Studio Visit: ASWA

เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ
ภาพ: อนันตา ฐิตานัตต์

ASWA Studio

Architectural Studio of Work – Aholic (ASWA) สตูดิโอออกแบบขนาดเล็กที่พลางตัวกลืนไปกับธรรมชาติรอบๆ จนผู้ที่ผ่านไปมาย่าน ถนนพหลโยธิน ซอย 2 อาจไม่ทันสังเกตเห็น ภายในมีบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น น้องๆ นั่งสเก๊ตช์งานไปพลาง คุยกันไปพลาง มีโมเดลของโปรเจ็กต์งานที่กำลังช่วยกันทำอยู่ตรงกลางโต๊ะยาว ต่างกันกับออฟฟิศทั่วไปที่แต่ละคนจดจ่ออยู่กับหน้าจอของตนเองอย่างที่เคยพบเห็น

พื้นที่ทำงานของ ASWA

จุดเริ่มต้น
สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมทำมือนี้ก่อตั้งโดยคู่สามี-ภรรยา คุณอุ้ย-พุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโช-โชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์ เส้นทางของคุณอุ้ย หลังจากเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ไปศึกต่อ M.S. Advanced Architectural Design ที่ Columbia University เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานที่ Architectkidd อยู่ประมาณ 4-5 ปี จึงได้ออกมาเริ่มต้นทำงานของตัวเอง ส่วนคุณโช รู้จักกันกับคุณอุ้ยตั้งแต่สมัยที่เข้าเรียนเป็นรุ่นน้องปี 1 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าทำงานที่ A49 จนมาช่วยทำ ASWA อย่างเต็มตัว ในช่วงแรกทั้งสองคนเริ่มต้นจากการเป็นสถาปนิกอิสระ ได้งานส่วนใหญ่มาจากเพื่อนและคนรู้จัก เมื่อเริ่มมีงานออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่มากขึ้น จึงจดเป็นบริษัทอย่างเช่นในปัจจุบัน

ทีมงาน ASWA

แนวทางการออกแบบ
ASWA จะพยายามออกแบบสถาปัตยกรรมในภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้คนทั่วไปที่แม้ไม่ใช่นักออกแบบก็สามารถเข้าใจได้ โดยเริ่มจากศึกษาบริบทโดยรอบของพื้นที่นั้นๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างรูปทรงของอาคาร และทุกๆ งานจะใช้วัสดุหลักเพียงประเภทเดียว ที่จะสื่อตัวตนของแต่ละงานได้ออกมาเด่นชัด อย่างเช่น Concrete Gallery ที่ใช้การสร้างแบบคอนกรีตหล่อในที่ทั้งหมด บ่งบอกถึงความดิบเปลือย และยังเป็นผืนผ้าใบที่ให้แสงแดดวาดระบายเล่นเมื่อตกกระทบได้ตลอดวัน Bitwise Headquarter ที่ทั้งอาคารถูกหุ้มด้วย aluminum composite ที่แสดงถึงนวัตกรรม ความทันสมัย อีกทั้งช่องตะแกรงที่สื่อถึงการเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ หรือ สตูดิโอของ ASWA เองก็ใช้เมทัลชีทไล่ตั้งแต่ผนังขึ้นไปถึงหลังคา เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างที่ว่างภายใน ให้มีความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ สร้างความตื่นตาตื่นใจเมื่อคนเข้ามาภายในสถาปัตยกรรมได้ เนื่องจากพื้นที่รอบๆ ของสถาปัตยกรรมอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต ด้วยปัจจัยภายนอกมากมาย แต่ที่ว่างภายในยังคงสามารถดูแลควบคุมได้ ให้อยู่คู่กับสถาปัตยกรรมได้ไปตลอดถาวร

ผลงานการออกแบบของ ASWA
ผลงานการออกแบบของ ASWA

เครื่องมือ
นอกจากเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้กันทั่วไปแล้ว ทางสตูดิโอยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความคิดด้วยมืออย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสเก๊ตช์ ร่างแบบ รวมถึงการตัดโมเดล ภายในออฟฟิศจะไม่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่จะใช้เป็น laptop ที่สามารถพับเก็บได้ เมื่อต้องการใช้พื้นที่เพื่อการเขียนมือหรือทำโมเดล อีกทั้งยังง่ายต่อการพกพา หากต้องไปออกไปประชุม หรือทำงานข้างนอก คุณอุ้ยและคุณโชมักจะอธิบายงานกับน้องๆ ผ่านการเขียนมือมากกว่า โดยจะหยิบใช้ laptop เมื่อถึงเวลาจำเป็น อย่างการตอบอีเมล เป็นต้น

บรรยากาศการทำงาน

รูปแบบการทำงานและระยะเวลา
เมื่อได้โปรเจ๊กต์มา หลังจากที่สรุปความต้องการของลูกค้า ขนาดพื้นที่ และรูปแบบได้แล้ว ทางสตูดิโอก็จะส่งข้อมูลส่วนนี้ไปให้ลูกค้าตรวจสอบดูก่อน จากนั้นจึงส่งต่องานให้น้องๆ หากมีแนวความคิดเริ่มต้นก็จะสเก๊ตช์ให้ไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง พร้อมกับให้ดูบริบทประกอบด้วย ในช่วงเริ่มต้นแนวความคิดไปจนถึงการพัฒนาแบบร่าง จะมีส่งงานให้ลูกค้าประมาณ 2-3 อาทิตย์ต่อครั้ง หากเป็นงานที่ไม่ใหญ่จะใช้เวลาดำเนินการตลอดจนแบบก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด โดยประมาณ 3 เดือน ส่วนงานโครงการใหญ่จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปจนถึง 1 ปี

มุมมองจากด้านบนของสตูดิโอ ASWA

การออกแบบออฟฟิศ
จุดเริ่มต้นที่จะสร้างออฟฟิศเกิดจากลูกชายตัวน้อย จากเดิมที่อยู่อาศัยและทำงานอยู่ในคอนโด 2 คน เมื่อเริ่มเป็นครอบครัว จึงย้ายกลับมาอยู่บ้าน หลังจากที่ไปตระเวนดูตึกแถวและสำนักงานให้เช่าแล้ว ก็ยังไม่ถูกใจกับพื้นที่ จนมาเจอบ้านเช่าในละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย เจ้าของบ้านต้องการให้ทางเราปรับปรุงให้ จึงได้คุยตกลงเพื่อขอเช่าพื้นที่จอดรถหน้าบ้านส่วนหนึ่ง เพื่อทำออฟฟิศของตัวเอง ด้วยพื้นที่ขนาดเล็กและทั้งคู่ชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบเจอผู้คน ผนังอาคารโดยรอบส่วนใหญ่จึงเป็นผนังทึบ จะมีเพียงช่องเปิดเล็กๆ เพื่อให้พอเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในอยู่บ้าง หรือบางช่องมีลักษณะที่แคบและยาว อยู่พอดีกับระดับสายตาเวลานั่งทำงาน เพื่อให้สามารถมองออกไปเห็นต้นไม้ได้ และสร้างคอร์ทสี่เหลี่ยมตรงกลางเพื่อให้มีแสงธรรมชาติเข้ามา เป็นสวนหย่อมขนาดเล็กที่มีต้นกันเกรายืนเด่นเป็นหลักอยู่หนึ่งต้น ทำหน้าที่ช่วยกรองความร้อน รูปทรงของออฟฟิศเกิดจากความต้องการที่ไม่อยากให้อาคารดูเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเรียบๆ ที่ดูน่าเบื่อและอึดอัด อีกทั้งยังทำฝ้าให้เป็นไปในแนวเดียวกับความลาดเอียดของหลังคา เพื่อให้ดูโปร่งและรู้สึกเหมือนอยู่บ้านที่มีหลังคาเอียงแบบหลังคาจั่ว ส่วนวัสดุที่ใช้เมทัลชีทสีดำตั้งแต่ผนังไปจนถึงหลังคา เนื่องจากต้องการให้อาคารไม่ดูโดดเด่น สามารถพลางตัวไปกับต้นไม้และธรรมชาติโดยรอบ อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่มีราคาถูกอีกด้วย

บรรยากาศการทำงาน

การออกแบบเวลา
10.00 น. เป็นเวลาเริ่มงาน แต่ไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องมาให้ตรงเวลา สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของน้องๆ แต่ละคน และจะพยายามไม่ให้อยู่ดึก หรือต้องมาทำงานในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เพราะทางสตูดิโอให้ความเคารพกับเวลาส่วนตัวของทุกคนมาก เพื่อที่จะได้ใช้ไปกับครอบครัว พ่อ แม่ เพื่อน หรือคนที่เรารัก

การคัดเลือกบุคลากร
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ASWA ไม่เคยประกาศรับพนักงาน และนักศึกษาฝึกงาน เนื่องจากไม่มีช่องทางประกาศอย่าง Facebook มีเพียงเว็บไซต์ และผลงานที่ได้ลงตามเว็ปไซต์ ต่างๆ อย่าง Archdaily, Designboom, Architizer, Arch2o หรือ Dezeen เป็นต้น แต่ปีนี้กลับมีน้องๆ นักศึกษาสนใจมาฝึกงานด้วยถึง 5 คน นอกจากนี้ยังเคยมีนักศึกษาจากต่างประเทศ อย่าง ลักเซมเบิร์ก ไต้หวัน นิวซีแลนด์เข้ามาฝึกงานด้วย แสดงให้เห็นว่าทั้งพนักงานและนักศึกษาที่ติดต่อเข้ามา ต้องมีความสนใจในรูปแบบงานของสตูดิโอในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงคัดเลือกจาก portfolio เป็นรายบุคคลอีกที

ผลงานการออกแบบของ ASWA

แบ่งปันประสบการณ์ของ ASWA
ASWA เป็นสตูดิโอออกแบบขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่เกิดจากความฝันของคุณอุ้ยและคุณโช และเชื่อว่าสถาปนิกอีกหลายๆ คนก็เช่นกัน ขอให้อย่าท้อแท้ต่ออุปสรรค ทำในสิ่งที่รักและชอบ นำสิ่งที่เราชอบและลูกค้าชอบมาผสมกัน และทำให้ออกมาดีที่สุด สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีคือเมื่อมีคนเริ่มยอมรับในสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำ มีคนเห็นว่างานที่เราทำสมควรแก่การเผยแพร่ และ connection ในเพื่อนหรือคนรู้จัก เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำสตูดิโอมาก

คุณอุ้ย-พุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโช-โชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์

คุณอุ้ย-พุทธิพันธ์ อัศวกุล และคุณโช-โชติรส เตชะมงคลาภิวัฒน์
“งานแต่ละงานเราส่งไปในเว็บไซต์ต่างประเทศ เพราะอยากให้มีคนมาตัดสินว่าควรเผยแพร่หรือเปล่า อย่ากลัวว่าจะเป็นอย่างไร อย่ากลัวที่จะล้ม เราเปิดออฟฟิศก็มีอุปสรรค ไม่ได้ราบเรียบมาก ถึงจะมีงานที่โดนปฏิเสธ แต่ก็ยังมีโอกาสได้อีกเรื่อยๆ เราพยายามดิ้นรน ท้าทายให้ทุกคนรู้จักว่าเราคือ ASWA”

Pin It on Pinterest

Shares
Share This