ASA EXPO 2020: Refocus Heritage in Details นิทรรศการที่เต็มไปด้วยคำถามเกี่ยวกับการมองมรดกทางวัฒนธรรมแบบใหม่

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: ไลลา ตาเฮ

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนตั้งตารอสำหรับงานสถาปนิก ซึ่งจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ทุกปีนั้น ก็คือการออกแบบนิทรรศการซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่แล้วให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก งานสถาปนิกในปี 2563 ครั้งนี้ เลือกที่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางสถาปัตยกรรมในมุมมองใหม่ 

ASA CREW จึงชวนแจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio และวัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ มาเล่าเบื้องหลังตั้งแต่วันแรกของการได้รับภารกิจร่วมออกแบบภาพรวมของนิทรรศการครั้งนี้

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio และวัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

จุดเริ่มต้นของภารกิจการออกแบบนิทรรศการในงานสถาปนิก’63 ในหัวข้อที่หลายคนสงสัยว่าอะไรคือ การ Refocus Heritage

ธนะวัช: ขั้นแรกก็คือโจทย์ได้มาจากทางกรรมการจัดงาน ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า Refocus Heritage เราก็งงอยู่บ้าง ก็ต้องใช้เวลามาถกกันว่ามันคืออะไร เพราะว่าเราก็เห็นว่า คนไม่ได้มองข้ามอาคารเก่า ตึกเก่านะ มีการพยายามเอามาใช้ประโยชน์อยู่เรื่อยๆ แต่ทีนี้มุมมองที่อยากเล่าของเขาคืออะไร

วัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

ปิตุพงษ์ : เริ่มต้นทำงานนี้พร้อมๆ กัน ฝั่งของรักลูกฯ จะดูแลเรื่องเนื้อหา ภาพ กราฟิก ทาง Supermachine Studio จะดูแลเกี่ยวกับอะไรที่เป็นกายภาพ ซึ่งมันก็ค่อนข้างซับซ้อนอยู่พอสมควรเพราะว่า โจทย์คือความพยายามที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าของมรดกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือวัฒนธรรม ปกติงานอนุรักษ์ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปนิกมาทุกปีอยู่แล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าพอมาทำเองปุ๊บ โอ้โห! มันจะเยอะแยะอะไรขนาดนี้ มีหลายคณะทำงาน หลายเครือข่าย มีสารพัดประเด็นที่จะต้องพูด ในพื้นที่ 4,000-5,000 ตารางเมตรนี้

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio

วิธีการทำงานร่วมกันของฝั่งคอนเทนต์กับฝั่งโครงสร้างนิทรรศการเป็นอย่างไน 

ปิตุพงษ์ : ค่อนข้างจะเหลื่อมกันเล็กน้อย ฝั่งโครงสร้างนิทรรศการตัดสินใจก่อนเลยว่าจะใช้กล่องกระดาษเป็นวัสดุ (Material) ในการทำนิทรรศการ เราเรียนรู้จากงานสถาปนิกในปีผ่านๆ มองว่ามันค่อนข้างจะเป็นแนวทางของงานสถาปนิกอยู่แล้วที่พยายามจะใช้ของที่ Thoughtful กว่า นำกลับไปรีไซเคิลได้จริงๆ เป็นความท้าทายเหมือนกันที่เราจะเอากล่องกระดาษพวกนี้ไปแปลงร่างยังไงไม่ให้น่าเบื่อ ทั้ง 18 Station ในงานพยายามจะให้กล่องกระดาษให้เต็มที่ไปเลย ไม่ใช่พอเป็นพิธี ต้องมีเทปมาติดซ่อมระหว่างงาน ทำเป็นกำแพง เป็นเจดีย์ มีบางจุดเป็นอุโบสถ ทำเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ที่รัดไว้ด้วยสายรัดทำจาก PVC พองานเสร็จมันก็จะถูกนำไปใช้เป็นกล่องตามปกติ จริงๆ คอนเซ็ปต์มีเท่านี้เองเป็นการ Simplify Form ของ Heritage Architecture As We Understood แต่สร้างขึ้นจากสิ่งของที่เราใช้ทุกวัน มีโซนหนึ่งที่หลักๆ เลยพูดเกี่ยวกับข่าวดี ข่าวร้ายเกี่ยวกับมรดกพวกนี้ จึงอยู่ในฟอร์มที่คล้ายรูปทรงของอุโบสถ หรือศาลาวัดที่ทำจาก Bubble Wrap ลอยอยู่ในอากาศ จะไม่ได้มีฟอร์มแบบ Traditional เลยเสียทีเดียว 

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio และวัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

ฝั่งของคอนเทนต์ ต้องมีกระบวนการทำงานยังไงบ้าง 

ธนะวัช : เดิมที่รับโจทย์มา จากคณะกรรมการหลัก 3 คน คือ ดร.วสุ โปษญานนท์ คุณวทัญญู เทพหัตถี รองประธานจัดงานฯ แล้วก็คุณวุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ มัณฑนากรชำนาญการจากกรมศิลปากร เมื่อได้หัวข้อหลักๆ ออกมา ก็จะส่งต่อไปให้ทีมทำเนื้อหา ส่วนผมจะเป็นคนคอยประสานติดตาม และประเมินเกี่ยวกับการนำเสนอในนิทรรศการ

วัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

ปิตุพงษ์ : ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจของงานสถาปนิก’63 คือทีมโปรดักชั่นดีไซน์ มีเนื้อหามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก จึงช่วยเพิ่ม Dimension ที่ตัวนิทรรศการให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารตรงประเด็น หรือชัดเจนขึ้นสำหรับผู้เข้าชม

ธนะวัช: Supermachine Studio พยายามดีไซน์ให้มีหลากหลายมิติในการชมด้วย เช่น มองลง มองขึ้น มองซ้าย มองขวา ให้มันเข้ากับเนื้อหา จากเรื่องเกี่ยวกับอาคารอนุรักษ์ที่เคยเป็นส่วนเล็กๆ ในงานปีก่อนๆ มีช่างภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสวยๆ ไปเก็บภาพมาจัดแสดง เหมือนได้เข้ามาดูงานศิลปะ โดยเฉพาะพวกช่างที่มีถึง 5 ส่วน ตั้งแต่ผู้รับเหมาที่ทำงานอนุรักษ์ได้เป็นยังไง เขาคือใครกันบ้าง ช่างฝีมือ ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างสี ผู้ผลิตวัสดุ คนทำกระเบื้อง กระจกเกรียบ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ ทำให้เราได้รู้ว่าจริงๆ มันมีคนที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้อีกนะ สิ่งเหล่านี้มันขยายมุมมอง ขยายมิติ ตอนที่นิทรรศการนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์จริง ผมว่าผู้เข้าชมน่าจะอิ่มกับเนื้อหานะ 

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio

ความท้าทายของการจัดทำนิทรรศการสำหรับงานสถาปนิกครั้งนี้มีอะไรบ้าง

ธนะวัช : เรื่องจัดการคน จัดการเนื้อหา จัดการเครือข่ายจำนวนมากที่มาร่วมกัน แล้วก็การทำให้ผู้เข้าชมเห็น Perception ใหม่เกี่ยวกับความเป็นมรดก ว่ามันเป็นของใครของมันด้วยนะ เช่น มรดกบ้านผม มันก็คือของผม ตราบใดที่มันส่งคุณค่านี้ไปใช้คนรุ่นต่อไปได้ แล้วเกิดประโยชน์ อันนี้คือแนวคิดหลัก

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio

ปิตุพงษ์: คำว่า Refocus คือการที่ไม่ได้โฟกัสไปมุมใดมุมหนึ่งเสียทีเดียว เพราะว่ามันก็ไปได้หลายมุม เบลอๆ กันไป ความคลุมเครือเป็นความท้าทาย ที่พอมาถึงวันนี้ก็เริ่มสนุกแล้วล่ะ ตอนนั้นคือปวดหัว เพราะว่าความคลุมเครือกับความใหญ่ ความเยอะของเนื้อหา จะใช้ตัวอย่างอันไหน หัวข้อนี้จะดีหรือเปล่า คนนี้ควรอยู่ไม่ควรอยู่ จะเล่าเรื่องนี้ดีไหม ไม่เล่าเรื่องนี้ดีไหม ตกลงชอบแบบไหน เหมือนกับประเทศไทยกำลังพยายามหาจุดยืน ว่าวงการจะจัดการ หรือการมองกลับไปยังของพวกนี้ยังไง ซึ่งไม่มีใครตัดสินได้หรอก 

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio และวัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

จุดไหนของงานสถาปนิก’63 ที่ไม่ควรพลาด

ปิตุพงษ์ : ส่วนกลางงานจะมีแลนด์มาร์กที่สูงเกือบ 7 เมตร สร้างขึ้นจากกล่องกระดาษที่เรียงต่อกันเหมือนการนำอิฐมาเรียงเป็นฐานเจดีย์ ใช้เทคนิคก่อสร้างแบบง่ายๆ เป็น Dry Joint ทั้งหมดเลย พรุ่งนี้กำลังจะไปดูอยู่ว่ายังไง ผมเองก็ยังตื่นเต้นเลยนะ นอกจากนี้ก็มีงานที่คลาสสิกมากๆ อย่างโมเดลการซ่อมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio

คนที่มาชมนิทรรศการน่าจะได้เจอคำถามมากกว่าคำตอบ

ปิตุพงษ์: คงไม่ได้คำตอบแน่ๆ แหละ แต่ว่าเป็นการชวนกันมาฉุกคิดมากกว่า เป็นการบอกว่าถึงเวลาที่ต้องมามองมันใหม่แล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าต้องมองไปทางไหน บรรยากาศในงานมันจะไม่จริงจัง เหมือนเข้าไปในเมืองกล่องกระดาษ เพราะแต่ก่อนคำว่า Heritage คือการอนุรักษ์กับกรมศิลปากร มันก็แคบไปแล้ว เราอยากสร้างความฉงน ท้าทายความคิดของคนให้มากขึ้น

ธนะวัช: ที่แน่ๆ คือนิทรรศการนี้จะช่วยขยายมุมมองแน่นอน มีหลายประเด็นที่เราไม่เคยรู้แม้ว่าจะทำงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์มาบ้างก็ตาม โครงสร้างของเนื้อหาส่วนหนึ่งจะว่าด้วยสถานการณ์ ตามข้อมูลเชิงวิชาการในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด อันนี้ผมว่าเหมือนเป็นสเต็ปแรกในการเปิดมุมมอง จะผิดจะถูกก็จะได้รู้ข้อมูลมากขึ้น 

วัด-ธนะวัช บุญศรีศิริจันทร์ จากบจก. รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์

นอกจากคำถามมากมายที่จะได้กลับบ้านไปแล้ว การไปงานสถาปนิกครั้งนี้จะได้อะไรกลับไปอีก
ธนะวัช: ถ้าเป็นดีไซเนอร์ก็จะรู้สึกว่าเราพอไปช่วยได้ มันไม่ได้ยุ่งยากมาก ถ้าเกิดเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของมรดกส่วนตัว ก็จะพอมีกำลังใจที่ได้เห็นช่องทางในการดูแลมรดกของตัวเอง 

Pin It on Pinterest

Shares
Share This