เราพยายามเป็นตัวกลางที่ดี อยากจะไปเป็นคนที่รับฟังเรื่องทั้ง 2 ฝั่ง แล้วพยายามจะสรุป พยายามจะหาข้อเสนอแนะ หรือทางออกให้เป็นแนวทางที่ดีกับทุก ๆ คน สมาคมฯในยุคสมัยผมนี้ ผมอยากจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็นองค์ความรู้ร่วมกันที่จะทำให้เข้าใจว่าเหตุที่มาคืออะไร แล้วการที่จะทำให้สัมฤทธิ์ผลบางทีอาจจะต้องการความเห็นจากหลายคนมาร่วมกัน
ชนะ สัมพลัง
นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ
อาษา: ขอให้พูดถึงนโยบายของกรรมการ บริหารของสมาคมสถาปนิกในชุดปัจจุบันอีก ครั้งอย่างสั้นๆ จากที่มีสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเศษแล้ว
ชนะ สัมพลัง: สิ่งที่พวกเราให้ความใส่ใจกันมากที่สุดเลยในการบริหารงานช่วงโควิดคือการควบคุมการใช้จ่ายที่กรรมการบริหารทุกท่านจะต้องระมัดระวัง ซึ่งทุกคนก็ พยายามที่จะใช้ความสามารถของแต่ละท่านในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่เข้ามาในชวงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาครับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เราคานึงถึงกันมาก เรื่องที่สองในกรรมการบริหารเราอยากให้การทำงานของเรามีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ เรื่องการให้บริการสังคมอย่างรวดเร็วฉับไว แม้ว่าในปัจจุบันเราไม่ได้มีเงิน มากมาย เราไม่สามารถจะอยู่ๆ ก็ลุกมาทำาอะไรก็ได้ แต่ความโชคดีของคณะกรรมการชุดนี้คือมีคนมาขอให้เราช่วย ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้านป่าไม้เมืองแพร่เอง หรือ จะเป็นเรื่องการพัฒนาชุมชนเมืองที่แก่งคอยก็ตาม หรือแม้ แต่ท่าเรือสมุย ก็จะมีเอกชน มีภาครัฐ ที่มาขอให้ทางสมาคมฯ ช่วยแนะนำาวิธีการปรับแบบต่างๆให้มีคุณภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราถือว่าเป็นการบริการสังคมครับ
อาษา: เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปีแล้ว มีนโยบายอะไรบ้างที่ได้ทำไปแล้ว แล้วก็เรื่อง ไหนบ้างที่มีอุปสรรคหรือยังไม่มีความคืบหน้า
ชนะ สัมพลัง: นโยบายหลักเรื่องหนึ่งของคณะกรรมการ ชุดนี้ว่าอยากจะทำเครื่องไม้เครื่องมือให้กับสมาชิกเอาไปใช้ได้ ในการประกอบวิชาชีพ เอกสารเสนอแผนงานและค่าบริการออกแบบคือสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับสเปคที่จะอยู่ ในคู่มือสถาปนิกฉบับปรับปรุงล่าสุดก็ใกล้แล้วครับ เรื่องการศึกษาการกำหนดขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR) ในการจ้างงานออกแบบของภาครัฐ ที่เอาไว้ให้ทุกคนได้ใช้ ประโยชน์กันก็ใกล้จะสำเร็จเรียบร้อยออกมาเต็มทีแล้ว เรื่องที่ทำยังไม่สำเร็จ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง กับสถาปัตยกรรมหลักมีพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ผลงาน แสดงผลงานของแต่ละบริษัทฝ่ายโปรดักชั่นเอง ฝ่ายตรวจงาน ได้มาพูดคุยถึงความน่าสนใจของเรื่องงาน อันนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะว่ามันต้องใช้พื้นที่และการรวบรวมกลุ่มของบุคคล ซึ่งช่วงเวลายังไม่เหมาะสม เรื่องวารสารอาษาเราก็ทำก็สำเร็จไปครึ่งทางแล้ว แล้วก็รู้สึกดีใจที่จะเป็นวารสารอาษายุคใหม่จริงๆ ที่แพลตฟอร์มต่างๆ การที่ทำให้ตัวหนังสือเองมีคุณค่ามากขึ้น ค่อนข้างภูมิใจมากที่เราจะมีอาษายุคใหม่ที่เสพได้ในหลายๆมิติครับ และหลายๆวัยด้วย
สำหรับเรื่องที่เป็นปัญหาจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของงานอาษาที่ต้องลุ้นกันอย่างเต็มที่ เพราะงานอาษาเป็นงานเอ็กซ์โป ที่ต้องจัด เป็นช่วงเวลาของงานต้องเผชิญกับอุปสรรคเรื่องโควิด-19 มาตลอด ถ้าโชคร้ายเราเจอโควิดรอบที่ 3 ในช่วง นั้นมันก็จะเป็นโศกนาฏกรรมที่เราก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดก็แอบภาวนาทุกวัน อันนี้ยากที่สุด เสียใจที่สุด แต่คิดว่าอยากทำให้เมืองเรามีมูฟเมนต์ของกิจกรรมในเชิงสถาปัตยกรรมที่ดี แล้วปีนี้เป็นปีที่ตั้งใจอยากจะทำางานที่เป็นไทยๆ งานที่เป็นเชิงอนุรักษ์ให้ทุกคน ซึ่งเราจะเริ่มห่างจากงานประเภทนี้ ขึ้นเรื่อยๆ ได้รับรู้กัน
อาษา: ขอให้พูดถึงความรู้สึกในสถานะนายก สมาคมสถาปนิก ในเรื่องการเป็นตัวกลางช่วยประสานระหว่างวิชาชีพสถาปนิกกับองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ
ชนะ สัมพลัง: ครับ เราพยายามอยากเป็นตัวกลางที่ดี อยากจะไปเป็นคนที่รับฟังเรื่องทั้ง 2 ฝั่งแล้วพยายามจะสรุปพยายามจะหาข้อเสนอแนะ หรือทางออกให้เป็นแนวทางที่ดี กับทุกๆ คน เพราะว่าในหลายๆครั้งจริงๆ แล้วผมมีความเชื่ออย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอะไรก็ตาม แล้วก็สมาชิกเองก็ตามที่มีทั้งความพอใจ ไม่พอใจ องค์กรรัฐหรือองค์กร ของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกกฎระเบียบอะไรออกมาแล้ว สมาชิกอาจจะรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ จริงๆ ผมจะพยายามทำความเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง แล้วก็ทำให้ทั้ง 2 ฝั่งหันหน้ามาคุยกัน ได้โดยที่สมาคมฯเป็นตัวกลาง สมาคมสถาปนิกพยายามจะไม่เลือกเข้าข้างฝั่งไหนฝั่งหนึ่งเพราะเชื่อว่าทั้ง 2 ฝั่ง มีเจตนาดีทั้งคู่ ที่จะเริ่มริเริ่มอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่อาจจะมีข้อบกพร่อง หรืออาจจะมีข้อที่ไม่สะดวกใจของอีกฝั่งหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ องค์กรรัฐเอง เรื่องของสภาสถาปนิกเอง เรื่องของสมาชิกเอง ที่อาจจะเกิด ความไม่เข้าใจกัน
สมาคมฯในยุคสมัยผมนี้ ผมอยากจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ที่จะทำให้เข้าใจว่าเหตุที่มาคืออะไร แล้วการที่จะทำให้สัมฤทธิ์ผลบางทีอาจจะต้องการความเห็นจากหลายคนมาร่วมกัน แล้วก็เราก็วางแนวทางขึ้นมาคือบทบาทที่สมาคมสถาปนิกทำมาโดยตลอด ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องที่แพร่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทางฝ่ายรัฐเอง เขาก็เชื่อว่าวิธีที่เขาทำเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว ขณะที่ภาคของฝ่ายอนุรักษ์เองก็เชื่อว่าไม่ถูกต้อง แล้วผมเองจะไปเป็นคนที่ประสานทั้ง 2 ฝั่งให้หยุดคิดแล้วก็ค่อยๆ คุยกัน แม้แต่เหตุการณ์ปัจจุบันล่าสุด เรื่องของการประกาศรับรองใบประกอบ วิชาชีพของสถาปนิกเองที่เป็นเรื่องที่สมาชิกทุกคนก็จะรู้สึกเดือดร้อน รู้สึกไม่พอใจ ในขณะคนที่ออกกฎมาก็ไม่สามารถที่จะอธิบายสิ่งที่ออกเป็นกฎนั้นมาได้ ผมเป็นนายกสมาคมสถาปนิก ผมก็อยากทำให้เห็นว่าเหตุผลที่ออกกฎมาคืออะไร แนะนำวิธีการให้มันดำเนินไปสู่จุดประสงค์นั้น อันนี้ก็ พยายามอยากจะเป็นคนๆนั้นที่จะเล่าทุกอย่างให้ทั้ง 2 ฝั่งเข้าใจ ไม่ อยากทำให้เกิดกระแสการตีโต้กัน บทบาทการเป็นตัวเชื่อมน่าจะเป็น อีกเรื่องหนึ่งที่หนักใจครับ
อาษา: ตอนนี้สมาคมสถาปนิกสยามมีการทำงานร่วมกับ สภาสถาปนิก ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับวิชาชีพเดียวกัน อย่างไรบ้าง
ชนะ สัมพลัง: ตอนนี้เริ่มมีการคุยกันว่าเราจะร่วมทำกิจกรรมหลายๆอย่างด้วยกัน เช่น เวลาที่จัดงานอาษา เราก็คงจะเชิญทางสภาสถาปนิกจัดร่วมกันด้วย ถ้าเป็นไปได้ในทุกสมัยก็อาจจะมีพื้นที่ที่เราได้ทำงานร่วมกัน ถ้าเกิดขึ้นเราคงจะได้เห็นภาพที่เปลี่ยนไปในอนาคตนะครับ เรื่องที่สองคือ เมื่อก่อนนี้ถ้าใครสอบใบวิชาชีพได้ ก็จะได้ลงทะเบียนของ สภาสถาปนิกใช่ไหมครับ เราก็เลยคุยกันว่าโต๊ะข้างๆกันก็วางของสมาคมสถาปนิกไปด้วยเลย เพราะฉะนั้นสมาคมและสภาสถาปนิกก็จะสื่อสารถึงความสำคัญของทั้ง 2 องค์กรไปพร้อมกัน คนที่มาสมัครสภาสถาปนิกก็จะได้เป็นสมาชิกของสมาคมด้วย จะได้ไม่ลำบากสมาชิกต้องนั่งรถหรือขับรถกันมาที่สมาคมสถาปนิกอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้สมาชิกภาพมันก็จะคู่ขนานกันไป
อาษา: ตอนนี้สถานการณ์ โรคระบาดเริ่มกลับเข้ามา สมาคมสถาปนิกมีแผนงานสำหรับกิจกรรมใหญ่ๆ เช่น งานสถาปนิกอย่างไร ถ้าเกิดสถานการณ์โรคระบาดกลับมาหนักอีก
ชนะ สัมพลัง: ช่วงระหว่างที่วัคซีนยังไม่แอ็กทิฟ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กังวล แล้วก็ในงานอาษา “Refocusing the Heritage” เดิมที่จะเกิดขึ้นเดือน มิถุนายนนี้ คงต้องรอว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าเดอะโชว์มัสต์โกออน เพราะ ฉะนั้นยังไงก็ต้องเกิด แล้วเราก็แค่ทำให้ดีที่สุดในเวลาที่เหมาะสม โดยที่เราไม่เป็นผู้ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อด้วย ตรงนี้มาตรการต่างๆ ก็ต้องถูกวาง อย่างรัดกุมเลยครับในการเข้าไปชมงาน อาจจะเป็นการชมงานเวอร์ชวลด้วย การชมงานเชิงเฟซทูเฟซด้วย เดินได้แต่ต้องควบคุมคน แล้วก็มีมาตรการระมัดระวังสูง ก็หวังว่าคงคลี่คลายอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าครับ
สิ่งที่อยากจะเชิญชวนและอยากจะให้ทุกคนมาร่วมกันก็คือว่าถ้าใครมีความคิดเห็นอะไรดีๆ ก็อยากให้ช่วยเสนอหรือแนะนำเข้ามาที่สมาคมฯ หรือส่งข้อมูลมาให้กับทีมวารสารอาษาของเราจะเป็นสิ่งที่ดีมาก
อาษา: มีกิจกรรมอะไรที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก หรือสถาปนิกได้ติดตามในงานบ้าง
ชนะ สัมพลัง: ระหว่างนี้กำลังจะมีกิจกรรมระยะยาวอันหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ที่งานสถาปนิกนะครับ ก็จะมีบรรยายบางส่วนที่เกี่ยวกับงานวิชาการ แล้วก็บางส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพ แต่ในระหว่างทาง เราก็จะมีดินเนอร์ทอล์กเกิดขึ้น เป็นอีเวนต์สั้นๆ เชิญสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเรื่องบ้าน เรื่องคอมเมอร์เชียลและอื่นๆ สลับสับเปลี่ยน กันมาพูดคุยกันในลักษณะที่ไม่ได้มีแค่การบรรยาย แต่จะเป็นการสนทนากัน โต้ตอบ แล้วก็เป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะว่าเราก็อยากให้เป็นกลุ่มที่คนมา ฟังกล้าสื่อสารกันได้ พยายามอยากจะทำให้มันเกิดเป็นอีกมิติหนึ่งของการบรรยายนะครับ ก็จะเกิดเป็นทอล์กแนวนี้ หรือมีการรวมกลุ่มคนที่เป็น ช่างภาพสถาปัตยกรรมด้วย กลุ่มอื่นๆ ด้วยนะครับ ซึ่งจะไลน์อัพกันเข้ามาเป็นช่วงเย็นๆ ของแต่ละสัปดาห์ในวันศุกร์ครับ ทางผู้จัดคงจะเริ่มโปรโมต แล้วก็จะสอดคล้องไปกับวารสารอาษาด้วยครับ ทำให้หนังสือมีชีวิตขึ้น ปกติหนังสือเราก็จะจบแค่คอลัมน์ มีภาพลง แล้วก็มีบทความที่ถูกขัดเกลามาอย่างดี แต่ถ้ามีโอกาสได้สื่อสาร มันก็จะมีกิจกรรมเกิดขึ้น แล้วก็ ดึงให้คนสนใจวารสารมากขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าเวลาคนได้แรงบันดาลใจ จากผู้พูดมาสู่ผู้ฟัง มันมีคุณค่ามาก งานสันทนาการใหม่ของสมาคมฯที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น คืองาน ASA DAY HEY! ซึ่งทางคณะทำงานได้มีการวางแผนและจัดเตรียมความพร้อมไว้เกือบ 100% แล้ว แต่ติดช่วงโควิดจึงทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานออกไป รวมถึงงาน ASA RUN และ ASA FOOTBALL ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยม ของสมาชิกอีกด้วย และมีนิทรรศการเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 17 จัดแสดง ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 21 พฤศจิกายน 2564 ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี และอีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการจัดแสดงที่ วัดป่า อาเจียง จ.สุรินทร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน
อาษา: มีงานอะไรอีกบ้างที่ตอนนี้ท่านนายกสมาคมแล้วก็ คณะกรรมการบริหารอยากทำ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำหรือมองไปถึงในอนาคต สิ่งที่อยากส่งต่อไปสู่กรรมการบริหารสมัยถัดไป
ชนะ สัมพลัง: เรื่องหนึ่งที่อยากทำ และอยากฝากทีมงานวารสารอาษา ชุดใหม่นี้แหละทำพอดแคสต์ ผมชอบฟังมาก บางทีพอดแคสต์อาจจะไม่ ต้องลงหนังสือก็ได้ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนได้ฟังทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย แล้วตอนนี้พวกน้องๆ พวกผมเอง ก็ชอบแอบฟังเวลาทำงาน ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเชิญอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านมาพูดเรื่องหนังสือที่ เพิ่งแปลเสร็จใหม่ๆ ฟังอะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันไม่ต้อง ใช้วิธีพูดคุยกัน สิ่งที่พูดมันจะย่อยง่ายกว่าการอ่านหนังสืออะไรครับ เพราะ ฉะนั้นมันอาจจะมีได้หลายๆ ทาง เป็นอาจจะเป็นเรื่องวิชาชีพก็ได้ หรือ จะเป็นการวิจารณ์หนังสือก็ได้ หรือแม้แต่เรื่องที่ครอบคลุมทุกกรรมการวิชาชีพเลยครับ ให้กับกรรมการบริหารของสมาคม เพราะตอนนี้จริงๆ
เนื้อหาของงานที่ที่พวกเราทำกันอยู่ในการช่วยเหลือสังคม มันก็มีแล้วส่วนหนึ่ง แต่บางทีมันไม่มีพื้นที่ให้มาเล่าสู่กันฟัง อย่างเช่นผมไปเจอเรื่องโรงเรียนที่จะมีการปรับปรุงใหญ่ทั้ง ประเทศนี่นะครับ ก็ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟังหรือแม้แต่เรื่องท่าเรือสมุย อย่างเช่นว่าเรามีความเห็นยังไง ก็ไม่มีโอกาสเล่า พอดแคสต์มันจะเป็นสิ่งที่ไปอัปเดตแล้วก็เราคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ครับ
อาษา: สมาคมมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมมากกว่าเดิม เพราะ ว่ามีความเห็นจากสถาปนิกหลายๆ คนว่าทุกวัน นี้สถาปนิกรุ่นใหม่มาร่วมกิจกรรมกับสมาคม น้อยลง
ชนะ สัมพลัง: จริงๆ แล้วตอนนี้น่าจะเปลี่ยนไปแล้วนะ กรรมการในยุคสมัยผมนี่มีแต่เด็กจนคิดว่าต้องหาผู้ใหญ่มาเติมแล้ว ทุกคนจะกระเจิดกระเจิงกันหมดเวลาเจอปัญหา ใหญ่ๆ ซึ่งก็ดีที่ว่ามีกรรมการวัย 50 หลายคนและมีที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ผมว่าตอนนี้กรรมการบริหารหลาย ท่านอยู่ประมาณ 30-40 ต้นๆ ในขณะเดียวกันความที่เขา อยู่ประมาณ 30 ต้นๆ นี้ ก็มีไฟในการทำงานสูง มีพลังงานมาก แต่ถามว่าผมก็ยังอยากได้อีก หลายๆ ครั้งก็จะเชิญชวน ทุกคนเลยว่า พอเวลาเกิดเหตุอะไรก็ตามที่ต้องการความ ช่วยเหลือ อย่างเช่น งาน ASA WOW ที่เราต้องการภาพของ คนรุ่นใหม่ว่าเขาเห็น ASA WOW เมื่อเราบรีฟแล้ว เห็น ASA WOW หน้าตาเป็นยังไง จึงมีเรียกเชิญเขามาช่วยกันดีไซน์ครับ แล้วก็เชิญน้องๆ รุ่นใหม่มาหมดเลย ประมาณ 30 กว่าบริษัท เขาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมานั่งฟัง แล้วก็ได้รู้ว่าใครจะสามารถช่วยอะไรตรงไหนได้บ้างเท่าไหร่นะครับ ก็จะได้เชิญคนที่สนใจทำากิจกรรม ยังเติร์กทั้งหลายมาทำงานร่วมกัน คราวนี้น่าจะเริ่มดีแล้ว แล้วก็หวังว่าในอนาคตนายกสมาคมฯก็จะอายุน้อยลงเรื่อยๆ นั่นคือความหวังของผม เดี๋ยวถ้าคนถัดมาจากผมน่าจะอายุน้อยกว่าผมอีก แล้วก็ชวนเด็กๆ ได้มากขึ้น แต่ว่าก็เราจะไม่ทิ้งพี่ๆเพราะพี่ๆ คือแบ็กอัพที่ดี อย่างผมก็จะเป็นตัวกลางของคนรุ่นพี่ๆ ผู้ใหญ่ๆแล้ว ผมก็เป็นรอยต่อของเด็กๆได้ ซึ่ง ณ วันนี้มันก็ขยับเป็นการ ผสมผสานที่ดี แล้วก็อยากให้ยังเป็นอยู่ต่อไปในอนาคต
อาษา: อยากฝากอะไรไปถึงสมาชิกสมาคม ผ่านทางวารสารอาษาเพิ่มเติมบ้างหรือไม่
ชชนะ สัมพลัง: อยากให้วารสารอาษาที่ทุกคนอาจจะได้ถืออยู่ในมือนี้ เป็นสิ่งที่เราจะไม่โยนทิ้ง เพราะว่าเราอยากจะทำให้ วารสารนี้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้อ้างอิงได้ ในอนาคตหรืออะไรก็แล้วแต่สิ่งที่อยู่ในวารสารอาษา มันจะมีคุณค่าแล้วมันก็จะมีคุณค่าให้กับการยกระดับให้สมาชิกองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความจะเป็นงานออกแบบ หรือว่าจะเป็น สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสถาปนิกไทย ซึ่งเราได้ร่วมกับ art4d ในการทำให้วารสารอาษาวันนี้เปลี่ยนเป็น แพลตฟอร์มให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าได้คงอยู่ต่อไป และได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิก ไม่ว่าจะในเชิงของการรับ-ส่งข้อมูล ก็อยากจะให้ช่วยๆด้วยกัน แล้วก็สนับสนุนวารสารอาษาให้คงอยู่ต่อไปครับ เราเชื่อว่าวารสารอาษาคือบันทึกเรื่องราวความเป็นสถาปนิกไทย สถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สิ่งที่อยากจะเชิญชวนและอยากจะให้ทุกคนมาร่วมกัน ก็คือ ว่าถ้าใครมีความคิดเห็นอะไรดีๆ อยากให้ช่วยเสนอหรือ แนะนำเข้ามาที่สมาคมหรือส่งข้อมูลมาให้กับทีมวารสาร อาษาของเรา จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ณ วันนี้ ในจุดเริ่มแรก ก็ต้อง บอกว่าเป็นความคิดของผมคนเดียว อยากให้วารสารอาษา เป็นความคิดของหลายๆ คน แม้แต่ในกรรมการที่ถูกแต่งตั้ง มาเพื่อสร้างความเป็นวารสารอาษาเอง ผมก็พยายามให้เป็น น้องๆบวกกับพี่ๆ ว่าเขาอยากเห็นทิศทางของหนังสือเป็นอย่างไร เราอยากได้ความคิดจากทุกๆ คนว่าเห็นวารสารอาษาเป็นยังไง ผมว่านี่จะเป็นสิ่งที่ดีมากครับ
อ่านบทความคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 01 The ComfortZone คลิกได้ที่นี่