Health, Hygiene, and Comfort Issues in Architecture and Building Materials

Health and hygiene friendly construction materials do not pertain only to hospitals or healthcare centers, but the issue of health and hygiene is more relatable this day and age with the use of appropriate materials becoming more necessary for any type of building from general usage to home and residential spaces.

Text: Patikorn Na Songkhla
Photo courtesy of Knaufarmstrong, Azocleantech, Alutronic.de, Archdaily, Buildingandinteriors, Detail-online, Greenfacilities Autosanit except as noted

Download the online journal Issue 01 The ComfortZone Click here

From the start of the design process, selecting appropriate construction materials for building use when considering safety, health and the well-being of the user relies on two factors: The first includes direct physical contact between the material and any part of the user’s body, these may include decorative parts or trim, windows and doors and sanitary ware etc. The second relates to the quality of air within the building affected by such things as painted finishes and mechanical conditioning of the air.

Photo Reference: www.knaufarmstrong.com/ en-ua/performance/hygienic-ceiling-tiles.html

ถ้าพูดถึงความสำคัญของวัสดุงานสถาปัตยกรรมกับสุขภาพหรือสุขภาวะคนทั่วไป อาจนึกไปได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบอาคารโรงพยาบาล สถานีอนามัยในลักษณะต่าง ๆ แต่ทุกวันนี้ประเด็นนี้ได้เข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ออกแบบเพื่อการใช้งานทั่วไป จนถึงระดับอาคารบ้านพักอาศัยเลยทีเดียว

วัสดุงานสถาปัตยกรรมหรือวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร ตั้งแต่เริ่มงานออกแบบกำหนดรายละเอียดวัสดุ เริ่มงานก่อสร้างจนกระทั่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าใช้งานอาคาร อาจจะจำแนกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถสัมผัสกับมือหรือส่วนของร่างกายโดยตรง และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศภายในอาคารซึ่งสามารถสูดหายใจเข้าสู่ร่างกาย วัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสกับมือหรือส่วนของร่างกาย เช่น วัสดุตกแต่งภายในอาคาร อุปกรณ์ประตู-หน้าต่าง สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำ เป็นต้น วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศภายในอาคาร เช่น วัสดุตกแต่งภายในอาคาร สีทาอาคาร ระบบปรับอากาศ เป็นต้น

Photo Reference: www.azocleantech.com/article.aspx?ArticleID=1053

คอนกรีต

เรื่องใกล้ตัวที่จะนึกถึงกันหรือไม่อาจเริ่มต้นจากฝุ่นที่เกิดจากคอนกรีต โลหะ ไม้ และทุกวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ในงานก่อสร้าง ทุกงานก่อสร้างอาคารจะต้องมีฝุ่นผงโดยที่เห็นได้ชัดอาจมาจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต แล้วมันเป็นอันตรายกับสุขภาพหรือไม่? บทความ ‘Concrete and Cement Dust Health Hazards’ จาก Website haspod.com กล่าวถึงฝุ่นซิลิกาปริมาณสูงที่มีอยู่ในซีเมนต์เป็นอันตรายกับสุขภาพของคนงานก่อสร้างเป็นอันดับรอง ๆ จากแอสเบสตอส ทุกปีในประเทศอังกฤษมีผู้เสียชีวิตจากฝุ่นซิลิกาซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่ผู้คนสูดหายใจเข้าสู่ปอด ฝุ่นดังกล่าวยังอาจมีผลกับสายตาและการมองเห็น ผิวหนังบางคนอาจเกิดการระคายเคืองได้อีกด้วย แล้วฝุ่นผงจากวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นล่ะ? ทั้งที่ปรากฏในระหว่างการก่อสร้างและที่ซ่อนตัวอยู่ในอาคารแล้วค่อย ๆ ถูกปลดปล่อยออกหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

พลาสติก

พลาสติกเข้ามามีบทบาทในงานก่อสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว โดยเฉพาะพลาสติกวิศวกรรม (Engineering Plastics) เป็นนวัตกรรมที่สามารถขึ้นรูปต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ มีสมบัติแข็งแรง น้ำหนักเบา ดัดโค้งได้ ทนความร้อน ทนสารเคมี นอกจากจะนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ มากมายแล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้ในงานวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างอย่างกว้างขวาง เช่น ท่องานระบบวิศวกรรม สายไฟ ประตู-หน้าต่าง หลังคา วัสดุพื้น วัสดุผนัง วัสดุเพดาน สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบ ฉนวนกันความร้อน ระบบกันซึม เป็นต้น

พลาสติกบางประเภทมีสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย ง่วง เสียการทรงตัว การได้ยินและการมองเห็นไม่ชัดเจน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น พลาสติกหลายประเภทสามารถนำกลับมาทำใหม่ (Recycle) การปนเปื้อนของสารพิษมีการจัดการได้ดีเพียงไร ขณะเดียวกันพลาสติกบางประเภทไม่สามารถนำกลับมาทำใหม่ กลายเป็นขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ตามมาด้วยปัญหาการจัดเก็บและทำลาย ขยะพิษที่เป็นอันตราย รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อีกสิ่งที่ต้องพึงระวังให้มากคือ พลาสติกหลายประเภทมีอันตรายเมื่อเกิดการลุกไหม้ เกิดการลุกลามของเปลวไฟ ก่อให้เกิดควันพิษเป็นอันตรายถึงชีวิต

อุปกรณ์ประตู

วัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสกับมือหรือส่วนของร่างกายเห็นได้ชัดประเภทหนึ่ง ได้แก่ อุปกรณ์ประตู-หน้าต่าง โดยเฉพาะมือจับประตู (Door Handle) กุญแจมือจับล็อกประตู (Door Lockset) แล้วเราจะแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากอุปกรณ์มือจับประตูได้อย่างไร? การใช้เทคโนโลยี Silver Ion ช่วยฆ่าเชื้อไวรัส การออกแบบเพื่อลดหรือไม่ให้เกิดการสัมผัสของผิวหนัง อุปกรณ์เสริมช่วยเปิดประตู มือจับประตูที่เปิดด้วยเท้า เป็นตัวอย่างที่ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในภารกิจนี้

วัสดุงานพื้น ผนัง เพดาน

กระเบื้องเซรามิกปูพื้นสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ไม่มีสารก่อภูมิแพ้อย่างเช่นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ ไม่ปล่อยสารพิษในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ และยังเป็นทางเลือกที่ดีกับสิ่งแวดล้อม แต่กระเบื้องปูพื้นลักษณะเป็นแผ่น ๆ จะต้องมีรอยต่อ การเลือกใช้วัสดุหรือกาวยาแนวอาจเป็นจุดที่ต้องพิจารณา การติดตั้งโดยเว้นระยะรอยต่อที่เหมาะสม การเลือกใช้วัสดุยาแนวที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ การเว้นระยะรอยต่อเพื่อกระเบื้องที่น้อยเกินไปจะทำให้วัสดุยาแนวไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวมันเอง อาจหลุดออกเกิดเป็นความเสียหายมาได้ วัสดุยาแนวคุณภาพต่ำอาจมีการยึดเกาะที่ไม่ดี หลุดล่อน กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ตะไคร่น้ำ แบคทีเรีย คราบสกปรกต่าง ๆ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง มีสารยับยั้งการเกิดราดำ หรือบางครั้งการใช้วัสดุยาแนวประเภท Epoxy ในบางกรณีให้เหมาะกับการใช้งานเป็นเรื่องจำเป็น

Photo Reference: www.archdaily.com/938260/the-importance-of-antibacterial-surfaces-in-healthcare-architecture

พื้นที่ที่ต้องการความสะอาดและปลอดภัยอย่างเช่นโรงพยาบาล การเลือกใช้วัสดุตกแต่งอาคารเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีภายในอาคาร การป้องกันการติดเชื้อด้วยพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ที่ถูกสุขลักษณะโดยไม่มีรอยแตก รอยต่อวัสดุ ความเสียหายที่เกิดจากการแตกร้าว การสึกหรอของวัสดุ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาระบบพื้นไร้รอยต่อ (Seamless Flooring) เป็นวัสดุพื้นที่ราบเรียบช่วยการสัญจรภายในอาคาร ช่วยเรื่องการดูแลรักษา การทำความสะอาด พื้นผิวที่มีความหยาบจะเก็บความสกปรก ดูแลรักษาลำบาก รอยต่อของวัสดุปูพื้นอาจทำให้เกิดการซึมผ่านของฝุ่นและสิ่งสกปรก วัสดุเคลือบไร้รอยต่อสำหรับงานพื้นและผนังจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรน้ำช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นจากสารระเหยอีกด้วย

สภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ สุขอนามัยที่เหมาะสมเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญอย่างยิ่งในห้องเพื่อการใช้งานประเภทต่าง ๆ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสมของวัสดุก่อสร้างเป็นวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ เช่นเดียวกับความสามารถของวัสดุที่จะไม่นำไปสู่การแพร่กระจายของจุลินทรีย์ กรณีฝ้าเพดานเพื่อสุขอนามัยในวันนี้คงไม่ได้เหมาะเฉพาะกับงานโรงพยาบาล พื้นที่เตรียมอาหาร ห้องปฏิบัติการ เท่านั้น ฝ้าเพดานเพื่อการใช้งานลักษณะนี้ควรมีความทนทานเพียงพอที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค นอกจากนั้นยังไม่ควรให้เกิดสารอาหารเป็นปัจจัยยังชีพสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก การเลือกวัสดุก่อสร้างที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้หรือมีส่วนในการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคารและผู้ใช้อาคาร การไม่สามารถทำความสะอาดห้องครัวอย่างเหมาะสมอาจทำให้แบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับอาหารแพร่กระจายได้ ระยะเวลาพักฟื้นที่ยาวนานและการกลับเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วยอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยนั้นสามารถติดเชื้อในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล

สีทาอาคาร

วัสดุเคลือบผิวหรือสีทาอาคารที่ช่วยปกป้องพื้นผิววัสดุ ช่วยยืดระยะเวลาในการใช้งาน มีความทนทานสวยงาม ได้ถูกนำมาใช้งาน การที่วัสดุเคลือบผิวหรือสีมีองค์ประกอบของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) อาจเป็นอันตรายกับสุขภาพของผู้ใช้อาคารได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ระบบประสาท ตับและไต สาร VOCs ยังมีผลกระทบต่อชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ทำหน้าที่กรองแสง UV ทำให้เกิดอันตรายกับสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนั้นยังทำให้สิ่งก่อสร้างชำรุดเสียหายได้ด้วย โดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์สีสำหรับงานผนังภายนอกและภายในอาคารที่ผลิตจำหน่ายจะให้สีสันสดใส ทนทานการขัดถู ป้องกันด่างและคราบเกลือจากปูน ป้องกันเชื้อราและตะไคร่น้ำ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการพัฒนาปรับปรุงเรื่องของนวัตกรรม สีสูตรน้ำ ปราศจากกลิ่น ปราศจากสารตะกั่วและปรอท ปราศจากสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสารก่อมะเร็ง ไม่มีการใช้โลหะหนัก ช่วยสะท้อนความร้อน ยับยั้งการเกาะฝุ่น ป้องกันน้ำและคราบสกปรก เช็ดล้างทำความสะอาดคราบสกปรกได้ง่ายหรือทำความสะอาดตัวเองได้ จนถึงผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว

สีฟอกอากาศและกำจัดมลพิษ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ ได้เมื่อสัมผัสแสง เพื่อให้อากาศภายในห้องบริสุทธิ์ มีกลิ่นอ่อน สามารถเข้าใช้งานได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที เทคโนโลยี Photocatalyst Nano Titanium Dioxide สลายคราบสกปรกที่ตกค้างจากการเช็ดได้ด้วยตัวเอง ทนทานต่อการเช็ดล้าง การอาศัยกลไกการทำงานของแร่เงินขนาดเล็กในระดับนาโนส่งประจุบวกทำหน้าที่ดักจับ ยับยั้ง และกำจัดแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Photo Reference: www.biomimic-c.com/en/service/biomimic_coat/photocatalyst/

วัสดุงานตกแต่งภายใน Solid Surface

Solid Surface หรืออาจเรียกว่า หินสังเคราะห์ เป็นวัสดุตกแต่งภายในประเภทหนึ่งที่มีการใช้งานแพร่หลายโดยเฉพาะงาน Top เคาน์เตอร์หรือเฟอร์นิเจอร์ไร้รอยต่อ โดยปกติประกอบด้วย Alumina Trihydrate เรซินอะคริลิกหรืออีพ็อกซีหรือโพลิเอสเตอร์ และผงสี (Pigment) การเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาการแพร่กระจายของเชื้อโรค ช่วยเพิ่มสุขภาพอนามัยของสถานที่ที่เราอยู่อาศัยได้ พื้นผิวที่เป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่มีช่องว่างหรือโพรงมีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย

วัสดุมีความเรียบเนียนสัมผัสคล้ายหินธรรมชาติมีสมบัติป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา เหมาะกับการใช้งานที่ถูกสุขอนามัย ผลิตในรูปแบบแผ่นวัสดุขนาดใหญ่หรือมีการขึ้นรูปด้วยความร้อน นำมาเชื่อมต่อโดยไม่สามารถสังเกตุเห็นรอยต่อได้อย่างชัดเจน ไม่ดูดซึมของเหลว ไม่มีการสะสมของเชื้อโรคในเนื้อวัสดุ ให้ความสวยงามสะอาดตา ทำความสะอาดได้ง่าย ทนทานต่อสารเคมีที่มีในน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาเคมีที่ใช้ในทางการแพทย์ ทคโนโลยีปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีการใช้สารเติมแต่งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะต้องพิจารณาสารเคมีดังกล่าวด้วยเนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของโลหะต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เงิน ทองแดง และสังกะสี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในเรื่องนี้ โดยแร่ธาตุดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยากับแสงแดด สัมผัสกับความชื้นและออกซิเจนในสิ่งแวดล้อมในกระบวนการที่เรียกว่า Photocatalysis จะปลดปล่อยโมเลกุลที่สามารถจับอนุภาคที่ก่อมลพิษสร้างโมเลกุลที่ซับซ้อนไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ Solid Surface ที่มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียสามารถใช้ได้กับโครงการทุกประเภท ไม่เฉพาะกับภาคการดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล อาคารพักอาศัย แต่ยังใช้ได้ในงานโรงแรม ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วย

Photo Reference: www.archdaily.com/938260/the-importance-of-antibacterial-surfaces-in-healthcare-architecture

สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำ

เป็นเวลานานมาแล้วที่มีการพัฒนาสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำโดยยังคงประสิทธิภาพการใช้งานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่งห้องน้ำ สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคหากทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำส่วนใหญ่ต้องมีการสัมผัสกับร่างกายมนุษย์อาจนำพาซึ่งเชื้อโรคและแบคทีเรีย จึงมีการคิดค้นเพื่อลดการสัมผัส การไม่ต้องสัมผัส (Touchless) กับก๊อกอ่างล้างหน้า โถสุขภัณฑ์ โถปัสสาวะ เครื่องจ่ายสบู่ ตู้จ่ายกระดาษชำระ เครื่องเป่ามือ เป็นต้น

โถสุขภัณฑ์ได้มีการพัฒนาให้การชำระล้างดีแม้จะใช้น้ำในปริมาณน้อย ไม่มีสิ่งตกค้าง ลดการสะสมของคราบน้ำต่าง ๆ ง่ายต่อการทำความสะอาด การออกแบบสุขภัณฑ์ไม่ให้มีขอบ มีซอก เกิดพื้นที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งจะเป็นที่สะสมของสิ่งสกปรก เทคโนโลยีการใช้สารเคลือบบนสุขภัณฑ์ช่วยให้คราบสกปรกและคราบน้ำหลุดออกไปได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีล้างห้องน้ำหรือออกแรงขัดถู นอกจากนั้นยังมีสารเคลือบที่ช่วยป้องกันและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ช่วยทำลายสิ่งสกปรกและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ติดอยู่กับผิวสุขภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้สารเคมีที่จะเป็นอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ สารเคลือบโถสุขภัณฑ์ออกแบบให้มีการชำระล้างโดยไม่ให้มีการสะสมของเชื้อโรคหรือแบคทีเรีย เช่น E. Coli, Pseudomonas Aeruginosa, Methylobacterium เป็นต้น และยังลดการเกิดคราบสกปรกฝังแน่น สายฉีดชำระเป็นอีกตัวอย่างของอุปกรณ์ห้องน้ำที่ต้องผ่านมือผู้ใช้งานจำนวนมาก อาจมีการสะสมของเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย อาจเกิดปัญหาการควบคุมน้ำใช้ทั้งความแรงของสายน้ำและพื้นที่จะเกิดเปียกลื่น ผู้ผลิตสุขภัณฑ์บางรายจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายโดยยังคงความปลอดภัยและความสะอาด ก้านฉีดชำระอัตโนมัติในฝารองนั่งที่ทำความสะอาดได้แม่นยำตรงจุด ฉีดออกไปโดยไม่กระเซ็นกลับไปโดนก้านฉีดชำระ มีการทำความสะอาดตัวเองก่อนและหลังใช้งาน

นวัตกรรมเครื่องปรับอากาศ ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ระบบปรับอากาศในอาคารเป็นสิ่งที่ใช้พลังงานมากที่สุด การเลือกระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ ทำความเย็นได้ดี ใช้พลังงานน้อยจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มาก เครื่องปรับอากาศระบบ Inverter เพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นและลดการใช้พลังงานลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องปรับอากาศรุ่นเดิม ๆ

นอกจากเรื่องการประหยัดพลังงานแล้ว การสร้างบรรยากาศที่สะอาดและภาวะน่าสบายให้กับห้องยังเป็นเรื่องสำคัญ สภาวะอากาศในห้องปิดมีการใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา และยิ่งห้องที่ไม่ได้รับแสงธรรมชาติจะเพิ่มโอกาสการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อราหรือไรฝุ่น อาจเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ รวมไปถึงโรคภูมิแพ้ อาการเจ็บคอ การหมั่นทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น หลายผลิตภัณฑ์ได้พัฒนานวัตกรรมให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างการกระจายและรักษาระดับแรงลมให้อยู่ในระดับพอดี มีการเคลือบสารพิเศษที่ชิ้นส่วนภายในช่วยลดการเกาะติดของฝุ่นละออง น้ำมัน ลดการสะสมของสิ่งสกปรก ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ลดไฟฟ้าสถิต ลดภาระการล้างเครื่องปรับอากาศ มีแผ่นกรองช่วยดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพในการระงับไวรัส สารก่อภูมิแพ้ สิ่งปนเปื้อนในอากาศ และยังทำงานด้วยสารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเครื่องปรับอากาศที่มีความเงียบในขณะทำงาน การควบคุมและตั้งค่าเครื่องปรับอากาศผ่าน Application ระบบควบคุมอัจฉริยะเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิด-ปิด กำหนดเวลา รวมถึงการตรวจสอบการใช้พลังงาน เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงพลังงานที่สูญเปล่าทำการปรับอัตโนมัติสู่สถานะ Stand by ล้วนเป็นเรื่องนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและจะต้องมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต

ไม่อยากคิดเลยว่าวันหนึ่งอาคารที่เราเข้าไปใช้สอยจะเป็นพื้นที่เสี่ยง เป็นพื้นที่อันตราย ไม่ปลอดภัยจากวัสดุในงานสถาปัตยกรรม การปลดปล่อยสารระเหยที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ อันตรายจากสารเคมีที่ใช้งาน การแพร่กระจายของสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่ถูกกักเก็บไว้ ผู้ออกแบบหรือสถาปนิกจึงพึงตระหนักรู้จักกำหนดวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานออกแบบก่อสร้าง ทั้งนี้ใช่ไม่เฉพาะเพื่อผู้ใช้งานอาคาร แต่เพื่อการอยู่ร่วมกันในสุขภาวะมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้

Pin It on Pinterest

Shares
Share This