Ghost to Host : The Future of Housing – before and after a Pandemic

2021 International Residential Architecture Conceptual Design CompetitionPhoto Courtesy of Pongpol Puangniyom & Mah Yi Jun

ในการประกวดแบบ “2021 International Residential Architecture Conceptual Design Competition” ส่วนขยายของโครงการ Talwan Residential Architecture Award (TRAM) ที่ประกาศผลไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยมี Francine Houban จาก Mecanon Architects Netherlands เป็นผู้ตัดสินรางวัลหลักและกำหนดโจทย์การประกวดแบบในหัวข้อ“ The Future of Housing-before and after a Pandemic” จากผลงานที่ส่งเข้าร่วมกว่า 328 ชิ้นจาก 35 ประเทศนั้น ทีมผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งพร้อมเงินรางวัล US$ 2,500 คือคู่สถาปนิกไทยและมาเลเซียโดย ปองพล ปวงนิยม ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาลัยชิงหัวในปักกิ่ง ซึ่งหลังจากที่มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานใน บริษัทออกแบบชื่อดังในปักกิ่งอย่าง Fengture และ Turenscape ปัจจุบันปองพลเปิด บริษัท ออกแบบของตัวเองชื่อ Gem.architect

ผลงานรางวัลชนะเลิศของปองพลและ Mah Yi Jun สถาปนิกจากมาเลเซียเลือกอาคารร้างอย่าง“ สาธรยูนีคทาวเวอร์ “มาเป็นโจทย์ในการทํางานออกแบบเชิงความคิดครั้งนี้ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นตึกร้างตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจทั้งในแง่รูปแบบสถาปัตยกรรม Post-modern ยุค 90 ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองจนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของย่าน CBD อย่างสาทรซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เพียงหน้าตาภายนอก แต่เข้าไปปรับรื้อทั้งเนื้อหาโครงการ ผู้ใช้สอยและพื้นที่หลักในอาคารที่แต่เดิมออกแบบเป็นคอนโดมิเนียมหรูราคาสูงสำหรับคนมีฐานะให้แปรเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อคนหนุ่มสาววัยทำงานชน ชั้นกลางถึงล่าง จากพื้นที่ห้องขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 600 ห้องเดิมให้กลายเป็นห้องพักแบบ studio type ได้เกือบ 1,000 ห้อง ทำให้เกิดประสิทธิ์ภาพและความคุ้มค่าต่อตารางเมตรมากขึ้น ตอบโจทย์ความจำเป็นของสังคมและวิถีคนเมืองในปัจจุบันมากขึ้นโดยมีเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนในทางตั้งนี้เป็นการสร้างประสบการณ์ของถนนในย่านให้เกิดขึ้นภายในกรอบของอาคารสูงเพิ่ม

นอกจากนี้ผลงานออกแบบของทั้งคู่ยังพยายามตอบรับต่อการใช้ชีวิตวิธีใหม่เนื่องจากโรคระบาด โดยออกแบบพื้นที่ Interstitial space ที่อยู่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่เพียงใช้งานร่วมกันในสภาวะปกติ แต่สามารถปรับให้เป็นพื้นที่กันชนสร้างระยะห่างทางกายภาพของผู้ใช้ในระหว่างการกักตัวเองช่วง Lock down และมีพื้นที่สวนผักแนวตั้ง ตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนกันเองให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารสามารถพึ่งพาตัวเองและอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนยั่งยืนในระหว่างที่เกิดสภาวการณ์เช่นโควิด 19 หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ไม่คาดคิดในอนาคตไดัด้วย นับได้ว่าเป็นผลงานทางแนวความคิดที่น่าสนใจในความพยายามพลิกฟื้นคืนชีวิตให้อาคารร้างสู้วิกฤติได้อีกครั้ง

Pin It on Pinterest

Shares
Share This