Roundtable: Animals and Me การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้สัตว์

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

การออกแบบสวนสัตว์ที่มีผู้ใช้สอยอาคารเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนุกที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันสักเท่าไร ASA CREW มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ได้แก่ คุณยงชัย อุตระ สัตวแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์ ดร.ฉมาวงศ์ สุริยจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการด้านวิชาการและกายภาพ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกี่ยวกับแนวโน้มการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้สัตว์



ASA CREW: ตอนนี้รูปแบบของโครงการสวนสัตว์ต่างๆ ที่มีในประเทศไทยมีลักษณะใดบ้างคะ
คุณยงชัย : ในประเทศไทย ถ้าเฉพาะขององค์การสวนสัตว์มี 7 แห่ง และของเอกชนที่มีขนาดใหญ่ มีประมาณ 2 แห่ง อย่างของซาฟารีเวิลด์นี่ จุดดึงดูดลูกค้าคือโชว์ ส่วนขององค์การสวนสัตว์จะเน้นส่วนแสดง นอกจากนี้ก็มีสวนนก ที่มีขนาดใหญ่หน่อยก็จะมีที่จังหวัดชัยนาท ตอนนี้เทรนด์การทำกรงนกใหญ่ขนาด 3-5 ไร่ นี้ค่อยๆ น้อยลง เพราะจัดคอลเลคชันนกที่จะปล่อยยากมาก อย่างแรกคือคนต้องเห็นนกได้ชัด อย่างที่สองคือสีต้องสวย แล้วโดยส่วนใหญ่นกบ้านเราจะสีเขียวๆเทาๆ ไม่ค่อยมีสีสดสะดุดตา อย่างที่สามคือนกต้องไม่ทะเลาะกันครับ เพราะว่านกบางพวกมันเป็นนกกินเนื้อ หรือนกบางพวกพอมันจับคู่ผสมพันธุ์ปุ๊บ มันจะมีเขตของมัน ถ้าใครไปยุ่งกับเมียมัน มันตีตายเลย ส่วนอควาเรียมจะมีจำนวนเยอะกว่า เพราะรายได้ดีครับ มีทั้งแบบน้ำจืดและน้ำเค็ม



ASA CREW: ฟังคุณหมอแล้ว รู้สึกว่ามีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงตอนออกแบบเยอะเหมือนกัน สถาปนิกและภูมิสถาปนิกจะต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้างคะ

คุณยงชัย : ขั้นแรกเจ้าของโครงการต้องกำหนด requirement ให้สถาปนิกก่อน แต่ทีนี้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นคือเจ้าของโครงการเองก็ไม่มีความรู้ แล้วพอสถาปนิกก็ไม่รู้ด้วย มันก็เลยได้แค่สวนสวยๆ ออกมา มองจากคนภายนอกก็คือจัดสวนสวยจังเลย แล้วก็มีตัวอะไรไม่รู้วิ่งไปวิ่งมา คือมีแค่สวนและสัตว์จริงๆ (ยิ้ม) ซึ่งเวลาให้อาหาร เราต้องโยนเข้าไปข้างหน้า แต่เวลาที่สัตว์มันป่วย ที่เราต้องชั่งน้ำหนักหรือฉีดยาสัตว์ เราจะไม่สามารถทำได้

อ.ฉมาวงศ์: ผมก็มองเห็นปัญหาเดียวกันครับ เพราะผมมองว่าสัตว์แต่ละชนิด มันก็เหมือนกับผู้ใช้โครงการ ซึ่งเวลาเราทำการออกแบบก็ต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง ถ้าเราไม่เข้าใจความต้องการของสัตว์ ไม่เข้าใจพฤติกรรม เราจะไม่สามารถออกแบบได้ตอบสนองความต้องการของเค้า อย่างที่คุณหมอพูดเรื่องปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากประสบการณ์มีนิสิตทำวิทยานิพนธ์ บางคนจะจับเฉพาะทางไปเลย เช่นบางคนดูเรื่องนกกระเรียน บางคนดูเรื่องวัวแดง ล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาดูแค่เรื่องลิงอย่างเดียว พบว่าสังคมของลิงมันก็ซับซ้อนมาก นี่คือแค่ลิงชนิดเดียวนะครับ แล้วคือสวนสัตว์มันรวมตั้งไม่รู้กี่ชนิด ประเด็นหลักคือเราต้องเข้าใจผู้ใช้ เพราะว่าผู้ใช้ในมุมมองของคนทั่วไปหรือเจ้าของโครงการ บางทีจะเน้นทางด้านผู้ชมค่อนข้างเยอะ แต่ในฐานะคนที่ทำสวนสัตว์กันจริงๆ จะเข้าใจว่าน้ำหนักที่ต้องเท่าๆ กันเลย หรืออาจจะเยอะกว่าด้วยซ้ำก็คือผู้ใช้ที่เป็นสัตว์ เพราะเค้าเป็นผู้ใช้สอยที่อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วเค้าคือต้นทางของการที่โครงการจะออกมาดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้นเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ถือว่าเป็นอันดับแรกที่ต้องเข้าใจที่สุด

 

ASA CREW: องค์ประกอบของการออกแบบส่วนแสดงสัตว์ที่ดี ควรประกอบด้วยอะไรบ้างคะ
คุณยงชัย : อยากให้ดูภาพประกอบ ส่วน E ในภาพนี้คือ Exhibition หรือส่วนแสดง แรกเริ่มเลยเราจัดให้สัตว์อยู่ในคอกกัก (D=Den) สี่เหลี่ยม ปล่อยมันวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในนั้น เวลาให้อาหารก็โยนให้มันกิน


อย่างที่กล่าวไปคือลักษณะนี้สัตว์อาจจะไม่ได้พักผ่อนเลย และเข้าไปดูแลรักษาสัตว์ได้ยาก รูปแบบต่อมามีการพัฒนาเพิ่มรายละเอียด เช่น แยกส่วนคอกกักออกมากจากส่วนแสดง เพื่อให้สัตว์มีที่พัก เมื่อเวลาที่สัตว์มีลูกแล้วอาจเริ่มทะเลาะกับพ่อกับแม่ ก็ต้องทำคอกเพิ่มขึ้น หรือบางทีเวลาที่สัตว์ป่วย ซึ่งสวนสัตว์จะมีกฎว่าสัตว์ที่ไม่สมบูรณ์ ป่วย หรือชรา ห้ามแสดงให้คนดู เราก็ต้องมี exercise yard เพิ่มไว้ข้างหลังด้วย เอาไว้ในกรณีที่มันป่วย หรือมันแก่ หลังจากนั้นพอเรามีปัญหาว่าเมื่อต้องรักษาพยาบาลสัตว์ หรืออยากชั่งน้ำหนัก แล้วต้องวางยาสลบทุกครั้ง การออกแบบต่อมาจึงเพิ่มส่วนที่เรียกว่า rest way เข้าไป ซึ่งเป็นคล้ายๆ ทางเดินที่เชื่อมต่อระหว่างคอกกักกับส่วนแสดง ซึ่งจะมีระบบเป็น platform ชั่งน้ำหนัก ทำให้สะดวกมากขึ้น

อ.ฉมาวงศ์: ส่วนแสดงนี่ ผมว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะซับซ้อน เวลาจะออกแบบจริงๆ ก็ต้องได้ข้อมูลจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญบอก คือเราทำงานร่วมกันนะครับ คือเมื่อเราได้รับ space requirement มาจากทางสวนสัตว์ ผู้ออกแบบก็นำมาจัดให้มันถูกที่ถูกทาง ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม อย่างทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมเราจะช่วยดูทิศทางแดด ลม พืชพรรณ วัสดุ shape รวมถึง form และการออกแบบต่างๆ ให้มันสวยงามสำหรับคนดูและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์


ASA CREW:  แล้วถ้าองค์ประกอบของสวนสัตว์ทั้งหมดเลย มันมีอะไรที่สำคัญๆ บ้างคะ ปัจจุบันผู้ชมจะต้องการอะไรบ้างจากการชมสวนสัตว์

อ.ฉมาวงศ์: ย้อนอดีตสักนิดหนึ่งแล้วกันนะครับ ตอนแรกจะเน้นการจับสัตว์เข้ามาอยู่ในกรง แล้วก็เอาคนมาดูเพื่อให้หวนระลึกถึงธรรมชาติ มันเริ่มมาจากตั้งแต่ในวังของกษัตริย์ แล้วพัฒนาการมันก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ มีการจัดพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น ถัดมาเมื่อพื้นที่ใหญ่ขึ้นแล้วก็ค่อยๆ มีการออกแบบปรับแต่งสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับถิ่นที่สัตว์เคยอยู่ มีการเพิ่มต้นไม้และบ่อน้ำ เพื่อให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติออกมา นักออกแบบต้องคิดว่าสัตว์บางชนิดใช้เวลา 70-80% ในการหาอาหาร ถ้าเราไปโยนให้ มันก็จะไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ต้องออกแบบให้เอาอาหารไปซ่อนบนพุ่มไม้ หรือใต้หญ้าแห้ง ให้มันใช้ชีวิตคล้ายกับอยู่ในธรรมชาติ จนมาถึงแนวโน้มล่าสุด จะใช้คำว่า landscape emersion คือพยาม blend ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตของสัตว์ และการชมของผู้คนให้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด ให้มันเหมือนกับสภาพแวดล้อมจริงมากที่สุด ถ้าจะพูดในภาพใหญ่ สวนสัตว์สมัยก่อนเรามองว่ามันเป็นแค่ประเภทหนึ่งของ theme park มีพัฒนาการจากที่เคยให้ความสำคัญไปที่คนดูเป็นหลัก ก็มาเพิ่มน้ำหนักให้ทางสัตว์ ล่าสุดที่ผมทำงานร่วมกับคุณหมอและคระทำงานขององค์การสวนสัตว์ ได้พยายามเอานโยบายขององค์การฯ เข้ามา ซึ่งมันสอดคล้องกับสากลนะครับ ว่าสวนสัตว์ต้องเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ ที่พักผ่อนหย่อนใจ และที่ศึกษาวิจัย

คุณยงชัย:  เพิ่มเติมในส่วนของคนดูแลสัตว์นะครับ ในสวนสัตว์ขนาดใหญ่จะทำ service way ไว้เป็นวงแหวนรอบๆ เพื่อให้เข้าถึงได้จากทางด้านหลังโดยที่ไม่รบกวนผู้ชมด้านหน้า นอกจากนี้ต้องการคลังอาหาร (commissary) เมื่ออาหารแห้งและอาหารสดเข้ามาจะตรวจนับ วัดชั่ง เก็บ และจ่ายออกจากตรงนั้น แล้วก็มีโรงพยาบาลสัตว์

อ.ฉมาวงศ์ ในส่วนที่จะเป็นจุดพัก จุดหมายตา ที่จอดรถ ที่ขายตั๋ว อันนั้นคือตามมาตรฐานของการออกแบบสวนสาธารณะหรือ theme park ทั่วไป ว่ามันต้องมีในทุกระยะเท่าไร ซึ่งทางคุณหมอเองก็มีการเก็บข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น บางทีตามมาตรฐานจะบอกว่าคนอาจจะเดินได้ 300 เมตร ถึงจะต้องมีจุดพัก แต่คุณหมอบอกว่าถ้าที่เขาดินต้องใช้ระยะ 200 เมตร เพราะเด็กเป็น user หลัก ทางองค์การสวนสัตว์มีข้อมูลต่างๆ แล้วเอามาแชร์กัน คุณหมอเคยเล่าว่าส่วนจัดแสดงหนึ่ง บางคนใช้เวลาแค่ 22 วินาทีเท่านั้นเอง ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า นักออกแบบต้องทำยังไงให้เค้าอยู่ชมได้นานมากกว่านั้น



ASA CREW: คิดว่าความยากของการออกแบบสวนสัตว์คืออะไรคะ ทั้งในส่วนของนักออกแบบและสำหรับสัตวแพทย์

คุณยงชัย : งบประมาณไม่เคยพอ สวนสัตว์ที่ประเทศโปแลนด์แค่อาคารสำหรับสัตว์จากทวีปแอฟริกา อาคารเดียวก็ 3,000 ล้านแล้ว ของเราส่วนแสดงได้งบประมาณแค่ 10 ล้าน ถ้าเทียบกับต่างประเทศเป็นได้แค่ค่าแบบ ของเรารวมค่าออกแบบและค่าก่อสร้างด้วย คุณว่าอันไหนมันจะดีกว่ากัน อย่างที่บอกว่ามันก็จะมีแต่หน้าบ้านสวยๆไง ไม่มีหลังบ้าน
อ.ฉมาวงศ์ : ผมว่าความยากคือเป้าหมายหนึ่งที่อยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม คือให้คนเข้ามา “อิน” กับสัตว์ อยากเป็นส่วนร่วมของการช่วยเหลือไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง สวนสัตว์ควรจะมีความยืดหยุ่นหรือว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ ทำยังไงให้ดึงการมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงการออกแบบ เพราะว่าหลายๆ ที่แม้แต่องค์การสวนสัตว์ เป้าหมายหลักคือให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดี แต่บางทีมาครั้งเดียวมันก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้น มันเป็นทั้งการดีไซน์กายภาพ และดีไซน์กระบวนการ ผมว่าถ้าทำตรงนั้นให้มันเกิดขึ้นได้ ก็จะ win-win ทั้งสองฝ่าย ประชาชนได้เกิดความเข้าใจที่ดี กลับมาเยี่ยมชมบ่อยๆ

Pin It on Pinterest

Shares
Share This