เนินเขาไข่มุกกับแนวคิด Zero Waste

เรื่อง : สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล
ภาพ :  HAS design and research

Courtesy of Shanghai Exhibition Center

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานการออกแบบพาวิลเลียน Pearl Art Museum (PAM) x Life and Art boutique (LAb) ที่จัดแสดงในงาน Shanghai Design Week 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2562 งานนี้เป็นงานจัดแสดงและกิจกรรมเสวนาประจำปีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้า การบริการในแวดวงการออกแบบ ซึ่งจัดขึ้นที่ Shanghai Exhibition Center อาคารเก่าแก่สไตล์โซเวียตที่สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจีนและรัสเซียเมื่อ 65 ปีก่อน กลางเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

Hidden Mountain of Art Space (Courtesy of HAS design and research)

ในปีนี้ ภายในงานประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มธุรกิจชั้นนำกว่าร้อยองค์กร แต่ที่เตะตามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นพาวิลเลียนของ Pearl Art Museum ภายใต้ชื่อ Hill of PAM ที่มีความน่าสนใจทั้งแนวคิดการออกแบบ การใช้งาน และการตอบโจทย์เฉพาะตัวที่มากไปกว่าการออกแบบ จากการพูดคุยกับผู้ออกแบบสถาปนิกชาวไทย คุณป้อ – กุลธิดา ทรงกิตติภักดี ที่อยู่ในวงการออกแบบจีนมาระยะหนึ่งและเป็นผู้เขียนหนังสือ ตึก ตึก โป๊ะ จังหวะชีวิต สถาปนิก ทุนเปียโน สู่แดนมังกร และคุณ Jenchieh Hung (เจอร์รี่) พาร์ทเนอร์ชาวไต้หวันที่ทำงานร่วมกันในนาม HAS design and research จึงอยากนำมาเล่าและขยายความต่อในส่วนที่น่าสนใจดังนี้

Moveable Unit (Courtesy of HAS design and research)
Moveable Unit (Courtesy of HAS design and research)

สัมผัสประสบการณ์เนินเขาไข่มุก
Hill of PAM มีแนวคิดสำคัญในเรื่องการออกแบบพื้นที่จัดแสดงที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน Shanghai Design Week 2019 สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงาน แต่ยังคงไว้ซึ่งภาษาทางสถาปัตยกรรม ผนวกกับการสอดแทรกพื้นที่ใหม่ 54 ตารางเมตรของพาวิลเลียนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เดิมได้อย่างกลมกลืน และอยู่บนแนวคิดของการนำกลับมาใช้ใหม่แบบ zero waste อีกด้วย หลังจากที่ทีมออกแบบทดลองแนวความคิดมากกว่าสามสิบแบบ จึงมาลงตัวกับแนวคิด “เนินเขาไล่ระดับ” ที่ดึงเอามิติของผนังลาดมาเชื่อมยังพื้นทางเดิน และยังสร้างพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วน รังสรรค์ประสบการณ์ที่น่าสนใจ ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านทางสายตาของผู้เข้าร่วมงาน โดยการสร้างมิติของการบดบังและการเปิดเผยอย่างเป็นลำดับ ทำให้ผู้ค้นได้เกิดความสงสัยความรู้สึกประหนึ่งย่างก้าวเข้าไปในขุนเขา ช่วยกระตุ้นความใคร่รู้และมีส่วนร่วมกับพื้นที่จัดแสดง โน้มน้าวการใช้เวลาเพื่อสัมผัสและทำความเข้าใจที่มาที่ไปของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในส่วนพื้นผิวของเนินเขาที่เป็นจัดวางนิตยสารตกรุ่นไม่ใช้แล้วราว 1,000 เล่ม ถูกชุบชีวิตทาสีปกใหม่เป็นสีขาวไข่มุกสลับกัน 3 โทนสี สามารถเห็นเป็นจุดเด่นได้จากระยะไกล

ผังการเรียงนิตยสาร 3 โทนสีในพาวิลเลียน (Courtesy of HAS design and research)

ความงามและการใช้งานที่เป็นมากกว่าการแสดงออก
โดยปกติแล้วการทำงานออกแบบเชิงพาวิลเลียนจะเน้นในส่วนของการเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์หรือองค์ประกอบทางศิลป์ รวมถึงการใช้งานด้านการนำเสนอเนื้อหาหลักแก่ผู้ชม แต่ในการออกแบบ Hill of PAM ซึ่งถูกแบ่งเป็นสองโซนหลัก มีการมองประเด็นที่ครอบคลุมไปในส่วนของการใช้งานด้านอื่นๆ ด้วย จากการสังเกตภายในงานจะเห็นว่าในพื้นที่โซนแรกถูกวางประดับด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง ได้รับการใช้งานเชิงส่วนร่วมโต้ตอบกับผู้ใช้ผ่านพื้นผิวของวัสดุ ความหนาของลำดับชั้น การตัดกันของสีสันผลิตภัณฑ์และพื้นผิวที่ชัดเจน ทำให้จุดประกายการสนทนาระหว่างผู้คนที่สัญจรไปมากับตัวพาวิลเลียนได้อย่างน่าสนใจ

นิตยสารเปิดได้ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จับต้องได้
(Courtesy of HAS design and research)

ไม่ว่าจะเป็นคนเดินผ่านทำการพลิกดูเนื้อหาของหนังสือที่วางอยู่บนเนินเขา การใช้งานเป็นจุดนั่งพักผ่อน หรือกรณีมีเด็กๆ ปีนป่ายขึ้นลงเล่นอย่างสนุกสนานก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นความบังเอิญที่ผู้ออกแบบไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะมีการใช้งานทำนองนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วความตั้งใจของผู้ออกแบบนั้น ต้องการที่จะออกแบบการใช้งานของพาวิลเลียนให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดงาน ให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นองค์รวมไม่มีการแบ่งแยกเพราะตัวพาวิลเลียนเองคือพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ทั้งหมด การใช้งานที่บังเอิญเกิดขึ้นตามธรรมชาติของผู้คนเหล่านี้อาจจะสื่อความหมายได้ว่า ถ้าพาวิลเลียนของทุกองค์กรสามารถเอื้อพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นส่วนหนึ่งของงานจัดแสดงก็จะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาชมผลิตภัณฑ์มากกว่าการที่จะเป็นแค่เพียงพื้นที่จัดแสดงเฉยๆ เท่านั้น

พื้นผิวของพาวิลเลียนปูด้วยเล่มนิตยสารเรียงกันเหมือนหลังคา สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้ผู้เข้าชม (Courtesy of HAS design and research)

ในขณะพื้นที่โซนสอง นอกจากจะเป็นส่วนแสดงผลงานแนวตั้งโดยเฉพาะหนังสือที่ง่ายต่อการหยิบจับวัตถุจัดแสดงของผู้ชมแล้ว ภายในแต่ละยูนิตบริเวณนี้นั้น ด้านในยังถูกสร้างให้เป็นระบบลิ้นชักเป็นพื้นที่เก็บของเพื่อความสะดวกในการใช้สอยในงานนิทรรศการอีกด้วย ส่วนพื้นที่ด้านในเนินเขายังถูกแบ่งย่อยออกเป็นอีกสองส่วนคือส่วนต้อนรับแขก VIP ที่ผู้ออกแบบได้แหวกเนินเขาให้เกิดการจำลองพื้นที่เสมือนหุบเขาโอบล้อม สร้างความเป็นส่วนตัวสำหรับการพูดคุยกับแขก VIP และจัดแสดงภาพวาด ภาพถ่ายงานศิลปะมากกว่ายี่สิบชิ้นโดยรอบ รวมถึงจอ LED ที่เล่าถึงเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ก็ถูกจัดวางให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกรอบงานศิลปะด้วย ในส่วนสุดท้ายผนังด้านในสุดของพาวิลเลียน มีการยกข้อความคำพูดของนิทรรศการต่างๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์เคยจัดขึ้น โดยข้อความเหล่านี้ตอกย้ำความรู้สึกของผู้ชมงานที่เข้ามาในพาวิลเลียนนี้ เสมือนเดินเข้าชมงานนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์มากกว่าการซื้อขายของเฉกเช่นพาวิลเลียนอื่นๆ ในงาน

Courtesy of HAS design and research

การออกแบบที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
อันที่จริง การออกแบบ Hill of PAM ยังมีอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจจนต้องขยายความ เพราะแนวคิดของการนำกลับมาใช้ใหม่แบบ zero waste ไม่ใด้ถูกนำมาประยุกต์ใช้แค่ส่วนของวัสดุพื้นผิวที่ถูกทำมาจากนิตยสารกว่า 1,000 เล่มเท่านั้น การออกแบบและก่อสร้างผลงานดังกล่าวยังครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ของการถอดประกอบแล้วเคลื่อนย้ายนำไปใช้ใหม่อย่างถาวร โดยตัวพาวิลเลียนจะถูกนำกลับไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณการจัดแสดงสินค้าที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ในบริเวณ Pearl Art Museum หลังจาก Shanghai Design Week 2019 สิ้นสุดลงอีกด้วย นี่จึงเป็นการสะท้อนความสมบูรณ์ในการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานและแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจกว่าที่เราเคยเห็นโดยทั่วไป

Courtesy of HAS design and research

ในฐานะของการเป็นผู้สังเกตการณ์งานออกแบบชิ้นนี้ ผมมีความประทับใจในตัวผลงานทั้งแนวคิดการออกแบบและการควบคุมการก่อสร้าง จนถึงการติดตั้งที่ใส่ใจในรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ Hill of PAM ที่จัดแสดงที่ Pearl Art Museum นี้คือพิพิธภัณฑ์ที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น Tadao Ando และเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในประเทศจีนที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ด้วยแนวความคิดที่ว่า “Let art truly meets life” คือ ให้ศิลปะได้เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คน เช่นเดียวกันกับเนินเขาไข่มุกที่ได้เชื่อมผู้ชมงานกับงานศิลปะเข้าหากัน

Pin It on Pinterest

Shares
Share This