ASA EXPO 2020 นิทรรศการเครือข่ายมรดก การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต้องมาจากการมีส่วนร่วม

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: เครดิตตามภาพ

เรื่องของการจัดการคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม ที่มีงานสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งนั้น ไม่ได้มีเพียงสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังมีอีกหลายหลายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกที่มาจากความร่วมมือและบริบทที่แตกต่างกันไป

ในงานสถาปนิก’63 ครั้งนี้ จะมีการนำเสนอเรื่องราวของนิทรรศการเครือข่ายมรดก การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต้องมาจากการมีส่วนร่วม โดย ผศ.ปริญญา ชูแก้ว จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ฝากผลงานเกี่ยวกับการวิจัยย่านเมืองเก่าหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการวิจัยการสำรวจย่านการค้าเก่าในเขตเทศบาลตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โครงการแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมแบบการมีส่วนร่วม กรณีศึกษา กลุ่มอาคารบนถนนวานิชบำรุง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร รวมถึงการเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเพิ่งได้มีการนำเสนอต่อสาธารณะชนมาแล้ว ในวันที่ 28 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์​ 2563 ณ โถงชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในชื่อของ นิทรรศการและเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่โครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า

Photo by Bao Menglong on Unsplash

ว่าด้วยเรื่องเมืองเก่า

เมืองที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่เมืองเก่าทั่วประเทศนั้นมีด้วยกันทั้งหมด 31 เมือง และหากรวมพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ด้วยก็จะกลายเป็น 32 เมือง โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เมืองเก่า คือ เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษสืบต่อมาและมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือคุณค่าในทางศิลปะโบราณคดีหรือทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลักฐานทางกายภาพและเป็นเมืองที่ยังมีชีวิตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าภาคภูมิใจของชุมชนรวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของประเทศ “ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียง 2 เมืองเท่านั้นที่ทำแผนแม่บทเมืองเก่าและประกาศใช้แล้ว นั่นคือน่านกับลำพูน แปลว่าอีก 29 เมืองอยู่ในระหว่างทำแผนและประกาศใช้ แผนแม่บทจะมีเรื่องหลักๆ อยู่ 4 เรื่อง หนึ่งคือการทำงานรวมกัน ของนักวิชาการคนเดียว ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน สอง ระบุให้ได้ว่าเมืองเก่านั้นมีของดีอะไร สถาปัตยกรรม สังคม ประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกินต้องระบุออกมาให้ชัดเจน สาม จัดทำเป็นเอกสารออกมา สิ่งที่ไปเจอคืออะไร พอได้เอกสารมาแล้ว สี่ก็คือ ต้องบอกว่าเราจะทำยังไงกับเมืองนี้เพื่อรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ ยอมให้เกิดการพัฒนายังไงเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่มีอยู่” ผศ.ปริญญา ชูแก้ว อธิบายความหมายของแผนแม่บทให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าแท้จริงแล้วมันคือ การออกแบบแนวทางให้คนในเมืองเห็นภาพว่าจะต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร เพื่อคงคุณค่าที่พวกเขาเห็นร่วมกันไว้ต่อไป

Photo by Bao Menglong on Unsplash

ความท้าทายของการทำงาน

“การทำงานที่ผ่านมาค่อนข้างยากลำบากในแง่ของการดำเนินงาน เนื่องจากกระบวนการทำงานขึ้นอยู่กับการตีโจทย์ของแต่ละทีม อาจจะมีลักษณะคล้ายหรือแตกต่างกันบ้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในเมืองนั้น กับหัวหน้าโครงการ สิ่งที่เราคิดว่ามันควรจะง่ายแต่ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเต็มไปด้วยระบบระเบียบเต็มไปหมด แต่ข้อดีคือมันทำให้เรามีข้อมูลชุดหนึ่งของแต่ละเมืองขึ้นมา ทำให้คนในเมืองรู้ว่าบ้านเขามีสิ่งนี้อยู่” 

ผศ.ปริญญา ชูแก้วเสริมว่า การทำแผนแม่บทเมืองเก่าที่ควรจะเป็นนั้นควรมีระยะเวลาในการดำเนินการที่เหมาะสมอยู่ที่ราว 2 ปี และงบประมาณอย่างต่ำ 10 ล้านบาท “คุณต้องสำรวจสิ่งที่อยู่ในเมืองแค่สถาปัตยกรรมอย่างเดียว คุณต้องสำรวจทุกหลังเลยนะ ที่ผมลงพื้นที่ไปย่านเมืองเก่าภูเก็ต 2.76 ตารางกิโลเมตร แต่มีบ้านหลังเล็กหลังน้อยในซอกหลืบที่ไม่เคยออกสื่อเต็มไปหมด หรือประเพณีวัฒนธรรมที่ไม่เคยออกสื่อ แต่ชาวบ้านอยากรักษาไว้ เพราะแผนแม่บทควรจะต้องเป็นแผนที่พูดถึงแนวทางที่ชัดเจน  ไม่ควรจะเป็นแผนที่ประกอบด้วยโครงการเล็กโครงการน้อยเต็มไปหมด หลายครั้งเรามักมุ่งไปที่โครงการทางกายภาพ ถ้าเราตีโจทย์ให้กลายเป็นโครงการหมด คนที่จะชีช้ำคือคนอยู่ในเมือง” 

ภาพจากกิจกรรมตรุษจีนย้อนอดีตเมืองภูเก็ต

ความท้าทายของนิทรรศการ

“พื้นที่ที่ทางเราได้มาค่อนข้างจำกัดมาก ความยากของนิทรรศการคือเราจะย่อเรื่องราวของเครือข่ายทั้งหมดลงไปคงไม่ได้ คงทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เนื้อหาพวกนี้มันส่งไปที่ สผ. อยู่แล้ว ถ้าอยากอ่านจริงๆ ก็เข้า QR Code อ่านได้ โดยหลักการจริงๆ ของการจัดนิทรรศการคนจะไม่ไปอ่านหรอก จะทำยังไงให้คนเห็นว่ามันมีแผนเรื่องเมืองเก่าอยู่นะ และทุกคนสามารถไปศึกษาด้วยตัวเองได้ หากมีความสนใจสิ่งนี้ขึ้นมาจะรู้ว่าคุณติดต่อใครได้บ้าง” นิทรรศการเครือข่ายมรดก การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต้องมาจากการมีส่วนร่วม จึงน่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เล่าเรื่องราวใหญ่ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของผู้ชมอีกมากมายมากกว่าจะบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นลงไปในนั้น

นิทรรศการและเสวนา “เล่าเรื่องผ่านเมืองเก่า”

เครือข่ายอนุรักษ์

“เหตุผลที่ผมยังทำงานแบบนี้อยู่ก็เพราะผมไม่ได้ทำคนเดียวไง ถ้ามองว่าคุณทำเพราะมันสนุก ทำกับพี่กับน้อง ได้สอนลูกศิษย์ เขาไปพัฒนาบ้านตัวเอง โดยมีโครงการของเราเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงาน หรือคนที่มาดูงานเราอาจจะเห็นแล้วอยากทำที่บ้านเขาบ้างก็ได้ เราทำเองหมดไม่ได้หรอก เลือกที่ที่เราสนุกกับมันที่สุดดีกว่า”

ผศ.ปริญญา ชูแก้วเน้นย้ำว่าไม่ได้มีเพียงแค่นักวิชาการเท่านั้นที่ทำงานเรื่องเมืองเก่า เพราะยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกมากมายที่ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ของสถาปนิกล้านนา งานของมูลนิธิวทัญญู ณ ถลาง อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่มีผลงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกมากมาย ทั้งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกรรมาธิการอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ อีกด้วย ผลงานของกรมศิลปากรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของโบราณสถาน การทำงานสนับสนุนด้านวิชาการการอนุรักษ์ขององค์กรในระดับสากล ได้แก่ ยูเนสโกกรุงเทพฯ และสมาคมอิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) 

ความร่วมมือกันขององค์กรในภาครัฐและภาคเอกชนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น แผนการจัดการเมืองเก่าของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำเสนอโดยสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) ความร่วมมือกันในการผลักดันเพื่อนำเสนอเมืองเชียงใหม่ และเมืองเก่าสงขลา เข้าสู่การเป็นมรดกโลก หรือโครงการที่โรงซ่อมรถไฟมักกะสันด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนและการรถไฟแห่งประเทศไทยเจ้าของพื้นที่ ไปจนถึงภาคเอกชนอย่าง บ้านปาร์คนายเลิศ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ และธนาคารเกียรตินาคิน

เพราะเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

Photo by Artyom PJ on Unsplash

Pin It on Pinterest

Shares
Share This