Sattrapirom Meditation Center สถานปฏิบัติธรรมศรัทธาภิรมย์

เรื่อง: สาโรช พระวงค์
ภาพ: Xaroj Photographic Atelier

กรอบประตูทางขึ้นชั้นสอง หุ้มด้วยกระจกเกรียบ

สถาปัตยกรรมพุทธศาสนาในประเทศไทยส่วนใหญ่มักมีรูปแบบประเพณีนิยม แต่หากลองดูวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาในช่วงรัตนโกสินทร์แล้ว จะพบได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย และมีวงจรที่นิยมย้อนกลับไปใช้รูปแบบจากอดีต สลับกับการหารูปแบบใหม่ แล้ววนเวียนไปทั้งเก่าและใหม่เป็นวัฏจักร จวบจนช่วง พ.ศ. 2510-2520 ได้มีความเคลื่อนไหวของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาแบบร่วมสมัย เป็นรูปแบบที่ตีความแก่นศาสนาพุทธในอีกรูปแบบ ที่ไม่ได้ยึดตามขนบเดิม แต่แสวงหาคำตอบใหม่อยู่หลายงาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา นิยามว่า “เลิกเล่นยี่เกกับสถาปัตยกรรมไทย”

ทางเข้าเป็นจั่วขนาดใหญ่กรุกระจก

ท่ามกลางทิวสวนต้นยางใน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ณ สถานปฏิบัติธรรมศรัทธาภิรมย์ ปรากฏสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาแบบร่วมสมัยที่มีรูปแบบการเจรจาของความเก่าและใหม่ ผ่านการตีความพุทธศาสนาสู่สถาปัตยกรรม ด้วยความเรียบง่าย ลดการประดับองค์ประกอบจากอดีต โครงการตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากจนมีความสงบ เหมาะแก่การเจริญสติสำหรับพุทธศาสนิกชน เมื่อผ่านถนนจากชุมชนมาสักพักจะพบกับศาลาทรงจั่วสูงทะลุยอดต้นยาง จึงจะได้พบกับศาลาหลังใหม่ของสถานปฏิบัติธรรมศรัทธาภิรมย์

ภาพภายนอกของสถานปฏิบัติธรรมศรัทธาภิรมย์

ศาลาหลังนี้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ทั้งของสงฆ์ และฆราวาส มีท่าทีของการเจรจากันของ 2 สำเนียงสถาปัตยกรรม ทั้งสำเนียงเก่าและใหม่ จนเกิดแนวทางการออกแบบที่ประณีประนอม โครงการออกแบบโดย Ken Lim Architects ตัวศาลาหันหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเข้าหลักจะเริ่มต้นจากบันไดหลักด้านหน้า เปลือกภายนอกเป็นการผสมกันของหลายวัสดุทั้งคอนกรีตเปลือย ปูนเปลือย อิฐเปลือย จากทางเข้าเป็นจั่วขนาดใหญ่ ผนังกระจกสูงจรดชายคาที่วงกบเรียงสลับแบบฝาปะกนของเรือนไทย

ส่วนบริการที่ชั้นหนึ่ง

พื้นที่ใช้สอย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนบริการที่ชั้นหนึ่ง ส่วนโถงอเนกประสงค์ชั้นสอง พื้นที่ชั้นหนึ่ง มีลักษณะยกสูงให้แค่พอดีกับการใช้สอย ประกอบด้วยห้องน้ำและส่วนนอน สำหรับพื้นที่ชั้นสอง เป็นโถงโล่งที่พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้สอย การเข้าถึงชั้นสอง จะต้องเดินผ่านกรอบประตูที่หุ้มด้วยกระจกเกรียบ แสงสะท้อนจากกระจกเกรียบช่วยให้มีการเปลี่ยนผ่านจากภายนอกสู่ภายในอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าตัวศาลาจะเกือบวางตัวขวางตะวัน ทำให้แสงอาทิตย์เข้าทางด้านยาวเกือบทั้งวัน แต่ภายในมีความสลัวจากชายคาที่กดต่ำ สถาปนิกนำแนวคิดการกดชายคาต่ำมาจากการหรี่ตาของพระพุทธรูปที่มองลงเพียงกึ่งหนึ่ง เพื่อตัดขาดจากโลกภายนอก เป็นการอุปมาอุปมัยเพื่อสร้างสมาธิสู่การใช้ที่ว่าง

กรอบประตูที่หุ้มด้วยกระจกเกรียบ

การสร้างจุดหมายตาสู่สมาธิ ใช้องค์ประกอบการสถาปัตยกรรมจากเสาคอนกรีตเปลือยที่เรียงไปตามด้านยาวของศาลา คล้ายกับการวางเสาออกจากผนังแบบเสาร่วมในของอุโบสถแบบประเพณี ปลายทางของพื้นที่ชั้น 2 ถูกวางให้จดจ่อไปยังปลายศาลาที่เจาะช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาจากความมืด แทนการใช้พระพุทธรูปที่ด้านหลังตามความนิยม

ปลายศาลาที่เจาะเป็นช่องแสง
ช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

ในการใช้งานจริง สถาปัตยกรรมต่างเติบโตและถดถอยไปตามเวลา ทำให้การเจรจาของสำเนียงใหม่-เก่ายังมีต่อมา พร้อมกับการเติบโตของสถาปัตยกรรม ดัง ที่ สุเมธ ฐิตาริยากุล principal ของ Ken Lim Architects ได้พูดถึงส่วนที่เพิ่มเติมต่อมาจากทางสถานปฏิบัติธรรมว่า ” ผมสนใจสถาปัตยกรรมที่มันเป็นไปตามการใช้งานจริง ๆ มันจะไม่ได้เนี๊ยบอย่างภาพถ่ายที่เราเห็นทั่วไป อย่างที่นี่พอใช้งานไป ทางญาติโยมที่อุปถัมภ์เขาก็อยากติดเหล็กดัดนะ ผมก็เสนอตัวเลยว่าจะออกแบบให้นะ มันจะได้สอดคล้องกับการใช้งานของเขา”

บันไดทางขึ้นอาคารสัมผัสกับแสงแดด

ในคำสอนของศาสนาพุทธนั้น ล้วนเสนอถึงความไม่ควรยึดติด การมองสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ในกรณีของศาลานี้ก็กำลังเดินทางไปตามเส้นทางของปรับตัวตามความไม่เที่ยงนี้ ส่วนจะปรับตัวไปเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาตัดสินตามการปรุงสังขารของสถาปัตยกรรมเช่นกัน เพราะสังขารล้วนปรุงแต่ง

ภายนอกอาคารเมื่อสัมผัสกับแสงแดด

Pin It on Pinterest

Shares
Share This