ASA TAKSIN: การเดินทางสู่โลกนิรันดร์ “กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน”

เรื่อง: กิตติ เชาวนะ
ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง

การเดินทางของเราเพื่อเรียนรู้วิถีความเชื่อและศรัทธาของกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สร้างการขับเคลื่อนที่น่าจับตามอง เริ่มต้นขึ้นที่สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ในชุมชนมุสลิมชานเมืองที่เงียบสงบของจังหวัดสตูลไม่ไกลจากชายแดนต่อเนื่องกับประเทศมาเลเซีย

ตราสัญลักษณ์ ‘กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน’

‘กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน’ เกิดจากการรวมตัวของสถาปนิก วิศวกร นักออกแบบสาขาต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดองค์ความรู้วิชาการด้านสถาปัตยกรรมอิสลามและงานออกแบบที่เกี่ยวข้อง โดยการทำงานร่วมกับองค์กรทางด้านศาสนาและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมุสลิม ด้วยความเชื่อมั่นว่า “สถาปัตยกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง”

อุปกรณ์ในพื้นที่ทำงานของกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน

จากการสนทนากับ ซัลมาน มูเก็ม หัวหน้ากลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชนและสมาชิกในกลุ่ม เกี่ยวกับพื้นฐานความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา พบว่าโลกและธรรมชาติ (Natural Origin) มี timeline จุดกำเนิดที่ 1 ส่วนโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ 2 เกิดขึ้นเพื่อ “ทดสอบศรัทธา” และโลกที่ 3 หรือโลกหน้า เรียกว่า “โลกอาคีเราะห์” โดยพวกเขาทำงานเพื่อ “ผลบุญ” ทำความดีในแต่ละวัน เพื่อเอาไปเสนอต่อ “พระเจ้า” หลังความตายเพื่อขอความเมตตาเข้าสู่สวรรค์ของพระองค์

กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน

คำถามในใจเกิดขึ้นจากการเรียนสถาปัตยกรรมว่า “เราจะทำความดีอย่างไรในวิชาชีพของเรา เพื่อสะสมวิชาความรู้ สะสมผลบุญ ความดี ให้ได้เยอะที่สุด” เมื่อผสานกับความเชื่อ ความหมายของสถาปัตยกรรม ที่ถูกตั้งคำถามกันเสมอในโรงเรียนสถาปัตยกรรม และแวดวงวิชาชีพ จึงเกิดข้อสรุปเป็นกรอบคิดหลักของกลุ่มว่า “สถาปัตยกรรม คือ สถานที่รองรับการทำความดี” ทางกลุ่มจึงมุ่งสร้างสถานที่รองรับการทำความดีเพื่อสังคม ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

บรรยากาศในพื้นที่ทำงานของกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน

สิ่งที่ยากและถือว่าเป็นการทดสอบศรัทธาของกลุ่มที่ “อยากใช้ความรู้ทางสถาปัตย์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและศาสนา” เกิดขึ้นเสมอทั้งในการทำงานแต่ละชิ้น เช่น การขออาสาทำงานออกแบบให้โดยขนโมเดลขนาด 2 เมตร ขึ้นรถไฟฟรีเพื่อไปแสดงงานในการระดมทุนจากผู้ศรัทธา เป็นจุดเปลี่ยนของระบบการทำงานที่ผู้ร่วมศรัทธาทุกคน คือเจ้าของ คือผู้ใช้งาน สถาปนิกต้อง “สื่อสาร” กับทุกคน เพราะสถาปนิกสามารถทำให้สังคมเห็นและเข้าใจได้โดยง่าย โดยทางกลุ่มใช้รูปแบบการออบแบบตามแนวมลายู ผ่านวิถีมุสลิม ซึ่งมีซ้อนทับกันหลายมิติ จำเป็นต้องศึกษาโครงสร้าง วัสดุและรายละเอียดจากงานสถาปัตยกรรมที่ผ่านมาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม

แบบจำลองอาคารผลงานของกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน

หรือ “โครงการญาลันนันบารู” ที่เกิดจากการเห็นปัญหาในพื้นที่ของเด็กและเยาวชนมุสลิม จนเริ่มพัฒนาโครงการร่วมกับกุสต่ะ ผู้นำทางสังคม (ผู้รู้ทางศาสนา) ในการทำวิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัย และได้พัฒนาโครงการจริงเพื่อแก้ปัญหาสำหรับเยาวชน ใช้ความดี ความรู้ และอาชีพ เพื่อช่วยแก้ปัญหา นอกจากนี้การได้รับบริจาคพื้นที่ 30 ไร่เพื่อทำโครงการ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างประกายความหวัง แต่ก็ยังคงมีบททดสอบศรัทธาเรื่องงบประมาณก่อสร้าง จึงได้ใช้ชุดความรู้ การใช้ไม้มะพร้าวเพื่อก่อสร้าง โดยเรียนรู้ภูมิปัญญาร่วมกับชาวบ้าน ปอเนาะ (กระท่อม) ห้องเรียนเล็กๆ และอาคารละหมาดถูกสร้างยกพื้นเพื่อรบกวนพื้นที่บริเวณเดิมน้อยที่สุด การใช้ต้นมะพร้าวเป็นเสาไฟฟ้า หรือการเดินทางที่ลำบากต้องนั่งเรือเข้าไป และเมื่อโครงการเริ่มใช้งานจึงได้เข้าใจว่า “สถาปัตยกรรมมันมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้” สามารถเปลี่ยนแปลงเยาวชนได้หลายร้อยคน ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า “เรามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้”

แบบจำลองอาคารผลงานของกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน

การทำความดี เหมือนสายธารที่หลั่งริน ถึงเราตายไปแต่สิ่งที่เราทำยังเป็นประโยชน์
การร่วมเดินทางทางความคิดดำเนินไปถึงบ่ายแก่ๆ จนเมื่อเสียงสัญญาณบอกเวลาละหมาดจากมัสยิดดังขึ้น เป็นเวลาที่ห้า เมื่อเงายาวเป็นสองเท่า เป็นเครื่องหมายที่เข้าใจได้ตรงกันว่ากลุ่มผู้ร่วมทางต้องเดินทางต่อด้วยศรัทธาตามหลักศาสนบัญญัติ และเราก็ต้องเดินทางต่อเช่นกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางคราวนี้ นอกจากได้เห็นการเดินทางทางความคิด ความเชื่อ และศรัทธาของ “กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน” เรายังได้เข้าใจว่าการเดินทางอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น สามารถสร้างพลังความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีงามมากขึ้นได้เพียงใดผ่าน “สถานที่รองรับการทำความดี”

Pin It on Pinterest

Shares
Share This