปลงพื้นที่ต่างๆ กลับคืนสู่เมือง และได้กลายเป็นพื้นที่ริมน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ที่มีอาคารระดับ iconic หลายแห่ง สร้างประโยชน์สาธารณะให้ผู้คนจำนวนมากเช่นกัน

STREET

นอกเหนือจากเรื่องสเกลใหญ่ๆ ในระดับผังเมืองแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็ดูจะมีจิตสำนึกที่ดีในการดูแลรักษาต้นไม้และการพัฒนากายภาพของเมืองให้อยู่ร่วมกันได้ มองไปในหลายๆ ย่าน ก็เห็นสายไฟฟ้าและสายสื่อสารพาดผ่านทางเท้าและข้ามถนนอยู่บ้าง แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจในการจัดระเบียบให้มันสอดแทรกเข้าไปตามที่ว่างของกิ่งก้านไม้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ทรงพุ่มของต้นไม้ดูแผ่ขยายทุกทิศทาง เติบโตสมศักดิ์ศรีต้นไม้ในเมืองใหญ่แม้จะอยู่ริมทางเท้า ดูแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ เมื่อนึกถึงชะตาชีวิตของต้นไม้ในกรุงเทพฯ ที่เหมือนนักเรียนชายโดนครูฝ่ายปกครองกล้อนผม ให้ยืนประจานตัวเองหน้าเสาธงอย่างอดสู


2. เหมืองจินหยุน : THE MOST BASIC FORM OF ARCHITECTURE

JIN YUN QUARRY 8

ถ้าถามว่า ในทริปนี้มีที่ไหนที่อยากกลับไปเยี่ยมชมอีกมากที่สุด ก็ตอบได้ไม่ยากว่า เป็นเหมืองหินจินหยุน Quarry 8 ที่ดัดแปลงเอาเหมืองเก่าที่หมดสภาพ ด้วยการสอดแทรกเอาองค์ประกอบพื้นฐานที่เรียบง่ายทางสถาปัตยกรรมอย่างราวกันตกและบันไดเข้าไป เพื่อดัดแปลงให้มันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

ลักษณะของกำแพงเหมืองบางส่วนใน Quarry 10 นั้นยังเก็บรักษาร่องรอยการขุดเจาะกรีดคว้านหินด้วยใบเลื่อยวงเดือนยักษ์อยู่ ทำให้ texture ของมันยังคงความสดในการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานในอดีตได้อย่างน่าดูชม

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าคุณภาพของสเปซที่ถูกคว้านเอาหินออกมาแล้วยังคงร่องรอยของการตัดหินเป็นชั้นๆ ที่ผนัง texture ของกำแพงเหมืองที่หยอกล้อกับแสงธรรมชาติที่ลูบไล้ไซ้ซอกหินตามจุดต่างๆ นั้น เข้าขั้นยกระดับจิตวิญญาณของผู้คนได้เลย

หลังจากเยี่ยมชมงานนี้แล้ว ก็ยังคงมีประเด็นที่ตกค้างในใจ ที่น่าถกเถียงหลายๆ อย่าง เช่นว่า เหมืองที่เราเห็นอยู่นี้นั้น ถ้าถอดเอาราวกันตกและบันไดออก มันยังใช่สถาปัตยกรรมหรือไม่ ถ้ำตามธรรมชาติที่มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยใช่สถาปัตยกรรมหรือเปล่า สถาปัตยกรรมขั้นพื้นฐานที่สุดควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง การเอาห้องสมุด ที่นั่งอ่านหนังสือ เข้าไปในเหมืองนั้น นับเป็นการยัดเยียดองค์ประกอบที่ล้นเกินไปสำหรับงานนี้หรือไม่ หรือควรปล่อยให้มันเป็นเพียงทางเดินและพื้นที่นั่งชมแต่เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ ฯลฯ

ข้อเสียของเหมืองหินจินหยุนนั้นมีแค่อย่างเดียว คือมันงดงามสะกดจิตอย่างน่าอัศจรรย์ จนผู้คนอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูป portrait เก็บไว้เป็นคอลเล็กชันส่วนตัวกันอย่างไม่ยั้งหยุด รู้ตัวอีกทีต้องเดินทางกลับเสียแล้ว มัวแต่ดื่มด่ำบรรยากาศผ่านกล้องถ่ายภาพจนไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับมันมากเพียงพอ นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างหนึ่งในการเดินทางครั้งนี้


3. พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หลินอัน เมื่องานธรณีวิทยา / สถาปัตยกรรม / หัตถกรรม / ประวัติศาสตร์หลอมรวมกัน

LIN AN MUSEUM
Photo: เฉลิมพล สมบัติยานุชิต

ได้ยินได้ฟังเพื่อนๆ สถาปนิกในวงการบอกเล่าความยอดเยี่ยมในงานออกแบบของ Wang Shu (Amateur Architecture Studio) มาหลายปีแล้ว แน่นอนว่าการเดินทางมาที่ประเทศบ้านเกิดของสถาปนิกรางวัล Pritzker Prize ในปี 2012 ย่อมไม่พลาดที่จะมาคารวะผลงานออกแบบชิ้นสำคัญ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หลินอัน เสียหน่อย

ด้วยวัสดุและเทคนิคที่ผู้ออกแบบใช้กับสถาปัตยกรรมแห่งนี้นั้น ทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความหนักแน่น มั่นคงราวกับหินผาที่ผุดขึ้นมาจากเปลือกโลก การใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการรื้อถอนบ้านเก่ากว่าหมื่นหลังคาเรือนมาก่อสร้างใหม่เป็นเปลือกอาคาร ไม่เพียงแค่สร้าง texture ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ลืมไม่ลง แต่ยังเป็นการฟื้นคืนประวัติศาสตร์ของเมืองหลินอันให้กลับมาชีวิตชีวาได้ใหม่ในอนาคตข้างหน้า

สถาปัตยกรรมแห่งนี้นับว่าสื่อสารทำงานในหลายๆ มิติ เมื่อเราค่อยๆ เดินพินิจพิเคราะห์ สัมผัสลูบไล้งานชิ้นนี้ทั้งจากข้างนอกเข้าไปข้างใน แล้วเดินไปรอบๆ ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการที่ใช้กับการจัดวางผังอาคาร การเลือกใช้วัสดุ งานออกแบบโครงสร้างอันประณีต ฯลฯ ความรู้สึกที่เราได้จากงานนี้ กลับกลายเป็นความกลมกล่อมระหว่างความหนักแน่นที่แทรกซ้อนความนุ่มนวลอ่อนโยน ละเอียดอ่อนในระดับเดียวกับที่มนุษย์สัมผัสได้จากงานหัตถกรรม

การทำความรู้จักกับสถาปัตยกรรมแห่งนี้นั้น นับว่ามีความซับซ้อนในการทำความเข้าใจไม่น้อย และต้องใช้เวลาหลายวันในการย่อยประสบการณ์ต่างๆ ที่ยังคงตกค้างอยู่ภายในให้คลี่คลายเบ่งบานออกมาได้ นับเป็นความรู้สึกที่ไม่เคยได้รับจากงานสถาปัตยกรรมชิ้นไหนเลยในโลกนี้


4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน พัฒนาได้อย่างมีชั้นเชิง

BUFFALO MAN

ระหว่างการเดินทางมีช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่ไกด์ทัวร์ พาเหล่าสถาปนิกมาเดินเล่นที่แม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่ง ที่มีชาวจีนนับร้อยนับพันมายืนริมน้ำ ส่งเสียงพูดคุยกันเซ็งแซ่

พอเหล่าสถาปนิกเริ่มสงสัยว่า ผู้คนเหล่านี้ (รวมทั้งตัวผม) มายืนทำอะไรที่นี่ ก็มีคนสองคนเดินจูงควายข้ามทางคอนกรีตเส้นเล็กๆ มา ช่วงเวลาการเดินข้ามแม่น้ำสั้นๆ แค่ประมาณ 2-3 นาทีนี้จะว่าไปก็เป็นภาพที่น่าดูชมไม่น้อย มันมีองค์ประกอบที่ลงตัวระหว่างฉากหลังที่เป็นเทือกเขาเขียวขจีรูปร่างแปลกตา และฉากหน้าคนกับควายที่ค่อยๆ เดินทอดน่องหาบคอนหญ้าบนทางคอนกรีตแคบๆ ข้ามแม่น้ำผิวเรียบลื่นที่สะท้อนโลกลงมาอีกใบ

สายลมบางเบาพัดผ่านผิวหน้า ในชั่วอึดใจนั้น ผมรู้สึกเหมือนได้เดินทางย้อนอดีต ไปในสมัยที่มนุษย์ยังใช้ชีวิตในจังหวะที่เนิบช้า ไร้กาลเวลา

เมื่อคนนำควายขึ้นฝั่งสำเร็จ ชาวจีนพากันมารุมล้อม ป้อนหญ้าให้ควายด้วยความเอ็นดู เหล่าสถาปนิกไทยนึกฉงนสนเท่ห์ว่า ตกลงเราควรประทับใจกับโชว์กายกรรมควายอัจฉริยะหรืออย่างไร บ้างก็สงสัยว่า มันอาจจะเป็นควาย AI ที่มีอัลกอริทึมควบคุม ยืนหันรีหันขวางอยู่ก็ไปเห็นป้ายอธิบายว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทุกท่าน คือสะพาน (ฝาย) คอนกรีตโบราณ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1828 และนับเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์โดยหน่วยงานท้องถิ่น

รู้สึกชื่นชมในวิธีการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงและใช้งบไม่มากนักของงานนี้ มีแค่สองคนกับควายหนึ่งตัวและหญ้าอีกหาบหนึ่ง คิดว่าหน่วยงานรัฐของเราน่าจะลองนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการเล่าเรื่องราวดีๆ ของท้องถิ่นของเราได้บ้าง


5. Architecture walk tour ของสถาปนิก โดยสถาปนิก เพื่อสถาปนิก

WALKING TOUR

เคยไปท่องเที่ยวกับทริปที่จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ มาแล้วสามครั้ง ที่ศรีลังกา อินเดีย จนล่าสุดคือที่เซี่ยงไฮ้ หางโจว ซึ่งยังคงความสนุกสนานเพื่อสถาปนิกโดยเฉพาะเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือมัน อัดแน่น ทะลุมิติ จนบางวันถึงขั้นมีสองเส้นทางให้เหล่าสถาปนิกเลือก ระหว่างดูงานสถาปัตยกรรมแบบ City walk tour หรือจะไปสนุกสนานกับ world class entertainment complex อย่าง Shanghai Disneyland

สุดท้ายเลือกไป Architecture walk tour เพราะคิดว่าไม่ว่ากี่ปีจะผ่านไป Mickey Mouse มันก็คงยินดีต้อนรับเราเหมือนเดิมนั่นแหละ และนี่เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในทริปนี้ เพราะหลังจากที่ walk tour เริ่มต้นไปเพียงแค่สิบนาที ผมก็รู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกมาเดินดูเมือง เพราะสถาปัตยกรรมนี่แหละคือ The True Disneyland สำหรับผม แถมได้ เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ผู้ร่วมก่อตั้งและสถาปนิกหลักจาก HAS design and research ผู้ทำงานและอยู่อาศัยในเซี่ยงไฮ้มาหลายปี มาเป็นวิทยากรพาเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและย่านต่างๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ตอบคำถามต่างๆ ของสถาปนิกขี้สงสัยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบมากๆ ทำให้เข้าใจสถาปัตยกรรมในหลากหลายมิติมากขึ้นกว่าเดินดูเองเยอะมาก

Architecture walk tour ส่วนใหญ่ที่เคยได้ร่วมเดินทางมาทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มักจะจัดขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์มากกว่า การได้สถาปนิกที่ยังทำงานอย่างเข้มข้นและเป็นเจ้าของงานที่ทำมากับมือเองด้วยนั้นจึงเป็นเรื่องที่พิเศษจริงๆ และได้เรียนรู้อะไรมากมายในระยะเวลาอันจำกัดแค่หนึ่งวัน


6. Neri&Hu Office :  Local go Global design studio

NERI&HU OFFICE
Photo: Jenchieh Hung

การได้ไปเยี่ยมเยียนสำนักงานออกแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่าง Neri&Hu นั้น นับเป็นสุดยอดไฮไลต์ของทริปนี้ แบบที่ถ้าให้จองตั๋วเพื่อแค่บินมาดูสำนักงานแล้วบินกลับเลย ก็ยังนับว่าคุ้มค่าการเดินทาง

สำนักงาน Neri&Hu ดัดแปลงมาจากหอพักของบริษัทโทรคมนาคมท้องถิ่น โดยยังเก็บรักษาสภาพเดิมของอาคารเอาไว้อยู่ แล้วสร้างความขัดแย้งระหว่างสภาพความดิบเก่ากับองค์ประกอบในภาษาแบบ Ultra-Modern ที่สอดแทรกเข้าไป การใส่ราวเหล็กสีดำในสเกลเหมือนกรงขังเพื่อแยกส่วนพื้นที่สตูดิโอทำงานกับทางเดินนั้น ราวกับจะเหยียดหยันชีวิตในสำนักงานว่าเปรียบเสมือนคุก แต่ดูจากบรรยากาศการทำงานแล้ว คิดว่านี่น่าจะเป็นคุกที่ทุกคนยินยอมพร้อมใจกันเข้าไปถูกจองจำด้วยความยินดี

ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์สาวร่างเล็กชาวจีนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว พาเดินเยี่ยมชมสำนักงานทุกซอกทุกมุมอย่างไม่หวงวิชา ทั้งสตูดิโอทำงาน model lobby ห้องเก็บวัสดุ ห้อง prototype ฯลฯ สำนักงานแห่งนี้มีพื้นที่ co-working space สำหรับบุคคลภายนอกให้เข้ามาทำงานได้ และด้วยความเข้มขลังของบรรยากาศ สำนักงานออกแบบระดับโลก Neri&Hu จึงได้กันพื้นที่บางส่วนเอาไว้เป็นแกลเลอรีสำหรับถ่ายทำสินค้าที่สนใจเช่าถ่ายทำไว้ด้วย

การได้มาเยี่ยมชมสำนักงานออกแบบดีๆ นั้น สร้างแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลที่ผลักดันให้เหล่าสถาปนิกอยากจะผลิตงานชั้นเลิศออกมาสู่สังคมให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกดดันจากเงื่อนไขที่ต้องฟันฝ่าในชีวิตการทำงานเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานที่สูงลิบลิ่วที่ได้เห็นอยู่ตรงหน้า เรียกได้ว่าเป็นทั้งคำอวยพรและคำสาปที่หยิบยื่นมาให้เราพร้อมๆ กัน


7. งานอนุรักษ์อาคารเก่าของจีน ทำได้ดีมากอย่างน่าชื่นชม

SHIPYARD 1862

ในชีวิตเคยได้เยี่ยมชม โครงการประเภท Rehabilitate (ดัดแปลงอาคารเก่า เพื่อใช้งานในรูปแบบใหม่) อยู่หลายอาคาร แต่ SHIPYARD 1862 ของ Kengo Kuma and Associates (KKAA) ที่ดัดแปลงอู่ต่อเรือขนาดใหญ่มาเป็นร้านค้าและโรงละครแห่งนี้ น่าจะเป็น TOP 5 โครงการที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยเห็น

ด้วยการใช้งานเดิม เป็นอาคารประเภทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างอู่ต่อเรือ ทำให้สเกลของงานโครงสร้างและงานระบบนั้นมีขนาด overscale ในทุกๆ ส่วน การสอดแทรกองค์ประกอบใหม่ที่แตกต่างทั้งรูปแบบการใช้งานและสเกล นับเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย

KKAA เพิ่มพื้นที่ส่วน retails เข้าไปอีกสี่ชั้นแทรกตัวเข้าไปโถง atrium ต่อเรือเดิม แล้วแทรกห้อง auditorium ขนาด 800 ที่นั่ง เข้าไปในฝั่งอาคารทิศตะวันออก โดยที่สามารถเห็นวิวแม่น้ำหวงผู่ได้เต็มๆ ตา

การเลือกใช้วัสดุของ KKAA นั้น ยังคงรักษาภาษาแบบ industrial design ได้เป็นอย่างดี ทั้งในงาน interior และ architecture design โดยเฉพาะงานออกแบบ façade ที่แขวนอิฐนับหมื่นนับแสนก้อนด้วยเส้น stainless steel cable ที่ค่อยๆ กระจายความหนาแน่นโดยรอบอาคารนั้น อิฐเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น shading layer ในการกรองแสงเข้าพื้นที่ภายใน ได้เอ็ฟเฟ็กต์ที่น่าทึ่ง ไปพร้อมๆ กับการสร้าง dialogue ของกำแพงอิฐดั้งเดิมของอู่ต่อเรือและวัสดุ façade ชุดใหม่ที่แตกต่างอย่างกลมกลืน

เห็นอาคารอนุรักษ์เก่าๆ ได้ฟื้นคืนชีพกลับมาโลดแล่นได้ใหม่อย่างมีชีวิตชีวาแบบนี้ อดนึกถึงชะตากรรมของอาคารเก่าสวยๆ ในไทยหลายหลังที่โดนทุบทำลายไปอย่างน่าเสียดายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้แต่หวังว่าหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันผลักดันให้การพัฒนากายภาพของบ้านเมืองเราคำนึงถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กันมากขึ้นในอนาคต

หมายเหตุ ขอขอบคุณ เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ที่เป็น Project Architect ของโครงการ ที่ได้พาทีมงานเข้าเยี่ยมชมและติดต่อประสานงานกับเจ้าของโครงการเพื่อเปิดอาคารให้ชาวคณะให้เข้าเยี่ยมชมแบบสุด exclusive มา ณ ที่นี้


8. ASA LECTURE IN SHANGHAI

ASA LECTURE

หนึ่งในความพิเศษของทริปอาษาที่เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ที่แตกต่างจากทุกทริปที่ผ่านมา คือสถาปนิกไทยไม่ได้เพียงแต่มาเรียนรู้งานผู้อื่นเท่านั้น แต่เรายังมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของเราให้สถาปนิกเซี่ยงไฮ้ฟังด้วย

หลังจากที่เดินเยี่ยมชมงานต่างๆ ใน walk tour มาแล้วทั้งวัน ร่วม 20,000 ก้าว กลุ่มสถาปนิกไทย die hard อีกกลุ่ม ก็ได้เรียนรู้ระบบขนส่งสาธารณะของจีนฝ่าทะลุเมือง ไปโผล่ที่ย่าน design district แห่งหนึ่งที่มีร้านหนังสือ Tsutaya ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น โดยผู้จัดได้เตรียม dinner พร้อม soft drink อย่างดีไว้ต้อนรับ

ตัวแทนสถาปนิกไทย อย่าง HAS design and research โดยเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และกุลธิดา ทรงกิตติภักดี (ป้อ) และ IDIN Architects โดยจีรเวช หงสกุล (เป้) แม้จะเดินมาทั้งวัน แต่เมื่อมีผู้ชมอยู่เต็มห้อง ทั้งสามก็สลัดความเหนื่อยล้า เปิดการแสดงด้วยความสดชื่น อย่างกับคนได้นอนมาทั้งวัน

โครงการที่ทั้งสองออฟฟิศเอามาเล่าให้ฟังนั้นมีความสดใหม่และเป็นเอกลักษณ์ในแนวทางของตัวเอง บางข้อมูลไม่เคยได้รับฟังจากที่ไหนมาก่อนและเพิ่งบรรยายให้ฟังที่นี่เป็นครั้งแรก หลังจากที่ขึ้น lecture กันครบ ทั้งสถาปนิกไทยและจีน ก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และคำถามจากทั้งผู้ฟังและ moderator ที่ให้มุมมองจากคนต่างวัฒนธรรมกลับมาที่ผลงานของสถาปนิกไทยได้อย่างน่าสนใจ จนเวลาล่วงเลยผ่านกำหนดการไปพอสมควร ก่อนจะปิดการแสดงแยกย้ายกันกลับโรงแรมไป หลายท่านยังพลังงานเหลือเฟือขอ drink drank drunk กันต่ออีกยาวๆ

นับเป็นโมงยามที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่า ซาดิสม์ สมกับที่เป็นกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ ไฟแรงกันจริงๆ


9. XIN TIAN DI ยังคงประสบความสำเร็จอย่างสูง

XIN TIAN DI

Xin Tian Di นั้นเป็น lifestyle neighborhood ที่สุดแสนมีชีวิตชีวา ที่ทุกเมืองอยากจะมีไว้เป็นของตัวเองสักย่านหนึ่ง

แต่เดิมย่านนี้เคยเป็นอาคารเก่าที่ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ใช้จัดประชุมวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาได้ถูกออกแบบใหม่ให้เป็นพื้นที่ open shopping+lifestyle district แห่งแรกในจีน ที่คึกคักมีชีวิตชีวา และประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูง ส่งผลให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ราคาค่าเช่าสูงที่สุดในจีน และกลายเป็นกรณีศึกษาด้านการออกแบบในระดับโลก

ปัจจุบัน อาคารเก่าที่ท่านประธานเหมาเคยใช้ ยังคงถูกอนุรักษ์อยู่ในมุมหนึ่งของย่านนี้ โดยมีตำรวจล้อมรอบเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง แต่บรรยากาศแทบจะถูกกลืนกินไปหมดแล้ว

กลับมาเยี่ยมเยียนครั้งนี้ Xin Tian Di ยังคงคึกคักไม่เสื่อมคลาย อาหารและเครื่องดื่มแพงระยับตามค่าเช่า เพื่อนที่เซี่ยงไฮ้เล่าให้ฟังว่า คำว่า Xin Tian Di ได้กลายมาเป็นศัพท์ในวงการ developer จีนแล้ว ซึ่งหมายถึงการออกแบบย่านกินดื่มให้คึกคักและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และได้ถูกนำไปใช้เป็นโมเดลในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีน


10. พื้นที่ว่างสาธารณะในเมือง เป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเมืองอย่างสูง

SHANGHAI WATERFRONT

ใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้นั้น จะมี shopping street ชื่อดัง หนานจิงลู่ ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่เชื่อมต่อลานประชาชน (people square) เข้ากับทางเดินริมแม่น้ำหวงผู่ (The bund หรือไว่ทัน) ระยะทางรวมๆ ประมาณ 5 กิโลเมตร ถนนเส้นนี้นั้นมีความสำคัญเทียบเท่ากับ 5th Avenue ในนิวยอร์ก หรือ Oxford Street ในลอนดอนก็ว่าได้

ถนนคนเดินและเส้นทางริมน้ำแห่งนี้ถูกใช้งานทั้งวันทั้งคืน เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนที่ร้านค้าจะเปิดก็จะพบกลุ่มคนหลากหลายอายุออกมาใช้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้นพักผ่อนหย่อนใจในหลายรูปแบบ ทั้งรำไทเก็ก เต้นแอโรบิก ไปจนถึงเล่นกีฬาตีแบด และกีฬาอีกหลายอย่างที่เล่นกันเฉพาะในจีนเท่านั้น พอตกสายร้านค้าต่างๆ เริ่มเปิด ผู้คนหลายแสนต่อวันก็ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักจนดึกดื่นค่ำคืน ได้ประโยชน์ทั้งทางด้านธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสุขภาพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชาวเมือง

การมีถนนคนเดินและเส้นทางริมน้ำสาธารณะเหล่านี้นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างภาครัฐและเอกชน พื้นที่เหล่านี้เป็นประโยชน์กับเมืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตจริงๆ ของผู้คนในท้องถิ่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ และสร้างเสน่ห์ให้กับเมืองอย่างน่าประทับใจ


Pin It on Pinterest

Shares
Share This