Sher Maker การออกแบบร่วมกัน ไม่ใช่แค่รูปแบบ แต่เป็นกระบวนการ

Text: อ.ดร.จิรันธนิน กิติกา
Photo: Sher Maker

เฌอ เมคเกอร์ (Sher Maker) เป็นกลุ่มสถาปนิกที่ทำงานออกแบบบนพื้นฐานของการปฏิบัติงานจริง คุณโอ๊ต ธงชัย จันทร์สมัคร และคุณตุ๋ย พัชรดา อินแปลง สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง เฌอเมคเกอร์ จากประสบการณ์ทำงานก่อสร้างด้วยวัสดุทางเลือกต่างๆ อาทิ ไม้ไผ่ กระดาษ ผ้า และเซรามิก ทำให้เกิดทักษะงานช่าง งานฝีมือ ประสบการณ์ และความเข้าใจในการออกแบบร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้กระบวนการออกแบบของเฌอเมคเกอร์มีความเฉพาะตัว และสะท้อนแนวคิดการออกแบบร่วมกันเป็นอย่างดี

ธงชัย จันทร์สมัคร และ พัชรดา อินแปลง สถาปนิกผู้ก่อตั้ง เฌอเมคเกอร์ ในการทำงานระหว่างวันบนพื้นที่ทำงาน co-working ณ ร้าน Localist บนถนนช้างม่อย

แนวคิด Co-create หรือ การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ของเฌอเมคเกอร์ นั้นไม่ได้ปรากฏเฉพาะการได้มาของผลงานชั้นสุดท้ายเท่านั้น ในแต่ละโครงการเฌอเมคเกอร์ได้ใช้กระบวนการออกแบบร่วมในแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคุยงานในเบื้องต้น การปรึกษาหารือ และการแนะนำทิศทางของโครงการ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่การออกแบบตามโจทย์ของลูกค้าที่ได้รับมา หากแต่มองกลับไปที่จุดเริ่มต้นของโจทย์ เพื่อสร้างคำถามและสร้างโจทย์การออกแบบด้วยวิธีการใหม่ๆ เครื่องมือที่เฌอเมคเกอร์ใช้ในการคุยและเก็บข้อมูลกับลูกค้าคือ การทำ Design thinking ร่วมกับเจ้าของโครงการ ทำให้แต่ละโครงการเกิดแนวคิดและกระบวนการสร้างอาคารที่เชื่อมโยงระหว่างมุมมองของสถาปนิกและเจ้าของโครงการร่วมกัน

โครงการลานดิน (LANDIN) ที่ตั้งใกล้ชุมชนวัดโป่งน้อย

โครงการลานดิน (LANDIN) ซึ่งเป็นโครงการที่ลูกค้าเริ่มต้นจากความต้องการง่ายๆ คือการสร้างร้านกาแฟบนพื้นที่ของตัวเอง ที่อยากให้มีความโดดเด่น สร้างรายได้ และคืนทุนเร็ว เมื่อเฌอเมคเกอร์ได้ศึกษาพื้นที่และมุ่งไปที่การทำงานร่วมกับเจ้าของโครงการ ทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ว่า อะไรคือการสร้างศักยภาพแก่ที่ดินผืนนี้ที่เหมาะสม ด้วยบริบทพื้นที่ดินที่เงียบสงบในซอยชุมชนใกล้วัดโป่งน้อย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากกระบวนการหารือร่วมกัน ได้ออกมาเป็นโจทย์ใหม่คือ การสร้างลานชุมชนร่วมสมัย และพื้นที่ร้านให้เช่า โดยมีร้านกาแฟ เป็นงานออกแบบหลักที่กำหนดภาพลักษณ์ของที่ดินผืนนี้ ภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณและเวลา เฌอเมคเกอร์ใช้การออกแบบส่วนคลุมร้านกาแฟให้เกิดความโดดเด่นจากถนนชุมชน แต่ยังคงมีความกลมกลืนกับบริบทธรรมชาติของที่ตั้ง

โครงการปรับปรุงปั๊มน้ำมัน บนถนนสารภี

จุดแข็งในการออกแบบของเฌอเมคเกอร์คือการพัฒนาทักษะและการศึกษาวัสดุทางเลือก ร่วมกับการทดลองโครงสร้าง ทำให้งานออกแบบของเฌอเมคเกอร์นั้นมีความโดดเด่นในเรื่องของรายละเอียดทางโครงสร้างและส่วนคลุมอาคาร ข้อสรุปของการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและช่างฝีมือท้องถิ่นคือการใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตบนโครงอาคารที่โปร่ง โล่ง เบา และก่อสร้างง่าย ทำให้พื้นที่ภายในอาคารโล่งและโปร่งแสงในช่วงกลางวัน อีกทั้งตัวอาคารเมื่อเปิดไฟจะสะท้อนแสงสว่างออกมาในเวลากลางคืนอีกด้วย โครงการลานดินทำหน้าที่เป็นพื้นที่ใหม่ของชุมชน แนวคิด Co-create ของเฌอเมคเกอร์นั้นจึงเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งเฌอเมคเกอร์วางตำแหน่งของตัวเองไม่ใช่แค่ผู้ออกแบบ แต่เป็นทั้งผู้ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมมือไปตลอดทั้งกระบวนการออกแบบอาคาร

กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนสารภีผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิก

ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจและสะท้อนกระบวนการการออกแบบร่วมกันของเฌอเมคเกอร์ได้ดีคือปั๊มน้ำมันบนถนนสารภี จากโจทย์คือการปรับปรุงปั้มน้ำมันเก่าเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น เฌอเมคเกอร์สนใจการสะท้อนความเป็นท้องถิ่นผ่านความเป็นชุมชนผู้ผลิตเซรามิค มากกว่าการอ้างอิงเชิงรูปแบบและสัญลักษณ์ใดๆ นำไปสู่การออกแบบโครงการที่สามารถอุปถัมภ์และสะท้อนความเป็นเครือข่ายชุมชนทำเซรามิกในย่านสารถี จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านแนวคิดโครงการที่ว่า “Pearl on Cloud” กล่าวคือการออกแบบเปลือกอาคารที่มาจากระเบื้องเซรามิกของชุมชน

การเคลือบสีมุกเพื่อให้ได้ส่วนคลุมอาคารตามแนวคิด Pearl on Cloud

ในการออกแบบนั้นเฌอเมคเกอร์นำกระเบื้องเซรามิกมาเคลือบสีมุกกว่า 3,500 ชิ้น ประกอบกับการทดลองโครงอาคารที่สามารถใช้กระเบื้องเซรามิกเป็นส่วนคลุมร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น หรือ สล่าเมืองนั้นเอง ทำให้อาคารเซรามิกสีมุกนี้โดดเด่นจากบริบท ด้วยตัวเปลือกอาคารที่สะท้อนกับแสงแดดในเวลากลางวัน และแวววาวไปกับแสงไฟจากการสัญจรของรถบนเส้นถนนสารภีในยามค่ำ ยิ่งไปกว่านั้น “การส่งต่อ” ยังเป็นอีกสิ่งที่เฌอเมคเกอร์ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ หลังจากที่อาคารหลังนี้เปิดใช้งาน เซรามิกของชุมชนสารภีได้ถูกนำเสนอและกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกื้อหนุนให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการเป็นผู้ผลิตเซรามิกต่อไปอีกด้วย

การทดลองออกแบบโครงอาคารที่ใช้กระเบื้องเซรามิกเป็นส่วนคลุมร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น
การทดลองออกแบบโครงอาคารที่ใช้กระเบื้องเซรามิกเป็นส่วนคลุมร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น

คุณโอ๊ต และคุณตุ๋ย จากเฌอเมคเกอร์ทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์กับอาษาครูไว้ว่า ในการออกแบบโครงการแต่ละโครงการนั้น สถาปัตยกรรม ควรตอบเกิดประสิทธิผล 3 อย่างด้วยกันคือ เจ้าของโครงการพึงพอใจกับโครงการ ตัวสถาปนิกเองมีความภาคภูมิใจในงานที่ออกแบบ และสุดท้าย สถาปัตยกรรมนั้นสามารถส่งสารไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล

กระเบื้องเซรามิกในแสงสีต่างๆ

Pin It on Pinterest

Shares
Share This