ASA EXPO 2020: Special Interview นิทรรศการวิกฤตมรดก

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: เครดิตตามภาพ

ขึ้นชื่อว่า ‘มรดก’ นั้นย่อมมีนิยามหมายรวมถึง การเป็นสิ่งที่มีคุณค่า คู่ควรแก่การเก็บรักษาไว้ แต่บางครั้งบางหน เมื่อได้รับมรดกมาแล้วก็มักมีปัญหาชวนปวดหัวอีกมากมายตามมาด้วยเสมอ เพราะสิ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้นล้วนต้องการการบริหารจัดการแบบพิเศษกว่า ทะนุถนอมกว่า จริงจังตั้งใจมากกว่า และแน่นอนว่าใช้ทรัพยากรมหาศาลในการดูแล

ในงานสถาปนิก’63 ครั้งนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับนิทรรศการ ‘วิกฤตมรดก’ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย อาจารย์พิเชฐ ธิถา จากภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหยิบเอาเรื่องราวที่เคยสร้างความปั่นป่วนบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นปรากฏการณ์ด้านการรับรู้เกี่ยวกับโบราณสถาน อาคารอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม มาขยายความให้รอบด้าน เพื่อให้ภาคประชาชนอย่างเราทุกคนได้มองเห็นหลากหลายแง่มุมอย่างเปิดกว้าง​ รอบด้าน​และตระหนักถึงบทบาทสำคัญ​ของทุกคนในการแก้วิกฤติ​มรดกร่วมกันต่อไป นอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย 

ASA CREW: จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ

ผมเองเคยทำงานร่วมกับคุณวทัญญู เทพหัตถี รองประธานจัดงานสถาปนิก’63 มาก่อน รู้สึกชอบและสนุกกับประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ต่างๆ และงานด้านอนุรักษ์อาคารอยู่แล้วเป็นทุนเดิม  คุณวทัญญูเห็นว่าเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตมรดกเหล่านี้เป็นประโยชน์จึงได้ชักชวน ให้มาร่วมดูแลนิทรรศการในครั้งนี้ โดยคณะทำงานฝ่ายค้นคว้าข้อมูลเนื้อหาจะมีผม และ คุณหฤษฎ ถาวรกิจ เป็นผู้ช่วยสืบค้น และมีคุณวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์  คุณสุรยุทธ วิริยะดำรง เป็นผู้ให้คำปรึกษาตลอดจนแนะนำประเด็นที่น่าสนใจในการนำเสนอ

โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม Photo by Kiril Dobrev on Unsplash

ASA CREW: นิยามของคำว่าวิกฤตมรดกคืออะไร

มรดก ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่มนุษย์หรือธรรมชาติสร้างขึ้น โดยเป็นประจักษ์พยานที่สะท้อนคุณค่าในด้านต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งคำว่า “วิกฤตมรดก” นี้ ผมมองว่าเป็นเหตุการณ์ของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับสถานที่เหล่านั้น และแน่นอนว่าผลลัพธ์ส่วนใหญ่มันเป็นไปในด้านลบ โดยมีลักษณะของการรุกล้ำ รื้อถอน บูรณะ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งกายภาพและแนวความคิด ที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การทำให้เสื่อมค่า หรือทำลายความเป็นของแท้ดั้งเดิม ทำให้ภูมิทัศน์ด้านสังคมวัฒนธรรม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแย่ลงไปด้วย

Kusonsiri Jitpong (Amin Baba)

ASA CREW:  ทำไมจึงต้องเป็น 10 วิกฤตมรดกที่เคยเป็นกระแสในโลกออนไลน์ 

จากการสังเกตเวลาที่มีข่าวการรื้อ การทุบ การทำลาย สถาปัตยกรรม โบราณสถานอะไรสักอย่าง จะมี  “ชาวเน็ต” ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา บ้างครั้งก็แสดงความคิดเห็นแบบมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมอย่างร้อนแรง  ซึ่งทำให้เรารับรู้ว่ายังมีคนที่รู้สึกหวงแหนและอยากพิทักษ์รักษามรดกที่มีคุณค่าเหล่านั้นไว้ และมีการแสดงทรรศนะจากผู้ใช้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงมีความน่าสนใจที่ว่าแต่ละฝ่ายนั้นได้รับข้อมูลอะไร เลือกที่จะเชื่อและแสดงความคิดเห็นอย่างไร และบางกรณีก็มีการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่ชาวเน็ตช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ที่กำลังจะแย่ ให้ดีขึ้น เพราะเมื่อใดที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ ก็จะเป็นที่สนใจของสังคมและส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งต้องออกมาชี้แจงหรือระงับการดำเนินการเหล่านั้น  

ในยุคสมัยนี้ที่ทุกคนมีเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่าย เกิดเป็นสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้งานค่อนข้างมีอิสระในการเลือกรับฟังข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการใช้อุปกรณ์เหล่านี้สะดวก สามารถกดส่งและแสดงผลได้รวดเร็ว อาจจะทำให้หลายคนขาดการวิเคราะห์ ไตร่ตรองถึงข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้น ทางคณะทำงานจึงอยากนำเรื่องราวเหล่านี้ มานำเสนอข้อเท็จจริงให้เห็นอย่างรอบด้าน

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม Photo by Waranont (Joe) on Unsplash

ASA CREW: ที่ผ่านมามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย คณะทำงานใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเรื่องราวที่จะมาแสดงในนิทรรศการ

ในเบื้องต้นทางคุณวสุ โปษยะนันทน์ และคุณวทัญญู เทพหัตถี จะแนะนำเรื่องราวในหัวข้อต่างๆ มาจากข่าวที่เป็นกระแส ในมุมมองของผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านมรดกและงานอนุรักษ์ จากนั้นคณะทำงานก็ไปค้นข้อมูลตามสื่อออนไลน์ แหล่งข่าว กระทู้ดราม่าทั้งหลายที่เป็นประเด็นเกิดขึ้นในสังคม โดยเราจะเลือกหัวข้อที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจในวงกว้าง พิจารณาจากจำนวนคอมเมนต์ที่และความร้อนแรงของการถกเถียง นับย้อนหลังไปน่าจะไม่เกินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เน้นช่องทางหลักคือ Facebook เนื่องจากทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและได้รับความนิยม เป็นเหมือนสภากาแฟออนไลน์ขนาดใหญ่รองลงมาคือการถกเถียง วิเคราะห์ วิพากษ์ กันตามเว็บไซต์ต่างๆ 

Photo by Waranont (Joe) on Unsplash

ASA CREW: กระบวนการทำงานของนิทรรศการวิกฤตมรดกเป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นจากการที่คณะทำงานได้รับหัวข้อเบื้องต้น และพิจารณาดูจากกระแสความร้อนแรงของข่าวในสังคมออนไลน์ เราใช้เวลาค่อยๆ ศึกษาทีละหัวข้อ โดยการสืบค้นและตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านั้น เช่น

1) ที่มาที่ไป สาเหตุที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์  เราดราม่ากันเรื่องอะไร ใครเป็นคนเริ่ม 

2) ความคิดเห็น กระแสการคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แบ่งออกเป็นกี่ฝ่ายเห็นด้วยหรือเห็นต่าง แต่ะฝ่ายมีความเห็นอย่างไร ใช้ข้อมูลหรือแนวคิดแบบไหนประกอบก่อนที่เขาจะแสดงความคิดเห็น หรือเป็นชาวเน็ตประเภทตามน้ำ วิจารณ์ไว้ก่อนผิดถูกค่อยว่ากัน

3) ข้อเท็จจริง ในขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะในสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่มักจะแสดงความคิดเห็นโต้ตอบแบบฉับพลันอาจจะมีวิเคราะห์บ้าง แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะค้นคว้าข้อเท็จจริงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะมันเป็นกระบวนการที่ใช้ขั้นตอนและการประมวลผล ปะติดปะต่อ ซึ่งกว่าจะสืบสาวราวเรื่องได้ เพียงข้ามคืน หรือไม่กี่ัวันกระแสก็หมดไป แยกย้ายกันไปดราม่ากันเรื่องใหม่ ซึ่งทางคณะทำงานก็ได้พยายามติดตามหาข้อเท็จจริง ทั้งจากสื่อออนไลน์ แหล่งข่าว และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องว่าตกลงที่มาที่ไป ลำดับเหตุการณ์และข้อสรุปของเรื่องราวนั้นๆ เป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณหลายท่าน เช่น คุณบวรเวท รุ่งรุจี (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร), คุณมาลีภรณ์ คุ้มเกษม (หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมศิลปากร), คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ, คุณสันติ โอภาสปกรณ์กิจ (ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Tree) และทุกท่านที่ได้กรุณาอนุเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

4) บทเรียนจากเหตุการณ์ ถ้าจะเปรียบเทียบกระแสข่าวดราม่าเป็นคำถาม ข้อเท็จจริงจะทำหน้าที่เป็นคำตอบ ซึ่งเราก็จะมาสรุปและไล่เรียงกันอีกครั้ง เมื่อจบประเด็นนั้นก็จะมีคำถามบางอย่างที่ฉุกคิดขึ้นมาในใจ และจะนำเสนอเป็นปลายเปิดไว้ให้ผู้ชมนิทรรศการตัดสินใจกันเอาเอง เราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สื่อสารข้อเท็จจริง

หลังจากนั้นก็จะเป็นการสรุปให้เป็นชุดข้อมูลที่มีรูปแบบเหมือนกันทั้ง 10 เรื่อง จากประเด็นวิธีการทำงานในข้างต้น หารือกับฝ่ายออกแบบนิทรรศการเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอ รูปแบบที่จะดึงดูดความสนใจ ภาพประกอบ พื้นที่แสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชม ฯลฯ จากนั้นคณะทำงานก็จะส่งเนื้อหาต่อไปให้ฝ่ายผลิตและติดตั้งนิทรรศการดูแลต่อ

Photo by Kusonsiri Jitpong (Amin Baba)

ASA CREW: ความท้าทายของการจัดทำนิทรรศการนี้คืออะไร

การค้นคว้าข้อมูลนิทรรศการในครั้งนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเรารับหน้าที่เป็นนักข่าวแล้วก็เป็นนักสืบด้วยความท้าทายแรกอยู่ที่การเสาะหาข้อมูล ว่าเราจะรวบรวมประเด็นหรือกระแสการวิพากษ์วิจารณ์มาได้มากน้อยแค่ไหน จะหยิบอะไรมาเล่า จึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชมนิทรรศการ ความท้าทายต่อมาคือได้ข้อมูลมาแล้ว จะนำเสนออย่างไร เพราะอาจส่งผลกระทบผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เราต้องวางตัวเป็นกลางและเป็นเพียงผู้สื่อสารข้อเท็จจริง เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการชี้นำ หรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

Photo by Sebastian Pichler on Unsplash

ASA CREW: สิ่งที่เรียนรู้จากการได้เป็นคณะทำงานนิทรรศการวิกฤตมรดก

ได้เห็นว่าพื้นที่แสดงความคิดเห็นสาธารณะบนโลกออนไลน์ เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ลักษณะนิสัยใจคอ พื้นฐานความรู้ความเข้าใจของประชาชนในสังคมได้ดีมาก เพราะมีความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกเพศ ทุกวัย สะท้อนให้เห็นว่าคนต่างวัยอาจมีรูปแบบความคิดไม่เหมือนกัน หรือผู้ที่ได้ประโยชน์เห็นต่างจากผู้ที่เสียประโยชน์อย่างไรบ้าง 

ได้เรียนรู้ถึงพลังของโซเชียลมีเดีย ว่าในบางครั้งก็นำมาซึ่งความสามัคคีและช่วยเหลือโบราณสถานให้อยู่รอดได้ และในบางครั้งก็อาจจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนความไม่ชอบธรรม อาจจะเข้าข่ายพวกมากลากไปแบบไม่รู้ตัว จากที่ได้อ่านความคิดเห็นของหลายฝ่าย เมื่อมีประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราฝึกการแยกแยะได้ดี ได้ฉุกคิดก่อนว่าเรื่องที่พูดกันนั้น จริงหรือไม่จริง ถ้าจริงแล้วเป็นอย่างไร ไม่จริงแล้วเป็นอย่างไร

Kusonsiri Jitpong (Amin Baba)

ASA CREW: สิ่งที่อยากบอกกับผู้เข้าชมนิทรรศการ

อยากให้ลองเปิดใจกับความคิดเห็นต่างๆที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอในนิทรรศการนี้ เราอาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากกระแสที่เกิดขึ้น ในสังคมออนไลน์เราอาจจะยึดถือความคิดเห็นของเราเป็นหลักและอาจจะทุ่มเถียง โต้แย้ง ความคิดเห็นของฉันดีกว่า ทำได้จริงกว่า หรืออะไรก็แล้วแต่ อยากให้ผู้ชมรับฟังข้อคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามบ้าง และนำมาประมวลกับข้อเท็จจริง จากนั้นลองตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเรายังคิดแบบเดิมไหม หรือมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เราคาดหวังให้ผู้ชมรับรู้ข้อเท็จจริงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเชิงกฎหมาย กระบวนการต่างๆ หรือเงื่อนไขที่ทำให้รับรู้ว่าคุณสามารถพิทักษ์รักษามรดกเหล่านั้น ช่วยกันดูแลสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ไว้ได้อย่างไรบ้าง หรือจริงๆ แล้วคุณไม่มีสิทธิ์ ประชาชนจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งในอนาคตจะส่งผลดีในการช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มรดกเหล่านี้เสื่อมค่า หรืออย่างน้อยที่สุดช่วยชะลอก็ยังดี

Photo by Ryan Tang on Unsplash

Pin It on Pinterest

Shares
Share This