New Waves of Thai Architects คลื่นระลอกใหม่จากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย

เรื่อง: Jenchieh Hung และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี
แปล: Jiaqi Han
ภาพ: ตามระบุใต้ภาพ

เมื่อวาน

Elephant World (Photo by Spaceshift Studio)

คืนวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร หรือ Royal Academy of Arts ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสถาปนิกไทย ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล Royal Academy Dorfman ในปีนี้ ไม่กี่วันหลังจากนั้นนิตยสารชื่อดังต่างประเทศด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบอย่าง Dezeen พาดหัวข่าวออนไลน์ว่า “บุญเสริม เปรมธาดา คือใคร?” เนื้อหาในบทความดึงกระแสความสนใจของผู้อ่านที่ปกติสนใจงานสถาปัตยกรรมจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น มาหยุดอยู่ที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยผ่านผลงานเพียงห้าชิ้นของเขา

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยเจิดจรัสในเวทีสากล เมื่อมองย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2553 ไม่ว่าจะเป็นอาคารมหานคร ตึกระฟ้ากลางกรุงเทพฯ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี โรงแรมโรสวูด และอาคารพักอาศัยเดอะเม็ท อาคารเหล่านี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังจากต่างประเทศทั้งนั้น อย่างไรก็ตามสถาปนิกไทยหลายท่านก็มีผลงานโดดเด่นและได้รับความสนใจจากสมาคมและสื่อทางสถาปัตยกรรมหลายสำนักในต่างประเทศเช่นกัน อาทิเช่น สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ที่ได้รับรางวัล Global Award for Sustainable Architecture จากประเทศฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2555 และ 2559 ตามลำดับ

TEN House (Photo by Spaceshift Studio)

หรือ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ The Asian Everyday: Possibilities in the Shifting World จาก TOTO GALLERY·MA  ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ. 2558

แล้วจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเมืองไทยนั้นเริ่มขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่?

อ้างอิงถึงบทความทางวิชาการของผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง ที่เคยตีพิมพ์ในวารสารอาษาชี้ให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเมืองไทยนั้นไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยธรรมชาติ “แต่เป็นการนำเข้ามาเสียมากกว่า” การเคลื่อนไหวของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในไทยยุคแรกนั้นคงต้องย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1880 (ระหว่างปีพ.ศ. 2423 ถึง พ.ศ. 2433) ซึ่งเป็นการปกครองประเทศในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีนโยบายเปิดประเทศปฎิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยเพื่อพ้นจากการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศในแถบเอเชีย จึงมีสถาปนิกชาวอิตาเลียนและอังกฤษหลายท่านเข้ามาออกแบบสร้างงานสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความล้าหลังในการก่อสร้างและฝีมือช่างที่ไม่สันทัดการสร้างอาคารตามแบบตะวันตก งานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจึงเป็นการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิกที่ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นของไทยและกลายเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่

การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมตะวันตกและไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกไทยหลายท่านในยุคนั้นสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และได้รับอิทธิพลทางแนวคิดมาจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่แพร่หลายในยุค 60 อาทิ การเล่นกับฟอร์มของอาคาร เช่น งานของ เลอ กอร์บูซีเย ในฝรั่งเศส บราซิล และญี่ปุ่น สำหรับผลงานที่สื่อถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเมืองไทยได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งออกแบบโดย พันเอกจิระ ศิลป์กนก ที่ไม่เพียงสื่อถึงสัจจะของวัสดุคอนกรีตผสมกับความเป็นไปได้ทางโครงสร้างและรังสรรค์ที่ว่างในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 20 ได้อย่างลงตัวเท่านั้น แต่ยังประยุกต์นำเอาการยื่นของโครงสร้างหลังคามาสร้างร่มเงาให้กับอาคาร ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบอาคารสมัยใหม่เพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนชื้นในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี

แต่สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยที่เกิดจากการผสมเอกลักษณ์ของอาคารพื้นถิ่นและอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่น่าจะเห็นได้ชัดหลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปีพ.ศ. 2540 เมื่ออุตสาหกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของไทยได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเงิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาคารสํานักงาน ตึกสูง และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบโดยตรง บริษัท สถาปนิกส่วนใหญ่ปิดตัวลงหรือเลิกจ้างพนักงานจํานวนมาก ปรากฏการณ์นี้ยังคงมีผลกระทบยาวต่อเนื่องมาอีกหลายปี จนเข้าปีพ.ศ. 2548 ที่ปัญหาทางเศรษฐกิจค่อยๆ คลี่คลายลง

อย่างไรก็ตามในความมืดมนทางเศรษฐกิจนั้นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยก็ไม่ได้หยุดเคลื่อนไหวสักทีเดียว ในทางตรงกันข้ามภายใต้แรงกดดันทางสภาพเศรษฐกิจและถึงแม้โครงการอสังหาริมทรัพย์จะหยุดตัวลง แต่กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้กับการพัฒนางานสถาปัตยกรรมประเภทอื่นๆ ในส่วนภูมิภาค

ยกตัวอย่างเช่น ผลงานออกแบบหลังคาและระบบระบายน้ำของวัดเขาพุทธโคดมที่สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ออกแบบไว้ในปี พ.ศ. 2542 ตามมาด้วยอาคารกุฏิพระ กำแพงวัด พิพิธภัณฑ์ อาคารเรียนพระสงฆ์ และหอพระไตรปิฏกในวัดเดียวกัน ซึ่งได้รับรางวัล AR Emerging Architecture Awards จากนิตยสาร Architecture Review นิตยสารสถาปัตยกรรมประเทศอังกฤษ

Walled Monks Cell (Photo by Spaceshift Studio)

อีกหนึ่งตัวอย่างคือผลงานของกลุ่มสถาปนิกชุมชน CASE ที่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2539 โดยปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ได้ร่วมมือกับคนในชุมชนปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม โครงการทดลองออกแบบบ้าน TEN บ้านทาวน์เฮ้าส์ในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยโดยมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน และตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของยูนิตที่แตกต่างกัน และรางวัลศิลปาธรที่ปฐมาได้รับจากกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาปนิกไทยยังคงโดดเด่นและสร้างสรรค์ผลงานที่ดึงดูดความสนใจจากประชาคมภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจ

ณ วันนี้
สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากสถาปนิกชาติตะวันตกเท่านั้นยังแผ่ขยายมาสู่การปฏิบัติวิชาชีพและเป็นสื่อวิชาการในประเทศจีน ตัวอย่างแรกๆ เช่นผลงาน Shared House ที่ปักกิ่ง Commune By The Great Wall ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก สเปซไทม์

Shared House (Photo by Spaceshift Studio)

และงานล่าสุดของสถาปนิกไทยที่ออกแบบโดย Department of ARCHITECTURE โรงแรมตากอากาศ The MIST Hot Spring ในมณฑลเหอหนาน ที่ผสานการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน

MIST Hot Spring Hotel (Photo by W Workspace)

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์นิทรรศการผังเมืองของเมืองกว่างโจวยังได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการสถาปัตยกรรมไทยที่เสนอความเป็นไทยผ่านทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของผลงานสถาปนิก 18 ท่านจาก 12 บริษัท ที่เข้าร่วมในนิทรรศการบนพื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร

Thai Contemporary Architecture Exhibition (Design by HAS design and research)

ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมและแนวคิดเชิงวิชาการนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าสถาปนิกไทยได้พัฒนาไปในทิศทางที่ชัดเจนสองทางด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “ปฏิบัติทางสังคม” เห็นได้ชัดจากผลงานของ ธีรพล นิยม, บุญเสริม เปรมธาดา, ปฐมา หรุ่นรักวิทย์, สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ผลงานของพวกเขาเน้นการมีส่วนร่วมผ่านการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และวาทกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ, โรงเรียนเพื่อชุมชน, ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ต่ำ, วัด เช่นเดียวกับการตระหนักถึงสภาพแวดล้อมและวัสดุที่หาได้ในพื้นถิ่น เช่น ไผ่ ไม้ อิฐ คอนกรีต และอื่นๆ เพื่อทดลองหาความเป็นไปได้ในเชิงลึกของวัฒนธรรมในภูมิภาคนั้นๆ

Samsen Street Hotel (Photo by W Workspace)

สถาปนิกกลุ่มนี้สั่งสมความพยายามในการสร้างภาษาทางสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างผ่านการตีความของถิ่นที่ ซึ่งเกิดเป็นวาทกรรมที่สามารถโต้ตอบแนวคิดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับมาจากโลกตะวันตกได้อย่างพอเพียง รวมไปถึงการนำงานวิจัยมาเป็นแนวทางในการออกแบบ เช่น กรณีศึกษาของ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่ให้นิยามว่า ‘สถาปัตยกรรมสารเลว’ เขาเก็บข้อมูลลักษณะอาคารที่พบเห็นได้ทั่วไปแต่คนท้องถิ่นไม่ให้ความสนใจ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาชั่วคราวเพื่อใช้งานเฉพาะกาลแสดงถึงการขยายตัวของเมืองหรือเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น บ้านพักคนงานก่อสร้าง, ชุมชนบ้านริมน้ำ, โรงแรมม่านรูด, และอื่นๆ งานค้นคว้านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นอีกมุมของกรุงเทพฯ แต่ยังเป็นวิธีการออกแบบในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในผลงาน โรงแรมนันดา เฮอริเทจ, บ้านพักอาศัยศาลาอารียา และโรงแรมสามเสนสตรีท เมื่อเปลือกสถาปัตยกรรมเป็นเกราะป้องกันพื้นที่ด้านในจากสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายภายนอก ในขณะที่กิจกรรมในชุมชนถูกสอดแทรกเกิดเป็นการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

อีกหนึ่งแนวทางคือ “ปฏิบัติ(เมือง)นิยม” เห็นได้จากผลงานของ นิธิ สถาปิตานนท์, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, อมตะ หลูไพบูลย์, วสุ วิรัชศิลป์ และปิตุพงษ์ เชาวกุล งานส่วนใหญ่ของพวกเขาคืออาคารออฟฟิศ, คอมมูนิตี้มอลล์, รีสอร์ท, ร้านอาหาร และบาร์ ที่คำนึงถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศในการออกแบบสถาปัตยกรรมซึ่งมีความต้องการสูงในเชิงพาณิชย์และประสิทธิภาพในการดําเนินงาน ทำให้เกิดเป็นอาคารใช้งานได้จริงในรูปแบบที่แตกต่างกัน

10 CalTower, TheLabyrinth (Photo by WWorkspace)

ตัวอย่างงานที่เห็นได้ชัดคือผลงาน 10 Cal Tower ของปิตุพงษ์ เชาวกุล เขาวงกตสามมิติที่เด็กและผู้ใหญ่สามารถมีปฏิสัมพันธ์เกิดเป็นความสนุกสนานผ่านจากการเล่นร่วมกัน ผลงานนี้ได้รับรางวัล AR Emerging Architecture ให้เป็นผู้ชนะประจําปี 2015 (พ.ศ. 2558) จากนิตยสาร Architectural Review ของอังกฤษ ซึ่งมี David Adjaye สถาปนิกชาวอังกฤษเป็นผู้ตัดสินและได้กล่าวยกย่องถึงผลงานนี้ว่า “สิ่งที่ชัดเจนมากคืองานนี้ไม่ใช่ประติมากรรม – แท้จริงแล้วมันเป็นโปรแกรมที่ตระหนักถึงการใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมและแนวความคิดรวมถึงปรัชญาทางสถาปัตยกรรม” ตัวอาคารวิพากษ์ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงพื้นที่ใช้งานของชุมชนปัจจุบันนี้ทำไมจึงขาดความน่าสนใจ และขาดความเข้าใจถึงความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนของกิจกรรมที่หลากหลายในอนาคต ช่างภาพสถาปัตยกรรมชื่อดังชาวไทย ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “นี่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงการเคลื่อนไหว มันเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สามารถใช้ในการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน ด้วยวิธีนี้โครงการที่ชนะแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมสามารถทำอะไรและเป็นอะไรได้บ้าง มันไม่ได้เป็นเพียงการเดินทางตรงตามเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหรือทางที่เร็วที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการไหลและเลี้ยวไปมาตามเส้นทางมากกว่า ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับการสำรวจ พบปะ และใช้เวลาร่วมกันของคนในชุมชน ทั้งหมดเป็นไปได้ที่นี่”

จากปฏิบัติทางสังคมสู่ปฏิบัติเมืองนิยมแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของไทยให้ความสําคัญกับ “กระบวนการคิด” มากขึ้นเรื่อยๆ ความเข้าใจนี้ช่วยในการผสมผสานแนวคิดในการออกแบบเชิงปรัชญากับกระบวนการผลิตในทางปฏิบัติ และพัฒนาเป็นแนวทางที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบร่วมกัน

พรุ่งนี้
ในปี พ.ศ. 2563 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC จะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่จะขยายตัวออกไปยังเมืองอื่นๆ และสนับสนุนให้นักออกแบบท้องถิ่นตระหนักถึงความสมดุลระหว่างสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมผ่านงานประกวดแบบต่างๆ ช่วยกระตุ้นและพัฒนาขีดความสามารถในการ “ถ่ายทอด” งานออกแบบให้เป็นที่ประจักษ์ในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ทั้งรถไฟฟ้าและรถใต้ดินขยายระบบบริการออกจากตัวเมืองเกิดเป็นการเชื่อมต่ออาคารสาธารณะต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง รวมไปถึงโครงการ Forestias ที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แมกโนเลียและบริษัทสถาปนิกชื่อดังจากอังกฤษ Foster + Partners สร้างสรรค์พื้นที่ร่วมของ ป่า, ผู้คนวัยเกษียณ, บ้านพักอาศัย, ร้านค้า และบริษัทเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศให้มี “ความเป็นสากลในระดับภูมิภาค”

ไม่ว่าจะเป็น “การเติบโตในแนวดิ่ง” ที่ทำให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่น หรือ “การขยายตัวทางราบ” ที่เพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับสากล ล้วนสะท้อนถึงปรากฎการณ์ขยับเขยื้อนภายในและภายนอกองค์รวมของวิชาชีพสถาปัตยกรรมในไทย หนึ่งในการสํารวจวิวัฒนาการของการเติบโตในแนวดิ่งนั้น บริษัท สถาปนิก 49 และแปลน อาร์คิเตกส์ เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานที่ก่อให้เกิดบริษัทสถาปนิกชั้นนำตามมามากมาย พวกเขาเหล่านั้นเคยทำงานที่ใดที่หนึ่งในสองบริษัทนี้ ก่อนจะออกมาเปิดออฟฟิศของตนเอง อันได้แก่ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค (DBALP), all(zone), Stu/D/O Architects, M Space, IDIN architects และอื่นๆ ผลงานของพวกเขาไม่เพียงสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบในภูมิภาคที่แปรผันกับมิติของเวลา แต่ยังรวมถึงแนวทางในการออกแบบที่ “จี้จุด” สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงบริบทของเมือง และมุ่งหวังให้เกิดการทํางานคู่ขนานระหว่างผู้ออกแบบ ลูกค้า ไปจนถึงเทคนิกการก่อสร้าง

49 HUB (Photo by Chaovarith Poonphol)

ตัวอย่างเช่น ผลงานปรับปรุงโรงงานเก่า 49 HUB ของบริษัท สถาปนิก 49 ที่พยายามเก็บรักษาสภาพอาคารเดิมให้มากที่สุด โดยนำแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของร่องรอยอาคาร ที่สร้างพื้นที่ใหม่แทรกไปกับอาคารเดิมได้อย่างลงตัวและกลายเป็นจุดหมายสำคัญในย่านนั้น  ขณะที่โครงการ ดาดฟ้า ออกแบบโดย M Space นำเสนออาคารผ่านแนวคิดสวนสาธารณะของชุมชนจากงานฝีมือในการก่อสร้าง ผนังกันแดดภายนอกทำมาจากแผ่นอลูมิเนียมเจาะรูและอิฐสำเร็จรูป ส่วนบรรยากาศด้านในสะท้อนลักษณะการใช้งานของชุมชนที่ปะปนไปกับต้นไม้และร้านค้าต่างๆ

DADFA (Photo by W Workspace)

นอกจากนี้ บริษัท วอล ลาเซีย และสถาปนิก ไอดิน ยังได้ทดลองการใช้วัสดุและแรงงานพื้นถิ่นในการก่อสร้าง เช่นอาคารที่พักอุบาสิกา วัดป่าวชิรบรรพต ซึ่งจำเป็นต้องใช้ช่างก่อสร้างต่างถิ่นเนื่องจากงบประมาณที่จำกัดแต่ฝีมือในการก่อสร้างไม่เรียบร้อยนัก เมื่อผู้ออกแบบมองถึงข้อจำกัดนี้ จึงได้ทำการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของอาคารที่มีลักษณะดิบหยาบโดยให้ช่างที่ฝีมือไม่ดีทำงานในส่วนนี้ ตัดกับส่วนอาคารห้องพักที่ถูกออกแบบด้วยผนังเรียบ สะอาดตา ประหนึ่งความสงบที่ได้รับในการปฏิบัติธรรม  อีกผลงานหนึ่งคือ ร้านชาฉุยฟง ในเชียงราย ที่เลือกใช้วัสดุท้องถิ่นจํานวนมากร่วมกับทักษะที่คุ้นเคยของคนงานในพื้นที่ รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างของอาคารที่สัมพันธ์ไปกับทิวเขา ทำให้ตัวอาคารกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของไร่ชา งานนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรท้องถิ่นยังทำให้พวกเขาไม่ต้องออกไปหางานทำไกลบ้านอีกด้วย

Meditation Hub (Photo by Spaceshift Studio)
Chouifong Tea Cafe (Photo by DepthofField)

สำหรับการขยายตัวทางราบของระดับภูมิภาคที่มีทักษะจากต่างประเทศนั้น บริษัทสถาปนิกคิดดี และ สตูดิโอเมค เป็นบริษัทที่ชัดเจนที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อผู้ก่อตั้งของทั้งสองบริษัทสําเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ก่อนย้ายมาทำงานในประเทศไทยมากกว่าสิบปี แนวทางของสตูดิโอผสมผสานการก่อสร้าง เทคโนโลยี วัสดุและช่างฝีมือที่ไม่เหมือนใครตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนางานสถาปัตยกรรมที่ชาวตะวันตกสามารถอ่านและเข้าใจได้ แต่ยังคงไว้ด้วยแนวความคิดทางจิตวิญญาณแบบตะวันออก

Mega Park (Photo by Panoramic Studio)

ผลงาน เมกา พาร์ค และศาลากวนอิม การเล่นกับจังหวะของรูปด้านและการผลิตวัสดุที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้ในการสร้างพื้นผิวที่น่าสนใจให้กับบริบท ผสานกับสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นได้รังสรรค์ลักษณะเฉพาะให้กับพื้นที่นั้นๆ ในรายละเอียดของสถาปัตยกรรมผ่านการประมวลผลของวัสดุและการผลิตแบบแยกส่วนก่อให้เกิดการรวมกันของเทคโนโลยีท้องถิ่นกับตะวันตก เกิดเป็นการพัฒนาการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและหลากหลายรวมถึงสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับพื้นผิวการก่อสร้าง

Guan Yin Pavilion (Photo by Spaceshift Studio)

ขณะที่บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ และรีเสิร์ช สตูดิโอ ปาณินท์ ได้สร้างความเป็นไปได้ของ “ชนบทสมัยใหม่” ที่เคยแบนราบให้มีความน่าสนใจ ผลงานป่าในกรุงออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ ร่วมกับ ทีเค สตูดิโอ ได้ชุบชีวิตพื้นที่ขยะเดิมให้กลายเป็นป่าเต็มไปด้วยต้นไม้เกือบ 60,000 ต้น และสร้างกำแพงดินอัดสูง 8 เมตร สำหรับกั้นพื้นที่อาคาร ทำให้เกิดภูมิทัศน์ของเมืองที่ต่างออกไป

The Metro Forest(Photo by Rungkit Charoenwat)

ถัดมาคืองานบ้าน House LT บ้านหลังเกษียณหลังนี้สร้างพื้นที่ล้อมความทรงจำของผู้อยู่อาศัยผ่านการเปิดมุมมองสู่วิวชนบทประกอบกับการเลือกใช้วัสดุที่เอื้อกับสภาพแวดล้อมซึ่งสร้างความรู้สึกถึงที่ว่างของความเป็น “ไทย” ได้เป็นอย่างดี

House LT (Photo by Spaceshift Studio)

ถ้าไม่นับ “การเติบโตในแนวดิ่ง” หรือ “การขยายตัวทางราบ” การปฏิบัติวิชาชีพของสถาปัตยกรรมในเมืองไทยแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้ถูกส่งต่อไปทุกภาคส่วนของโลกและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถครอบคลุมการเผยแพร่งานสถาปัตยกรรมมาสู่เมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์ ในปัจจุบันนี้การผสมผสานแนวคิดในเรื่องวัฒนธรรมระดับภูมิภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และพัทยา กลายมาเป็นแนวคิดหลักที่ได้รับการยอมรับ สถาปนิกบางคนย้ายออกจากเมืองหลวงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของภูมิภาคนิยมในการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ใหม่ของงานสถาปัตยกรรมผ่านการสํารวจทางวัฒนธรรม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้สร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีความสร้างสรรค์อย่างแท้จริง อาคารเหล่านี้ไม่เพียง แต่ตอบโจทย์ความต้องการและข้อกำหนดกฏระเบียบต่างๆ ของอาคาร แต่ยังปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรัฐบาลในหลายๆ แง่มุม ผ่านการใช้งานของพื้นที่ วัสดุก่อสร้างและโครงสร้างที่ตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศและสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นต้น และเป็นไปได้ว่าอาคารที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกเหล่านี้จะเป็นแนวทางการออกแบบในอนาคตสําหรับสถาปนิกไทยรวมถึงสถาปนิกทั่วโลก

Pin It on Pinterest

Shares
Share This