Werapol Chongjaroenjai

เราดูแลสมาชิกสมาคมสถาปนิกอีสานใน 20 จังหวัดภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งตอนนี้เราได้แบ่งศูนย์ออกเป็น 7 ศูนย์ ได้แก่ศูนย์จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดนครพนม และจังหวัดบุรีรัมย์ และเรากำลังวางแผนจัดตั้งศูนย์จังหวัดชัยภูมิด้วย

วีรพล จงเจริญใจ
ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน

อาษา: รบกวนคุณวีรพลช่วยแนะนำตัวสั้นๆ
วีรพล จงเจริญใจ: ผมเป็นกรรมาธิการสถาปนิกอีสานสมัยที่ 2 วุฒิสถาปนิกเลขที่ 627 และเป็นสมาชิกสมาคมเลขที่ 03871 ที่แนะนำตัวเป็นเลขสมาชิกปิดท้าย เพราะที่ผ่านมาสังเกตว่าสมาชิกส่วนใหญ่มักจะจำเลขสมาชิกตัวเองไม่ได้เลย แต่ผมจำได้ ก็เลยแนะนำไปด้วย ซึ่งมันก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการเข้ามาเป็นสมาชิกและการเข้ามาทำงานตรงนี้

อาษา: คุณวีรพลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมาคมสถาปนิกสยามฯ และกรรมาธิการสถาปนิกอีสานได้อย่างไร
วีรพล จงเจริญใจ:
เริ่มจากเมื่อหลายปีก่อน มีรุ่นพี่คณะกรรมการที่รู้จักกันดี เค้าชวนให้ผมเข้ามาช่วยงาน อย่างถ้าย้อนไปช่วงแรกๆ ประมาณปี 50 ตอนนั้นก็เข้ามาเป็นประธานจัดงานสถาปนิกอีสานที่โคราช แล้วก็ทำงานกับกรรมการอยู่หลายสมัย จนมาคณะกรรมการสมัยก่อนหน้านี้ผมเลยลองลงสมัครประธานสถาปนิกอีสานดู พอได้ตำแหน่งมาก็ทำงานมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

อาษา: นโยบายและบทบาทของกรรมาธิการส่วนภูมิภาคมีอะไรบ้าง
วีรพล จงเจริญใจ:
หลักๆ คือเราดูแลสมาชิกสมาคมสถาปนิกอีสานใน 20 จังหวัดภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งตอนนี้เราได้แบ่งศูนย์ออกเป็น 7 ศูนย์ ได้แก่ศูนย์ จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดนครพนม และจังหวัดบุรีรัมย์ อาจนับรวมไปถึงศูนย์ที่ 8 ที่เรากำลังวางแผนจัดตั้งศูนย์จังหวัดชัยภูมิไปด้วยเลยก็ได้ เพราะตอนนี้ก็กำลังเตรียมการกันอยู่ เราอยากให้มีศูนย์ในภาคอีสานกระจายอยู่หลายๆ แห่ง เพราะการมีศูนย์จะช่วยให้มีงบประมาณไป
ช่วยเรื่องการรวมตัวของสมาชิกสถาปนิกในแต่ละพื้นที่ โดยการรวมตัวที่ผ่านมาของพวกเรา เราจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มีการจัดประชุมสัญจร และจัดกิจกรรมอื่นๆ อย่าง Dinner Talk เพื่อเชิญให้สมาชิกจากแต่ละศูนย์ในส่วนภูมิภาคของเราได้มาเจอกัน รวมถึงเรายังมีการเวียนจัดงานใหญ่ประจำปี อย่างงานสถาปนิกอีสานไปในแต่ละจังหวัดที่เราจัดตั้งศูนย์ไว้ด้วย

ส่วนถ้าให้พูดถึงนโยบายและวิสัยทัศน์สำคัญ แน่นอนว่าจากที่เห็น เราจะเน้นไปในเชิงการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาปนิกในส่วนภูมิภาคของเราได้เผยแพร่และจัดแสดงผลงาน รวมไปถึงการสานสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิกอีสานด้วยกัน และระหว่างสถาปนิกส่วนภูมิภาคอื่นๆ ที่ทุกๆ ครั้งของการจัดงานประจำปี ก็จะมาร่วมด้วยช่วยกันจัดงานเป็นอย่างดี ตรงนี้คือวัตถุประสงค์ส่วนสำคัญที่สุดของนโยบาย

อาษา: การจัดตั้งศูนย์ ในแต่ละจังหวัดมีกระบวนการการพิจารณาอย่างไร
วีรพล จงเจริญใจ:
การจัดตั้งศูนย์ในแต่ละจังหวัด เราอิงจากจำนวนสมาชิกในแต่ละจังหวัดและความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ด้วย จังหวัดไหนมีสมาชิกมากเราก็จะวางแผนพิจารณาเข้าไปจัดตั้งศูนย์ให้กับสมาชิก แต่ส่วนใหญ่ศูนย์เหล่านี้ก็จะพ่วงจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปด้วยอยู่แล้ว เช่น ศูนย์จังหวัดบุรีรัมย์ก็จะดูแลสมาชิกในจังหวัดสุรินทร์ หรือศูนย์จังหวัดนครราชสีมาก็จะดูแลสมาชิกของจังหวัดชัยภูมิ ศูนย์จังหวัดอุบลราชธานีดูแลสมาชิกจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น ซึ่งการตั้งศูนย์ที่ว่านี่ไม่ใช่การตั้งสำนักงานอะไร แต่เป็นการอาศัยห้องประชุมของสำนักงานสถาปนิกน้องๆ ในแต่ละพื้นที่เป็นจุดรวมตัว ถ้าศูนย์ที่มีสำนักงานจริงๆ ตอนนี้จะมีอยู่แห่งเดียว คือศูนย์จังหวัดนครราชสีมา หรือศูนย์โคราช

อาษา: จากการจัดกิจกรรมหรือการนัดรวมตัวกันในส่วนภูมิภาคอีสานที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับอย่างไร
วีรพล จงเจริญใจ:
ครั้งหนึ่งที่เคยไปจัดงานสถาปนิกอีสานที่จังหวัดนครพนม จำได้ดีว่าตอนนั้นทั้งได้รับการต้อนรับจากน้องๆ สมาชิกในพื้นที่อย่างดี และได้รับความร่วมมือดีมากๆ ทั้งสมาชิกในจังหวัดนครพนมหรือแม้แต่จังหวัดสกลนครเองก็เข้ามาช่วยกันจัดงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งทำให้ผมยิ่งเห็นถึงประโยชน์ของการจัดกิจกรรมมากขึ้นว่านอกจากเราจะมีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสมาชิกของเราแล้ว เราก็ยังได้สานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์ และความสัมพันธ์ส่วนตัวของพี่น้องสถาปนิกด้วย ปีที่แล้วเราไปจัดกันงานกันที่จังหวัดนครราชสีมาก็ได้รับความร่วมมือดีมากไม่แพ้จังหวัดอื่น ส่วนของปีนี้เราไปจัดกันที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างศูนย์จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 65 ที่ผ่านมา

อาษา: นอกจากกิจกรรมประจำปี อย่างงานสถาปนิกอีสานแล้ว ส่วนภูมิภาคอีสานยังมีกิจกรรมหรือการดำเนินงานในส่วนใดอีกบ้างที่มีความน่าสนใจ
วีรพล จงเจริญใจ:
นอกจากกิจกรรมที่เราจัดขึ้นเพื่อช่วยเผยแพร่ผลงานของสมาชิก อีกส่วนที่เราพยายามส่งเสริมให้กับสมาชิกอยู่เสมอ คือการจัดกิจกรรมด้านวิชาการ เพื่อมอบองค์ความรู้ให้กับสมาชิกผ่านการจัดอบรมทั้งแบบ Onsite และแบบ Online ซึ่งทั้งหมดเราก็พยายามให้บรรยากาศของกิจกรรมออกมาดูอบอุ่น และเป็นกันเองมากที่สุด และก็ยังมี ASA E-SAN Workshop เป็นกิจกรรมเน้นเรื่องเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้างที่ทันสมัย ตัวอย่างเช่น โซล่าเซล และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งเรายังมีจัดกิจกรรมแนว Sitetour พาไปชมสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม หรือโรงพยาบาล เพื่อให้สมาชิกได้รับความรู้และแนวทางกลับไปใช้กับวิชาชีพของตนเองได้ ล่าสุดเราก็เพิ่งไปจัดกิจกรรมที่เมืองเวียงจันทร์และหลวงพระบาง ประเทศลาว

สำหรับกิจกรรมในเชิงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรท้องถิ่น เช่น สภาหอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม อันนี้จะ
เป็นเรื่องของการช่วยกันหาแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง เพราะการพัฒนาเมืองก็จำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องของสถาปัตยกรรมผังเมืองเข้ามา และมันยังเป็นการเปิดกว้างให้อาชีพสถาปนิกเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแถบต่างจังหวัด เพราะเมื่อก่อนวิชาชีพของเราจะอยู่ห่างไกลจากองค์กรท้องถิ่นมาก เหมือนต่างคนต่างอยู่ไม่ได้มีการร่วมมืออะไรกันจริงจัง แต่ตอนนี้ต้องเป็นการร่วมมือกันในทุกๆ ฝ่าย เพื่อให้เมืองพัฒนาต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ตอนนี้จังหวัดนครราชสีมา ก็มีถึง 11 องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมกันพัฒนา ซึ่งเราก็เข้าไปเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่มีบทบาทในการช่วยผลักดันส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

อาษา: สมาชิกสถาปนิกส่วนภูมิภาคอีสาน สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้จากช่องทางใดเป็นหลัก
วีรพล จงเจริญใจ:
ในส่วนของช่องทางที่เราใช้สื่อสารกับสมาชิกของเราก็มีอยู่หลาย platform หลักๆ ก็จะมี Facebook และ Line กลุ่ม ซึ่งตอนนี้มีหลายกลุ่มมาก มีทั้งกลุ่มสถาปนิกอีสาน กลุ่มสถาปนิกอีสานบน ชมรมสถาปนิกอุบลฯ ตะเข็บโขง กลุ่ม AsAsA (กลุ่มศิษย์เก่า) และอื่นๆ อีก เป็นต้น ฝั่งอีสานเรากิจกรรมเยอะมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถาบันศึกษาอย่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นจะรวมตัวกันง่ายและเข้มแข็งเป็นพิเศษ กิจกรรมก็เลยจะเยอะหน่อย กลุ่มในแอพฯ ก็เลยจะเยอะไปด้วย (หัวเราะ) ซึ่งวิธีการรวมตัวกันใน Line กลุ่มของพวกเราก็ใช้วิธีง่ายๆ คือปากต่อปาก เวลาพบกันในสถานที่จัดกิจกรรม รุ่นพี่ก็ดึงรุ่นน้องเข้า หรือดึงสมาชิกหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อาษา: สิ่งที่กรรมาธิการสถาปนิกอีสานคาดหวังหรืออยากให้เกิดขึ้นกับเครือข่ายวิชาชีพสถาปนิก และสมาชิกสมาคมฯ คืออะไร ช่วยทิ้งท้ายสั้นๆ
วีรพล จงเจริญใจ:
ถ้าถามถึงเรื่องความคาดหวังต่อวิชาชีพสถาปนิกและสมาชิกของเราก็คงมีหลายสิ่งมากที่อยากให้เกิดขึ้นกับวงการ โดยเฉพาะความเข้าใจในวิชาชีพของเรา ในส่วนภูมิภาคหรือคนต่างจังหวัดเค้ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าการมีสถาปนิกช่วยออกแบบอาคารจะคุ้มค่ากว่าการได้แบบฟรีจากที่อื่นๆ อย่างไร สิ่งที่เราพยายามทำอยู่จึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนในต่างจังหวัดเห็นภาพชัดเจนขึ้นและเห็นความสำคัญของวิชาชีพเรามากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมประกวดผลงานและจัดแสดงผลงานให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าร่วมได้ง่ายๆ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่คาดหวัง เพราะว่ามีผลต่อค่าแบบของพวกเราด้วย จากที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าค่าแบบแถบต่างจังหวัดก็คงไม่ได้คิดได้เท่ากับส่วนกลาง ด้วยที่ความนิยมและความเข้าใจของผู้คนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

อีกส่วนที่คาดหวังสำหรับฝั่งอีสาน คือเราพยายามติดต่อกับสมาคมสถาปนิกและวิศวกรรมประเทศลาวอยู่เรื่อยๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สมาชิกของเราได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนแนวคิดและวัฒนธรรมกับฝั่งเค้า เพราะประเทศลาวเป็นเมืองอนุรักษ์ด้านมรดกทางสถาปัตยกรรม โดยมี UNESCO เข้ามาดูแล ตรงนี้จึงเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวฝั่งอีสาน อีกทั้งการติดต่อและวัฒนธรรมก็มีความใกล้เคียงกัน ทั้งภาษาและการดำเนินชีวิตก็คล้ายกัน ใครมีอะไรน่าสนใจเราก็จะตั้งหัวข้อและจัดเสวนาออนไลน์กับฝั่งประเทศลาว โดยเปิดให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมรับฟังได้ ในอนาคตเราก็คาดหวังที่จะมีโอกาสได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มากกว่านี้ ซึ่งคงจะมีขึ้นเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

อ่านบทความคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 09 Metal Attraction คลิกได้ที่นี่

Pin It on Pinterest

Shares
Share This