“REFOCUS HERITAGE: มองเก่า ให้ใหม่” ในงานสถาปนิก’63

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปี 2529 โดยใช้ชื่องานว่า “สถาปนิก ’29” และได้จัดเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี 2533) จนถึงปัจจุบัน ได้จัดไปแล้ว 31 ครั้ง โดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 400,000 คน ในแต่ละปี สำหรับปีนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปี 2561-2563 มีมติเห็นชอบในการจัดงานสถาปนิก’63 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 34 ในระหว่างวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม-วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 ณ อาคาร ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของสมาคมฯ ผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง นวัตกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม การส่งเสริมวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมแก่สมาชิก และสังคม ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ แก่ประชาชน นิสิต นักศึกษา และส่วนของงานแสดงวัสดุผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในและการก่อสร้าง

Refocus Heritage

แนวคิดหลักในการจัดงาน
ในสังคมของเราที่ผ่านมาก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ตกทอดสืบมาจากอดีต โดยใช้คำว่า โบราณสถานโบราณวัตถุ เรียกสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เรานึกถึงแต่เพียงความเก่าแก่ โบราณ ที่ใช้อายุสมัยมาเป็นเครื่องกำหนดคุณค่า หากแต่สาระสำคัญที่แท้จริงของคุณค่าน่าจะอยู่ที่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ขึ้นมาในอดีตเพื่อให้มีคุณค่าสำหรับการใช้สอยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเราได้ร่วมกันเห็นถึงคุณค่านั้นที่คู่ควรต่อการรักษาไว้เพื่อส่งต่อจากรุ่นของเราไปสู่คนในรุ่นต่อไป และนี่ก็คือความหมายของคำว่า HERITAGE หรือ มรดก
ในปัจจุบัน HERITAGE ตามความเข้าใจโดยทั่วไปของคนส่วนมากก็มักจะนึกถึงเฉพาะแต่โบราณสถาน นึกถึงแต่การบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพความเก่าแก่โบราณไว้ คิดว่าการจัดการกับมรดกนี้เป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว โดยคิดว่าเมื่อเป็นโบราณสถานแล้วกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในเรื่องนี้จะห้ามแตะต้อง จนกลายเป็นความกลัวที่จะเข้ามาจัดการแหล่งมรดกเหล่านี้ จนลืมไปว่ามรดกก็คือสมบัติของทุกคน ที่ทุกคนควรจะมีส่วนในการดูแลรักษาและนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมที่จะส่งมอบต่อให้รุ่นลูกหลานเราได้ด้วยความภาคภูมิใจ ในรูปแบบวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี และนี่คือบทบาทที่สำคัญของการออกแบบและการศึกษาทางสถาปัตยกรรมของสถาปนิกทุกคน ไม่ได้จำกัดว่าเป็นบทบาทของกลุ่มสถาปนิกอนุรักษ์เท่านั้น … จึงถึงเวลาของการมา refocus heritage และมองเก่า ให้ใหม่

Refocus Heritage

REFOCUS HERITAGE : มองเก่า ให้ใหม่ จึงถูกเสนอมาเป็นชื่องาน เพื่อแสดงถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้อง กับสิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นของเก่าๆแล้วขีดเส้นให้อยู่แต่ในกรอบเดิมๆ เพื่อสื่อถึงการนำเสนอประสบการณ์ด้านมรดกสถาปัตยกรรมที่จะปรับมุมมองการรับรู้ไปตามประสบการณ์ของผู้เข้าชมงานแต่ละคนผ่านนิทรรศการและกิจกรรมภายในงาน สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับงานอาคารสามารถปรับความคมชัด (focus) ของประสบการณ์ที่มีต่อมรดก สถาปัตยกรรม อย่างลงลึกในรายละเอียด (zoom) ได้รับข้อมูลที่สนับสนุนต่อการประกอบวิชาชีพหลากหลายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่เคยรับรู้ต่อมรดกสถาปัตยกรรมในมุมใดมุมหนึ่งจะได้ประสบการณ์ที่ขยายขอบเขตมุมมองที่กว้างขึ้น (wide angle) ค้นพบมรดก สถาปัตยกรรมที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน มองเห็นมรดกในทุกมิติทั้งในเรื่องของกาลเวลาระดับความสำคัญ และรูปแบบทางวัฒนธรรม มีทั้ง “ของเก่า” ในเรื่องคุณค่าที่เราอาจจะเคยมองข้าม การฟื้นฟูสืบค้นหา รูปแบบ วัสดุและ เทคนิคฝีมือมือช่างดั้งเดิมให้กลับคืนมา และ “ของใหม่” อันได้แก่ วัสดุ เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการคุณค่าของมรดก การออกแบบใหม่ที่นำอัตลักษณ์ของเก่ามาประยุกต์ใช้ ที่คำนึงถึงบริบทที่ตั้งของอาคาร ตลอดจนแนวคิดใหม่ในการจัดการแหล่งมรดก เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้งานในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

Competition

การ REFOCUS จึงไม่เพียงแต่เป็นการหวนกลับมามองดูมรดกเหล่านี้อีกครั้ง แต่การปรับความคมชัดด้านการรับรู้ที่มีต่อ มรดกสถาปัตยกรรมยังหมายถึงความยืดหยุ่นของการอยู่ร่วมกันเพื่อการรักษาคุณค่า ระหว่างความเก๋าของอาคารเก่าและความเก๋ของอาคารใหม่ร่วมสมัย เป็นการปลุกมุมมองต่อมรดกสถาปัตยกรรมให้มีชีวิตที่กว้างขึ้น หลากหลายมิติมากขึ้น สามารถเข้าถึงผู้เข้าชมงาน ที่มีความหลากหลายอาชีพ และความแตกต่างทางยุคสมัย ให้ทุกคนหันกลับมาตระหนักถึงบทบาทในความเป็นเจ้าของ มรดก ในอันที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาและส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้กับสังคมที่จะต้องก้าวต่อไปในวันพรุ่งนี้ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นิทรรศการและกิจกรรมสำคัญปีนี้ ประกอบด้วย
1. นิทรรศการหลัก ธีมงาน
1.1 Introduction to Refocus Heritage
1.2 นิทรรศการ ปัญหามรดกบนโลกออนไลน์ นำเสนอผลงานที่แสดงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมรดก

Online Exhibition

1.3 นิทรรศการ ฟื้นชีวิตมรดก นำเสนอผลงานในการขยายมุมองต่อมรดกให้กว้างขึ้น
1.4 นิทรรศการมรดกใกล้ตัว

introduction

2. นิทรรศการอื่นๆ
2.1 นิทรรศการ ผลงานสถาปนิก ( ASA MEMBER ) นำเสนอผลงานการออกแบบของ บริษัทสถาปนิก ในการขยายมุมอง การประกอบ วิชาชีพกับมรดก

Landmark

2.2 นิทรรศการ Heritage Network นำเสนอผลงานนิทรรศการขยายมุมมอง ด้านการอนุรักษ์และพัฒนามรดกสถาปัตยกรรม
2.2.1 เมืองเก่า
2.2.2 มรดกโลก
2.2.3 สัมปทานภาครัฐ
2.2.4 มูลนิธิ
2.2.5 บริษัทเอกชน
2.2.6 หน่วยงานรัฐ

2.3 นิทรรศการโครงการประกวดแบบระดับชาติ  Everyday Heritage การแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับชาติ ที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมส่งผลงานแสดงแนวคิดในการออกแบบภายใต้ธีมงาน

2.4 นิทรรศการรางวัล
2.4.1 นิทรรศการ รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2562 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2562
2.4.2 นิทรรศการ รางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563 คัดเลือกโดยสมาคม สถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2562
2.5 นิทรรศการ ผลงานวิชาการ “นิทรรศการการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวังปี 2469-2479” การแสดงประวัติความเป็นมาในการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวัง

นิทรรศการการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวังปี 2469-2479

2.6 นิทรรศการ ผลงานนิสิต นักศึกษา Heritage in danger
นำเสนอผลงานเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ 37 สถาบัน นักศึกษาเสนอแนวคิด แนวทางในการดำเนินการอนุรักษ์ มรดกสถาปัตยกรรมที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤติขาดการดูแลรักษา

3. พื้นที่กิจกรรม Activities
3.1 หมอบ้านอาษา การบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไปตอบสารพันปัญหาในเรื่องการก่อสร้าง บ้านและอาคาร โดยกลุ่มสถาปนิกอาสาผู้เชี่ยวชาญ

Refocus Heritage

3.2 ASA Shop พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคมฯ หนังสือวิชาการจากสถาบันการศึกษา หนังสือสถาปัตยกรรมจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ และหนังสือด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมจากสำนักพิมพ์ในประเทศ

ASA shop

3.3 ASA Club พื้นที่ Meeting Point และจุดพักผ่อนประจำของชาว ASA

ASA CLUB

4.งานสัมมนาวิชาการ ASA Forum 2020 และ ASA Seminar 2020
งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้าน สถาปัตยกรรมทั้งใน-ต่างประเทศ

ASA inter Friends

5. งานอาษาไนท์
งานสังสรรค์ตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษาทุกรุ่นทุกสมัยทุกสถาบัน

Pin It on Pinterest

Shares
Share This