Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

ก่อนอื่น อยากให้ช่วยเล่าถึงพัฒนาการของงานอนุรักษ์ในภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา
ตั้งแต่มีการก่อตั้งกรรมาธิการอนุรักษ์ ภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 น่าจะแบ่งได้ตามลักษณะการทำงานแบบกว้างๆ เป็น 3 ยุค ในยุคแรกซึ่งเป็นยุคบุกเบิกก็ต้องเริ่มจากการให้ความรู้กับทั้งภาครัฐและเอกชนถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการอนุรักษ์ เป็นการทำงานเชิงรุก และองค์กรนี้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องการอนุรักษ์ทั้งทางศิลปกรรมซึ่งรวมถึงงานสถาปัตยกรรม รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในยุคต่อมามีการทำโครงการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ฯ ดีเด่น ก็จะเน้นไปในเรื่องการเชิดผู้ที่อนุรักษ์มรดกของตนเพื่อส่วนรวม และเป็นช่วงที่การอนุรักษ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีกระแสการอนุรักษ์ที่ดีในสังคม ในยุคหลังก็จะเริ่มมามุ่งเน้นในเรื่องการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมชุมชน วิถีชีวิต มรดกพื้นถิ่นและมรดกสถาปัตยกรรมระดับท้องถิ่นที่มีคุณค่าแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและมีความเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงมรดกเหล่านี้มาคุกคาม จึงเกิดงานเชิงรุกขึ้นอีกในการทำงานร่วมกับคนในชุมชนเพื่อปกป้องมรดกและเริ่มต้องมีโครงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความตระหนักถึงคุณค่าของมรดก และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับภาคส่วนต่างๆ

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

แล้วการทำงานในช่วงประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
ได้เริ่มเข้ามาทำงานในกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 สมัยที่ ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร เป็นประธานกรรมาธิการฯ ตั้งแต่นั้นมาก็ทำงานมาตลอด ในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงกรรมาธิการใหม่ทั้งชุด และคนกลุ่มนี้ก็ยังทำกันต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ มีการปรับระบบการทำงานของกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ เป็นเชิงรุกมากกว่าช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ซึ่งมีการจัดทำโครงการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นเป็นหลัก คือมีการจัดทำโครงการประเมินสถานภาพรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นที่ได้จัดให้มีการคัดเลือกมาครบ 20 ปี โครงการต้องใช้บุคคลากรมากจึงเป็นโอกาสสร้างคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจงานด้านอนุรักษ์มากขึ้น มีการปรับเกณฑ์การคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นและจัดทำหนังสือเพื่อรวบรวมผลงานอาคารที่ได้รับรางวัลมาตลอด 20 ปี โดยที่ตัวเราเป็นบรรณาธิการ ในปีต่อๆ มาจึงได้มีการจัดระบบการเก็บข้อมูลอาคารรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปใช้จัดนิทรรศการและทำหนังสือได้เลยเมื่อพร้อม ต่อมาในปี พ.ศ. 2549-2551 ได้มีโอกาสรับตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ฯก็เลยจัดทำโครงการต่อยอดการเก็บองค์ความรู้ทางมรดกสถาปัตยกรรม โดยทำ database ของข้อมูลอาคารรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ และบุคคลากรด้านการอนุรักษ์เก็บไว้ใน เว็บไซต์ของสมาคม ที่ทุกคนสามารถมาสืบค้นได้ แต่เสียดายที่ช่วงต่อมามีการปรับปรุงเว็บไซต์ของสมาคมจนข้อมูลเหล่านี้หายไป ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใกล้ครบรอบ 40 ปี ของกรรมาธิการอนุรักษ์ซึ่งจะมาถึงในปี พ.ศ. 2551 จึงได้เกิดแนวคิดที่จะจัดทำโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อฉลอง 40 ปี ขณะนั้นนายกสมคมฯ คุณสิน พงษ์หาญยุทธ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงตั้งกรรมาธิการขึ้นมา 10 คน ใครอยากทำอะไรเสนอมาและเราดีเฟนด์งบให้

หนังสือมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย

อย่างหนึ่งคือ VERNADOC อ.ตุ๊ก (ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ) ไปประชุม ICOMOS CIAV (คณะกรรมการวิชาการว่าด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) พอดี มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องค่ายเขียนแบบมรดกสถาปัตยกรรมด้วยวิธี VERNADOC จากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เห็นว่าน่าสนใจที่จะชักจูงคนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมผ่านการเข้าค่ายแบบนี้ จึงได้มาริเริ่มทำโครงการและขยายผลต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

มีโครงการหนึ่งทางพี่จอห์น (ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร)ได้เสนอให้ทำโครงการแผนที่มรดกวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นริมน้ำบางกอกโดยการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนในการระบุมรดกวัฒนธรรมของตน ซึ่งเลือกเอาชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าแก่ คือบ้านบุและกุฎีจีน แต่ด้วยความที่บ้านบุยังไม่มีความพร้อมมากนักจึงต่อยอดงานไปไม่ได้ แต่ที่กุฎีจีนกำลังมี crisis จากกรณีที่ทางวัดกัลยาฯ กำลังมีโครงการไล่รื้อชุมชน จึงเป็นโอกาสให้กุฎีจีนถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องและทำงานกันอย่างต่อเนื่องมาโดยในช่วงปีที่2 เป็นจังหวะที่ อ.แดง (นฤมล กุลศรีสมบัติ) กลับมาจากญี่ปุ่นพอดี โดยจบการศึกษามาทางการฟื้นฟูเมือง จึงชวนมาร่วมงาน อ.แดงก็ทำอยู่ 4-5 ปี สมาคมฯ ก็คิดว่าถึงเวลาที่ควรจะถอนออกจากพื้นที่เพื่อให้ทางชุมชนเริ่มจัดการตนเองได้แล้ว การทำงานของอ.แดงได้ต่อยอดต่อไป ทำงานออกแบบชุมชนและผังเมือง จนเป็นที่มาของ UDDC (Urban Design & Development Center)

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

อีกโครงการที่ดีมาก เป็นโครงการที่อ.ตุ๊กเสนอ คืออาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งกำลังทยอยหายไป จึงเสนอให้จัดประกวดการเก็บข้อมูล ซึ่งล้อกับ การทำบัญชี Heritage at Risk ของ ICOMOS สากล เพื่อให้เกิดการเห็นคุณค่าว่าควรจะต้องเก็บเอาไว้ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้สนใจงานอนุรักษ์ด้วย โดยให้สร้างทีมที่มีสถาปนิกที่มีความรู้ในด้านนี้หรืออาจารย์ จับมือกับน.ศ.หนึ่งคน เพื่อเสนออาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ทำข้อมูลให้ละเอียดเพื่อส่งประกวด ในตอนนั้นทำเป็นโครงการประกวดการจัดทำข้อมูลและมีรางวัลที่ 1-3 เป็นการพาไปชมหมู่บ้านมรดกโลกที่ญี่ปุ่น

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

หนึ่งในโครงการที่ส่งมาก็คืออาคารศาลฎีกาซึ่งกำลังถูกทุบ เวลามีงานสถาปนิกซึ่งก็จะมีการแสดงงานควรค่าแก่การอนุรักษ์ ก็มีเจ้าหน้าที่จากศาลมาหาเราขอให้เอางานศาลฎีกาออกจากลิสต์รายชื่ออาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์เพราะศาลกำลังจะทุบ นี่ก็เป็นการบอกว่างานของเราทำให้เกิดการตื่นตัวที่จะปกป้องอาคาร หรือทำให้เจ้าของอาคารหรือประชาชนรู้ถึงคุณค่าของอาคารเหล่านี้ หลังจากนั้นเราต้องหาเครือข่ายทำงานเป็นทีมร่วมกับสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) สมาคมอิโคโมสไทยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อช่วยกันปกป้องอาคารศาลฎีกา แต่ก็ยังไม่สามารถทัดทานได้ อย่างไรก็ตามเราจึงเห็นว่าการทำงานเป็นเครือข่ายนั้นสำคัญ จึงได้มีการทำ MOU กับสมาคมอิโคโมสไทยเพื่อแบ่งปันภารกิจ ทำงานร่วมกันมาอยู่ช่วงหนึ่ง

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ในช่วงที่เราทำเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมชุมชนก็มีเรื่องการไล่รื้อชุมชนซอยหวั่งหลีเข้ามา เราก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่ด้วยช่องโหว่ของการปฏิบัติงานของกรมศิลปากรในการอนุรักษ์มรดกที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจากการตีความกฎหมายโบราณสถานทำให้อาคารมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นหลังแรกๆ ของไทยอายุกว่า 80 ปีต้องถูกรื้อไปอย่างน่าเสียดาย จากนั้นเราเลยมีการจัดอบรมสัมนาเรื่องการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่บรรดาสถาปนิกที่ทำงานกับชุมชนโดยร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ช่วงต่อมามีการตั้งกรรมาธิการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมไทยประเพณีขึ้นโดยมีคุณวสุ โปษยนันทน์ เป็นประธานเพื่อให้เกิดงานอนุรักษ์งานด้านไทยประเพณีอย่างเป็นรูปธรรม โดยเลือกเอาการอนุรักษ์หอไตรวัดเทพธิดารามเป็นโครงการแรก และได้รับรางวัล UNESCO Heritage Award Asia Pacific มาครอง และงานต่อมาคือการบูรณะหอไตรวัดเทพธิดาราม

ปี พ.ศ. 2561 เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ เราเองก็อยากให้เกิดงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญ เกิดการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อรองรับการทำงานอีกกึ่งศตวรรษหน้าให้มีประสิทธิภาพตอบรับกับสถานการณ์และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมปัจจุบัน ด้วยความที่เราเห็นมาโดยตลอดว่าการทำงานด้านอนุรักษ์ของสมาคมฯ นั้นไม่แน่นอน ไม่ต่อเนื่อง เพราะขึ้นอยู่กับกรรมการบริหาร กรรมาธิการที่เปลี่ยนตัวบุคคลไปเรื่อยๆ ตลอดการทำงานมาเกือบ 20 ปีเราเห็นแล้วว่าองค์กรของเราเป็นที่พึ่งของประชาชน นอกเหนือจากการจัดให้มีการพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากกรมสมเด็จพระเทพฯ อย่างต่อเนื่องกันมาทุกปีเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว เราจึงคิดว่าองค์กรนี้ควรเป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านการอนุรักษ์ได้อย่างถาวรและจริงจัง

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

แม้เราจะไม่ได้เป็นสมาคมอนุรักษ์ แต่เราเป็นองค์กรแรกทำงานด้านนี้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีเครดิตดีต่อหน่วยงานภาครัฐ ทั้งเป็นที่พึ่งของภาครัฐในเชิงวิชาการสายวิชาชีพ ไปนั่งอยู่ในกรรมการชุดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม เราจึงคิดว่าควรมีโครงสร้างองค์กรใหม่ภายใต้การบริหารงานของสมาคมฯ อย่างเช่นองค์กรที่มีอยู่แล้วคือสถาบันสถาปนิกสยาม ซึ่งเดิมก็ได้เคยคุยกับอดีตผู้อำนวยการ ดร.วีระ สัจกุล ไว้เบื้องต้นถึงภารกิจแบบนี้นานแล้วก่อนที่ท่านจะล่วงลับ หรืออาจเป็นโครงสร้างแบบอื่นที่สามารถมีพนักงาน ประจำหรือกึ่งประจำมาดูแลรับผิดชอบงานทางด้านนี้โดยตรง จึงได้เสนอให้ตั้ง Urban Heritage Centre หรือศูนย์มรดกเมือง ซึ่งได้มีการทดลองตั้งขึ้นมาในปี 2560-2561 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมและงานอนุรักษ์ฯ และให้คำปรึกษาในการจัดทำโครงการอนุรักษ์ต่างๆ การฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน สถาปนิกและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็น platform ใหม่ให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการมาทำงานอนุรักษ์ในรูปแบบใหม่ๆ และสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ และสถาบันการศึกษาเพราะองค์กรเรามีความเป็นกลางและเราสามารถเชื่อมต่อกับภาครัฐได้ แต่ภายหลังไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ถูกปิดตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ถ้าจะต้องทำงานด้านการอนุรักษ์ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อม หรือ ควรพัฒนาด้านอะไรบ้าง

เรื่องการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องที่ต้องมีองค์ความรู้ ในประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ฯ สถาปนิกอนุรักษ์จะเป็นวิชาชีพแขนงพิเศษแยกออกมา มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะหากต้องไปทำงานออกแบบอนุรักษ์โบราณสถานหรือมรดกสถาปัตยกรรมที่ทางการขึ้นทะเบียนไว้ ตอนนั้นก็คิดแผนขึ้นมาถึงระดับที่ว่าสมาคมฯ น่าจะมีการอบรมสถาปนิกอนุรักษ์ หรือสถาปนิกที่ต้องไปออกแบบในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้มีองค์ความรู้ เช่น สถาปนิกจะทำงานออกแบบ adaptive reuse ในอาคารที่มีคุณค่าแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เขาจะต้องรู้บ้างว่าคุณค่าของอาคารนั้นคืออะไรเพื่อที่เขาจะไม่ไปทำลายคุณค่า

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

น่าจะมีการจัดคอร์สสั้นๆ ที่ให้ความรู้และมอบประกาศนียบัตรว่าผ่านการอบรม รวมไปถึงการจัดคอร์สอบรมบุคคลากรขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีมรดกสถาปัตยกรรมให้บริหาร ตลอดจนการเป็น one stop service ให้คำปรึกษาประชาชนหรือองค์กรเหล่านั้นในการจัดทำโครงการออกแบบปรับปรุงหรืออนุรักษ์อาคาร การจัดทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้มี database ให้ครบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง เปิด platform ให้คนรุ่นใหม่หรือสมาชิกที่อยากทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ย่านเมืองเก่าให้ได้เข้ามาทำใต้ร่มของสมาคมฯ เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำงานในพื้นที่จริงโดยเชิญสถาปนิกอนุรักษ์ที่ชำนาญการแล้วมาเป็นผู้อบรมหรือให้คำปรึกษา จะได้เกิดสายอาชีพใหม่ สร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดทำให้วงการอนุรักษ์ฯพัฒนาขึ้นเป็นวิชาชีพใหม่ที่มีบุคคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันต้องมีการอบรมและการฝึกฝีมือช่างสายอนุรักษ์ซึ่งกำลังขาดแคลนไปพร้อมๆ กัน

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

นอกจากนี้ยังต้องสนับสนุนให้เกิดการวิจัยเรื่องวัสดุเก่าที่หายากและต้องใช้ในงานอนุรักษ์เพื่อรื้อฟื้นองค์ความรู้เองวัสดุที่เหมาะสม กลับมาผลิตใหม่หรือให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไปเลย ทั้งหมดนี้หากมีจุดเริ่มต้นที่สมาคมฯ เพราะความที่เราเป็นหน่วยงาน NGO แรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องนี้มากว่า 50 ปี เรารู้ปัญหาเราก็สามารถเป็นผู้ริเริ่มและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรอี่นๆ เพื่อพัฒนางานอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องได้

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

แต่ทั้งนี้ทั้งนายกสมาคมฯ และกรรมการบริหารของสมาคมฯ ก็จะต้องเห็นภาพร่วมกันถึงบทบาทอันสำคัญอย่างยิ่งยวดของงานอนุรักษ์ที่ทำภายใต้สมาคมฯ มาอย่างยาวนานว่ามีความสำคัญต่อแวดวงอนุรักษ์ของประเทศไทยมากขนาดไหน แม้เราจะไม่ใช่สมาคมอนุรักษ์แต่ในแง่วิชาชีพแล้วภาครัฐและภาคส่วนต่างในสังคมต่างหวังพึ่งเราในกิจการนี้อย่างมากเพราะเราเป็นศูนย์รวมของผู้มีองค์ความรู้ทางด้านนี้และทำงานด้านนี้ต่อเนื่องมาตลอดครึ่งศตวรรษ และหากเราต้องการทำบทบาทนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น งานนี้คงต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำแบบงานอาสาสมัครที่เปลี่ยนคนทำไปเรื่อยๆ และไม่มีความต่อเนื่อง จึงถึงเวลาที่จะมีโครงสร้างใหม่มารองรับการทำงานในรูปแบบและบทบาทใหม่

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ที่ผ่านมา สิ่งที่ยังขาดแคลน หรือปัญหาและอุปสรรคหลักของงานอนุรักษ์ คือเรื่องอะไร

หลักๆ คือประเทศไทยไม่มี database ก็เลยคิดว่าควรมีแหล่งที่เป็น database เช่น การทำบัญชีมรดกสถาปัตยกรรมระดับท้องถิ่น หรือเราไม่ต้องทำเองก็ได้ ยกตัวอย่าง กรมธนารักษ์มีอาคารอยู่ในความดูแลเยอะแยะ ถ้ากรมศิลปากรไม่ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานหน่วยงานที่ใช้อาคารหรือผู้เช่าที่เอกชนสามารถรื้อได้ ถ้าในพื้นที่นั้นมีประชาชนเข้มแข็งคอยเป็นหูเป็นตาเขาก็จะลุกขึ้นมาปกป้องมรดกกันเป็นกรณีๆ เป็นงานเชิงรับ การทำงานอนุรักษ์ของสมาคมฯ ก็มักจะเจอกรณีแบบนี้ที่เราไปเจอเองบ้างหรือได้รับการร้องเรียนมาบ้าง เพราะคนทั่วไปเจอแบบนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะเห็นเราเป็นที่พึ่ง ในช่วงหลังเราจะเห็นว่าเราเจอที่ปลายเหตุว่ากำลังจะรื้อแล้ว ได้งบประมาณรื้อและสร้างใหม่มาแล้ว เราเข้าไปขวางก็กลายเป็นฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่จริงๆ เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น เราจึงควรทำงานเชิงรุก เราควรให้ความรู้ กันไว้ดีกว่าแก้

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ควรเสนอให้มีการทำบัญชีมรดกสถาปัตยกรรม ถ้าสมาคมฯ เห็นด้วยก็ควรทำลิสต์รายชื่อเข้าไปให้กรมธนารักษ์เลย ไอเดียนี้เราได้เคยไปนำไปเสนอในเวทีการประชุมต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการอนุรักษ์มีบทบาทมากเช่นในเวทีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งในชุดต่างๆ เหล่านี้ ก็มีตัวแทนจากกรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และองค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองเก่าเข้าประชุมด้วย เราก็คิดว่าเราไปให้ไอเดีย มีช่วงหนึ่งที่ทางกรมธนารักษ์รับไอเดียไปแล้วบอกว่าจะดำเนินการเอง แต่ตอนหลังก็เห็นเงียบไปอีกแล้วอาจเป็นเพราะผู้สั่งการย้ายไปหรือเกษียณไป การทำงานจึงไม่ต่อเนื่องในหน่วยงานราชการ อันนี้ก็เป็นข้อด้อยของระบบราชการไทย ทำให้มีไอเดียว่าทางสมาคมน่าจะทำเอง แล้วไปผลักดันให้เขาเอาไปบังคับใช้ในหน่วยงานนั้นๆ เท่าที่เห็นก็จะมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนหระมหากษัตริย์ในยุคนั้นที่เริ่มทำบัญชีมรดกสถาปัตยกรรมของตนเอง และเห็นทำหนังสือออกมาหลายเล่ม อาจได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยท่ีกรรมาธิการอนุรักษ์ของสมาคมฯ ริเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ก็เป็นได้

นิทรรศการ VERNADOC

นอกจากที่ขาดการจัดทำ database แล้ว มีปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่เมืองเก่าอีกบ้างไหม

ที่เราเห็นคือภาครัฐไม่ทำงานบูรณาการร่วมกันทั้งในและนอกองค์กร อย่างเช่น กรมศิลปากร หรือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหลายแหล่มักจะเกิดจากตรงนี้ เช่น สำนักผังเมือง กทม. ต้องมาทำงานในพื้นที่เมืองเก่าด้วยเข้าประชุมร่วมกับสผ.ในการวางแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการวางผังของเขาไว้อย่างหนึ่ง แต่หน่วยงานอื่นๆใน กทม.ด้วยกัน เช่น สำนักโยธา สำนักการระบายน้ำ หรือการคมนาคม เขาก็มีโครงการของเขา การทำโครงการมันก็จะเกิดการซ้อนทับบนพื้นที่เดียวกันที่เป็นเมืองเก่า แต่สำนักผังเมืองก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ไปห้ามไม่ให้สำนักอื่นไม่ทำตามแผนของเขาได้ แต่ในบางครั้งสมาคมวิชาชีพอย่างเราสามารถจะทำหน้าที่ในการประสานให้เกิดการบูรณาการได้บ้าง แต่เราต้องทำงานแบบเชิงรุก เช่น มองเห็นว่าใครทำอะไรแล้วจะเกิดปัญหาเราสามารถทำงานแบบเชิงรุกที่จะไปเชื่อมกับเขาได้ก่อนสายเกินแก้ ทำหน้าที่เป็นน้ำไหลไปเชื่อมโยงหาหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะทำเพราะเราเป็นองค์กรวิชาชีพ มีองค์ความรู้เฉพาะด้านที่สามารถจะช่วยเขาได้

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

การทำงานด้านหนึ่งที่มีอุปสรรคมากคือที่วัด เราพยายามจะไปให้ความรู้ได้แต่บางครั้งเขาก็ไม่ฟัง ไม่ใช่เฉพาะเราที่เขาไม่ฟังแม้แต่กรมศิลป์ผู้ถือกฎหมายเขายังไม่ฟังเลย เช่นเหตุการณ์รื้อโบราณสถานที่เกิดขึ้นที่วัดกัลยาณมิตร พันธกิจหลักของเราคือการให้ความรู้เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าร่วมกับเราตามหลักวิชาการ และบางทีเราต้องทำงานร่วมกับองค์กรอื่น เช่น ICOMOS, UNESCO หรือองค์กรสากลนานาชาติอื่นๆ ในบางกรณีเรื่องวิชาการเฉพาะทางเราพูดเองไม่ได้หรือยังไม่มีน้ำหนักพอ เราก็ใช้วิธีเชิญคนอื่นมาพูดแทนให้เกิดผู้เล่นที่เหมาะสมให้เกิดการเห็นคุณค่าร่วมกัน

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

เรามีหน้าที่ให้ความรู้ แต่ถ้ารู้แล้วก็ยังทำผิด ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่เราเพราะเราไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่อย่างประชาชนในพื้นที่ที่เขาเห็นการทำลายมรดกหรือโบราณสถาน เขาจะเห็นเราเป็นที่พึ่ง เขาก็จะส่งเรื่องมาที่เรา คือเขาไม่รู้จะส่งเรื่องไปที่ไหนแต่เขารู้ว่าเราทำเรื่องแบบนี้อยู่ แต่เราจะไม่มีอำนาจไปไปบอกในพื้นที่ว่าห้ามทำโดยตรง คือถ้าเราเห็นว่าพื้นที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เราก็จะส่งเรื่องให้กรมศิลปากรให้เขาไปตรวจสอบพิจารณาว่าอาคารเข้าข่ายต้องเก็บหรือไม่ เราไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือ บทบาทของเราเพียงแค่ทำให้คนรู้ว่าคุณค่าคืออะไร หรือถ้าเพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายเราก็ต้องแจ้งให้ผู้ดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายมาดูแล เราเป็นหูเป็นตาแทนแล้วให้เขามาพิจารณาเองว่าเขาต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายมรดก แต่ประเด็นนี้ก็ยังมีช่องโหว่จากการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกันของแต่ละคนที่ทำงานในหน่วยงานเหล่านั้นโดยเฉพาะในกรณีการตีความของโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ในเรื่องของการให้ความรู้ ในวงวิชาการ ในการรู้จักประเมินคุณค่าอาคารเก่า แม้ว่าอาคารนั้นจะไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเพื่อให้รับรู้ว่าเป็นมรดกของชาติ ซึ่งบางครั้งก็สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สำเร็จ คิดว่าต้องทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้

ความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร หากเป้าหมายของเราคือการไม่ให้โบราณสถานถูกรื้อ เราก็เรียกว่าเราทำไม่สำเร็จถ้าอาคารถูกรื้อ แต่ถ้าเป้าหมายของเราคือการให้ความรู้เชิงวิชาการ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเห็นคุณค่าร่วมกันและเกิดการตัดสินใจไม่รื้อ ความสำเร็จสูงสุดก็ยังอยู่ที่การไม่ให้โบราณสถานถูกรื้อ แต่หากยังถูกรื้ออยู่ดี เราก็ยังมีความสำเร็จอยู่ในระดับหนึ่งของการได้มีโอกาสให้ความรู้ และมีคนบางกลุ่มได้รับความรู้นั้นและเกิดความตระหนักในคุณค่าแล้ว
แต่ถ้าถามว่ามันจะดีขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องให้ความรู้ไม่เฉพาะกับผู้ที่จะรื้อแต่ต้องให้ความรู้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย อย่างตามรัฐธรรมนูญมันจะมีกำหนดไว้เรื่องชุมชนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลมรดกของตน เราต้องไปให้ความรู้และปลุกให้คนในท้องถิ่นในพื้นที่ลุกขึ้นมาใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการดูแลมรดกของชุมชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เราเป็นเพียงคนนอกก็จริงแต่สิ่งที่เราทำได้คือไปบอกเขาว่าถ้ามรดกของเขาหายไปแล้วพวกเขาและประเทศชาติจะเสียผลประโยชน์อย่างไร ทำอย่างไรให้เขาออกมาร้องเรียนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาเองและของส่วนรวม ไม่ใช่เราฝ่ายเดียวที่จะเป็นผู้เรียกร้อง

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

ช่วงหลังมีกลุ่มที่ทำหน้าที่อย่างเรามากขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็แสดงว่างานของเราสำเร็จเพราะว่ามีกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าของมรดกและโบราณสถานมากขึ้น น่าชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเห็นคุณค่ามากขึ้นและอยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปกป้องมรดกมากขึ้นทุกวัน แต่คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้อยากมานั่งเป็นกรรมาธิการ ทำงานให้สมาคมหรอก มันน่าเบื่อที่ต้องมาเข้าประชุม ต้องมาอยู่ใต้กฎระเบียบของสมาคม เราเป็นคนรุ่นกลางที่อยู่ระหว่างกระแสการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเพื่อสังคม คนรุ่นก่อนหน้านี้มาจนถึงรุ่นเราเขาทำงานให้เป็นประโยชน์กับสังคมผ่านสมาคมวิชาชีพหรือมูลนิธิภายใต้กฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาในลักษณะอาสาสมัครที่ไม่มีผลตอบแทน เป็นคนที่มีอายุอานามพอสมควรมีความมั่นคงทางอาชีพการงานในระดับหนึ่งที่สามารถมาอุทิศตนและเวลาเพื่อส่วนรวมได้ แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เขาอยากทำทันที โดยสามารถเป็นงานที่เลี้ยงชีพได้ด้วยก็จะดี ไม่ว่าจะเป็นงานแบบจ้างประจำหรือเป็น project base ที่มีความเป็นอิสระ ก็เลยยิ่งทำให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการทำงานอนุรักษ์ของสมาคมเพื่อให้เกิด platform ใหม่ๆ ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงได้เข้ามาช่วยงานสมาคมโดยมีผลตอบแทนและเกิดงานที่ดีหลายๆ งานไปพร้อมๆ กันในแบบของเขา สามารถใช้ platform นี้เขียนโครงการของบประมาณจากภายนอกเองโดยไม่ต้องมาเปลืองงบประมาณของสมาคมฯ ที่มักมีข้อจำกัดว่าต้องเท่าเดิมทุกปีแถมมีแต่จะได้น้อยลง อย่างที่ทำตรงกรรมาธิการอนุรักษ์มานี่ก็เกือบจะ 20 ปีแล้ว งบไม่เคยได้เพิ่มขึ้นเลยมีแต่ลดลง หรือการขอสปอนเซอร์ได้เวลาจัดกิจกรรมภายใต้ร่มของสมาคมฯ หรือทำเรื่องขอทุนเองโดยมีการคัดเลือกโครงการดีๆ มาทำ ทั้งนี้ สมาคมฯ จะทำได้ก็ต้องมีหน่วยงานใหม่ภายใต้สมาคมฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการมรดกสถาปัตยกรรมมาบริหารงาน นี่คือโมเดลของศูนย์มรดกเมืองที่ได้เคยเสนอและเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2560-2561 เพื่อการฉลองครบรอบ 50 ปีของการทำงานของกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ ภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามฯ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ถูกยุบไปไม่ได้ทำต่อให้เกิดขึ้นเป็น platform ใหม่เป็นโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำงานอนุรักษ์ให้เป็นประโยชน์กับสังคมมากขึ้นร่วมกับสมาชิกสมาคมรุ่นใหม่ที่สนใจมาร่วมงาน

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

นอกจากนี้ยังต้องเป็นศูนย์แบบ one stop service ที่ให้คำปรึกษาในการทำโครงการอนุรักษ์แก่ประชาชนทั่วไป แก่หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรวมไปถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกสมาคมในการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่เป็นมรดกหรือเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมด้วย ในประเทศไทยเรายังไม่มีวิชาชีพสายการอนุรักษ์ที่แบ่งออกมาอย่างชัดเจนซึ่งทำให้การอนุรักษ์ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีเป็นส่วนน้อย หากเราเริ่มมีการอบรมสาขาวิชาชีพนี้ขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยร่วมมือกับกรมศิลปากรและสถาบันการศึกษาก็จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มบุคคลากรและขยายงานด้านการอนุรักษ์ให้กว้างขวางมากขึ้น เป็นการยกระดับงานด้านการอนุรักษ์ให้เป็นที่แพร่หลายและตอบรับกับความต้องการในเรื่อง การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันองการพัฒนาเมืองทั่วโลก ภารกิจอีกอย่างที่ได้วางไว้สำหรับศูนย์นี้คือการเป็นศูนย์ข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยอีกด้วย เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดทำเลย จะเห็นได้ว่าศูนย์มรดกเมืองเป็นโครงสร้างภายในสมาคมที่ต้องการบุคคลากรประจำเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนางานทางด้านการอนุรักษ์ให้ก้าวไกลได้ โดยอาจสอดแทรกอยู่ในโครงสร้างเดิมของสมาคมที่เคยตั้งไว้เช่น สถาบันสถาปนิกสยาม หรือจะเป็นเพียงสายงานหนึ่งที่ต้องมีการเพิ่มบุคคลากรที่ทำงานเฉพาะทางเพียง 2คน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายในการสร้างศูนย์ใหม่ทางกายภาพซึ่งเป็นเรื่องของอาคารสถานที่ที่เป็นเรื่องรอง

อีกเรื่องคือ การถอดองค์ความรู้ อย่างกรณีโครงการฟื้นฟูกุฎีจีน สิบปีให้หลังก็ต้องมีการถอดบทเรียนทำออกมาเป็นหนังสือหรือ e-book หรือเราจะถอดบทเรียนของกลุ่มอื่นที่เขาทำงานอนุรักษ์ก็ได้ เราก็น่าจะมีหน้าที่ที่จะเก็บองค์ความรู้นี้ เพราะเดี๋ยวนี้เราอาจจะไม่ต้องทำเองแล้วเพราะมีคนอื่นทำมากขึ้นแล้วในพื้นที่ต่างๆ เราอาจจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นที่เก็บรวบรวมและนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็น platform รวบรวมข้อมูล นำเสนอและแปลเป็นภาษาอังกฤษ มีเว็บไซต์ที่คนอยากเข้ามาดูเรื่องการอนุรักษ์ มีเว็บไซต์ของสมาคมฯ ที่เปิดมาแล้วมีข้อมูลรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นที่ครบถ้วน มีการเผยแพร่ผลงานของสมาคมและเครือข่ายที่เคยทำมา และในอนาคตเผยแพร่งานของสมาชิกสมาคมฯ ที่ไปมีส่วนร่วมทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

คนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านอนุรักษ์มีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ ในการทำงานในยุคสมัยนี้

สมัยนี้มีเครื่องมือใหม่เยอะมาก นอกเหนือจากเครื่องมือทางเทคนิคเช่น 3D scan หรือรูปแบบของกิจกรรมหรือเวิร์คช็อปต่างๆ เช่น การเขียนแบบ measure work มรดกสถาปัตยกรรมแบบ VERNADOC โครงการประกวดการเก็บข้อมูลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ แล้วยังมีเครื่องมือที่ถือเป็น software ก็คือ “คน” ที่เข้ามาเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ในชุมชน ย่านเก่าหรือเมืองเก่า เราจะไม่มองเพียงตัวอาคารแล้ว แต่ละพื้นที่มันจะมีองค์ประกอบต่างกัน เช่น อาจจะมี asset ต่างกัน ตัวละครที่เข้ามามีบทบาทต่างกันซึ่งจะคิดอะไรต่างกันมากตามความสนใจหรืความถนัดเฉพาะทาง ยกตัวอย่าง น้องต้อง ที่จ.แพร่ ที่มีบทบาทในโครงการอนุรักษ์สถานีรถไฟบ้านปิน เขาเองก็เป็นคนแพร่ และเป็นนักเขียนด้วย เขาไม่ใช่สถาปนิก เขาจึงอาศัยการค้นข้อมูลประวัติศาสตร์และทักษะการเขียน แล้วนำเสนอในเชิงพลิกประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้กลายมาเป็นด้านบวกได้ และในพื้นที่อื่นๆ ก็มีการใช้ทักษะแตกต่างไป อย่างกลุ่มมาดีอีสานที่เปิด platform เป็น art space ที่จ.อุดรฯ หรือน้องเอ๋ ที่เริ่มอนุรักษ์อาคารเก่าแล้วเปิดเป็น art space ที่ จ.สงขลา คือแต่ละคนใช้ความสนใจส่วนตัวใส่เข้าไป นี่คือข้อดีของคนรุ่นใหม่เพราะทำด้วย passion สรุปวันนี้ถ้าถอดบทเรียนที่เขาพูดกันในงานสัมนาที่จัดโดยสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) เครื่องมือสำคัญของคนยุคใหม่คือ passion ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโดยตรง หรือต้องเป็นสถาปนิก หรือถ้าเป็นสถาปนิกแล้วก็อาจมีคนสายอาชีพอื่นมาร่วมงานจึงสามารถขยายงานให้กว้างขึ้นได้

ธีมหลักของงานสถาปนิกปีนี้ คือโจทย์ของการมองเก่าให้ใหม่ หรือ มรดกสถาปัตยกรรมอนุรักษ์ในมุมใหม่ และด้วยประสบการณ์ที่ทำงานงานด้านนี้มา เราจะสามารถช่วยกันพัฒนา ต่อยอดได้อย่างไรบ้าง

มุมมองใหม่คือความเชื่อมโยงกับปัจจุบันโดยมี “คน” เป็นตัวตั้ง การอนุรักษ์ไม่ได้สำคัญอยู่ที่แค่ตัวมรดกสถาปัตยกรรม แต่มันคือการทำให้เกิดความเชื่อมโยงและเห็นคุณค่าร่วมกันของสิ่งที่คนในอดีตได้สร้างไว้ คุณค่าที่คนในปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์และพร้อมที่จะส่งต่อไปยังอนาคต อย่างเช่นตึกเก่า แต่ละคนมองก็ไม่เหมือนกันแล้ว แต่ก็อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไรกับมันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมในปัจจุบัน และเพื่อส่งมอบคุณค่าของมันให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในยุคของเขา ให้สิ่งที่มีคุณค่าเดิมที่มันมีเรื่องราวของมันและตอบสนองกับกิจกรรมยุคปัจจุบันซึ่งก็ยังสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต ซึ่งแต่ละคนก็อาจเห็นไม่ตรงกันแต่มันมีองค์ความรู้ทางวิชาการอยู่ ทำอย่างไรให้คนได้รับทราบถึงองค์ความรู้นั้น คนในบางพื้นที่ยังไม่มีองค์ความรู้นั้นก็ควรต้องมีคนจากภายนอกที่มีองค์ความรู้ไปบอกเล่า ไปสื่อสารให้เกิดการเห็นคุณค่าร่วมกัน เมื่อมีองค์ความรู้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันแล้วจึงจัดให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันว่าคุณค่าอะไรที่ต้องคงอยู่และส่งต่อให้ลูกหลาน บางครั้งก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเก็บสิ่งเดิมๆ ไว้ทั้งหมด แต่ควรต้องมีการบันทึกหลักฐานไว้ทั้งหมดเพื่อให้พื้นที่นั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์ เพราะที่ผ่านมาก็อาจมีหลายชั้นหลายเลเยอร์ มีการปรับเปลี่ยนไปแล้วในอดีต ก็ต้องมาหารือร่วมกันว่าอดีตชั้นไหนที่จะเก็บและส่งต่อ และประโยชน์ใช้สอยใหม่ที่ต้องเพิ่มเติมคืออะไร ส่วนใหม่ที่เพิ่มเติมต้องแสดงยุคสมัยว่าทำในสมัยปัจจุบัน ไม่ไปลอกเลียนแบบทำให้คนรุ่นต่อไปเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องยุคสมัยของประโยชน์ใช้สอยที่ต่อเติมขึ้น ทั้งนี้ ต้องได้รับการออกแบบจากผู้มีความเข้าใจในเรื่องคุณค่าและความงามไปพร้อมๆ กันเพื่อไม่ให้เกิดการไปทำลายหรือลดทอนคุณค่าเดิม และสิ่งที่สร้างใหม่เพิ่มเข้าไปมีความงามพอเหมาะพอดีและมีคุณค่าในตัวเองในฐานะมรดกสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ยากแก่การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นแม้แต่ในหมู่สถาปนิกกันเอง

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

การรีโนเวทอาคารที่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือระบุคุณค่าขึ้นบัญชีมรดกสถาปัตยกรรมหลายหลังตกอยู่ในมือของผู้ไม่รู้ โดยมากเป็นเจ้าของอาคารหรือผู้เช่าที่ให้ผู้รับเหมาทำตามที่ตนสั่งโดยปราศจากสถาปนิกผู้มีความเชี่ยวชาญหรือมีความเข้าใจในเรื่องคุณค่าไปเป็นที่ปรึกษาออกแบบ เรื่องนี้จึงยังถือเป็นปัญหาใหญ่มากในวงการอนุรักษ์บ้านเรา เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องที่กล่าวมานี้ ทาง UNESCO ได้ตระหนักถึงปัญหานี้และได้เริ่มคิดค้นวิธีแก้ปัญหาในเชิงบวกคือการจัดให้มีการมอบรางวัลแก่งานออกแบบใหม่ในบริบทเก่า โดยการคัดเลือกรางวัล UNESCO Heritage Award Asia Pacific มีรางวัลพิเศษรางวัลหนึ่ง คือ รางวัลงานออกแบบใหม่ในบริบทพื้นที่อาคารอนุรักษ์ เป็นรางวัลที่ให้กับอาคารที่มีการออกแบบต่อเติมหรือสร้างใหม่ที่เข้ามาอยู่ในบริบทอาคารอนุรักษ์เดิม แต่ระบุไว้เลยว่าต้องไม่ลอกเลียนแบบอาคารเก่า และต้องแสดงให้เห็นเทคโนโลยีการก่อสร้างในสมัยปัจจุบัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 นี้ การคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็จะมีการคัดเลือกรางวัลประเภทนี้ด้วย

ปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมในย่านเก่าหรือเมืองเก่าเริ่มมีบทบาทในการพัฒนาเมืองในยุคนี้ แต่ว่าการสร้างนวัตกรรมบางคนอาจจะคิดว่าต้องสร้างสิ่งใหม่ แต่ความจริงนวัตกรรมคือสิ่งใหม่ แนวคิดใหม่ที่มาทำให้สิ่งเก่ายังคงคุณค่าหรือมีคุณค่ามากขึ้น และสามารถทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่นั้นดีขึ้น โจทย์มันกว้างมากและไม่มีคำตอบสุดท้ายและคำตอบเดียว และ ณ เวลาที่เราตัดสินว่ามันเป็นอะไร มันก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน สิ่งสำคัญที่จะเกิดนวัตกรรมไปในทางที่ดีในพื้นที่ที่เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมคือการจัดทำชุดองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของพื้นที่ สถาปัตยกรรมและมรดกวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ ให้เกิดความรับรู้ร่วมกันและสามารถสร้างกลไกทางสังคมหรือทางกฎหมายให้เกิดการปกป้องคุณค่านั้นๆ ให้คงอยู่ได้ก่อนที่จะมีการเพิ่มสิ่งใหม่ๆ เข้าไป

Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

การอนุรักษ์ที่ดีควรให้มีการคงสภาพเดิมให้มากที่สุด เพียงแต่ถ้ามีอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น เช่น ประวัติศาสตร์มันมีหลายยุคสมัย มีหลักฐานซ้อนกันอยู่หลายชั้น อันนี้ก็ต้องใช้เวลาที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อจะบอกว่าจะให้ความสำคัญกับชั้นหรือเลเยอร์ไหน จะเก็บอะไร จะเอาสมัยไหน ก็เหมือนกับตอนที่เฉลิมไทยถูกรื้อ ก็มีการมองว่ามันไปบังวัดราชนัดดาซึ่งมีมาก่อน อันนี้เป็นแนวคิดที่มีมุมมองได้หลายหลาก บางคนก็อาจจะคิดว่าข้างหลังสำคัญกว่า แต่บางคนก็อาจจะเห็นว่าข้างหน้าก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ควรเก็บแล้วเปิดช่องให้มองไปข้างหลังได้ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจในโครงการนั้นๆ

ฟังดูเหมือนว่าภาครัฐมักจะให้ความความสำคัญและสนใจแต่มรดกที่เป็นทางการและของชนชั้นนำ แต่ถ้าเป็นมรดกชาวบ้านก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะถูกรื้อทิ้งไป
ภาครัฐยังมีธงในการขึ้นทะเบียนเฉพาะวัด วังและอาคารราชการที่มีคุณค่าระดับชาติเป็นหลัก ตอนนี้กรณีที่มีข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาอาคารราชดำเนินก็แสดงถึงการไม่เข้าใจในเรื่องคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น แม้จะไม่รื้อทิ้งแต่การไปปรับเปลี่ยนมันคือการลบประวัติศาสตร์ออกไปหน้าหนึ่ง ก็อยู่ที่ว่าเขาจะลบไปทำไม มองอีกแง่หนึ่งการตัดสินใจปรับโฉมกลุ่มอาคารราชดำเนินครั้งนี้ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอาคารชุดนี้ในอนาคตเลยทีเดียว ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงการที่ผู้มีอำนาจที่ดำเนินการภายใต้แนวคิดอะไร

โครงการรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น

ส่วนมรดกที่เป็นของเอกชนแม้มีคุณค่ามากระดับชาติ รัฐก็ไม่ค่อยเข้ามาขึ้นทะเบียน เพราะในเมืองไทยมักมองกันว่าการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเป็นการลิดรอนสิทธิ์ จึงไม่อยากมาขึ้นทะเบียนอาคารของเอกชนและเอกชนเองก็ไม่อยากให้รัฐมาขึ้นทะเบียน เพราะจะทำอะไรก็ต้องอออนุญาต ถ้ายังมีมุมมองแบบนี้กันทั้งสองฝ่ายก็เป็นความซวยของประชาชนในประเทศที่ไม่มีกลไกหรือเครื่องมือทางกฎหมายในการปกป้องมรดกของส่วนรวมเลย สำหรับเรามองว่าการไม่ขึ้นทะเบียนต่างหากที่มาลิดรอนสิทธ์ของส่วนรวมในการปกป้องมรดกของชาติซึ่งคือมรดกของประชาชน ในเมื่อรัฐไทยยังไม่มีกลไกหรือมาตรการเชิงบวกที่สามารถเอื้อในการสนับสนุนด้านงบประมาณในการอนุรักษ์มรดกที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนได้ เราก็ยังต้องเผชิญหน้ากับความสุ่มเสี่ยงในการสูญหายของมรดกสถาปัตยกรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย

ผลงานที่ผ่านมาของปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

อยากฝากอะไรให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ หรือผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงอนุรักษ์บ้าง
ควรต้องมีการให้ความรู้ในมุมของคุณค่าของมรดกทางสถาปัตยกรรม สถาปนิกเรากันเองยังไม่เห็นคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมเลยบางที แล้วจะให้คนนอกสายอาชีพมาเห็นคุณค่าก็คงยาก ประเทศไทยเราหน่วยงานที่ทำหน้าที่บ่งชี้ว่าอาคารไหนที่มีคุณค่าก็ยังทำได้ไม่ครบ เช่นกรมศิลปากรที่มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนก็ยังทำไม่ครบ มีข้อจำกัดหลายประการเช่น เรื่องของงบประมาณ หรือระยะเวลาในการทำงานสำรวจก่อนที่จะขึ้นทะเบียน การที่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของอาคารก่อนการขึ้นทะเบียน หรือการที่คนที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรยังเป็นนักโบราณคดีจึงยังไม่เห็นคุณค่าความงามของอาคารยุคโมเดิร์นเป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอาคารที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารที่ไม่มีคุณค่า มีอาคารยุคโมเดิร์นที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก เช่น อาคารเฉลิมกรุงที่รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ในปัจจุบันอาคารโมเดิร์นอื่นๆ ในหลายๆ ประเทศ ก็ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณค่าในฐานะมรดกสถาปัตยกรรม และมีกลุ่มอาคารยุคนี้ที่ได้เป็นมรดกโลกแล้วด้วย ในประเทศไทยพอกรมศิลปากรไม่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน คนทั่วไปหรือแม้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ดูแลอาคารราชการ เช่น กรมธนารักษ์ ก็คิดว่ามันไม่มีคุณค่า นี่ก็เป็นจุดที่เป็นปัญหาอยู่ ทำอย่างไรที่จะระบุคุณค่านี้แล้วทำให้เป็นที่รับรู้ร่วมกัน

สถาปนิกเองก็น่าจะต้องสังวรณ์ในเรื่องนี้ ว่าอาคารทั้งหลายที่เรารีโนเวท ปรับปรุงใหม่ หรือออกแบบ adaptive reuse ต่างๆ แม้ว่ายังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่อาคารหายหลังก็มีคุณค่าเป็นมรดกสถาปัตยกรรม ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อบ่งบอกถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในยุคสมัยหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและฝีมือช่างในยุคนั้นๆ ที่หากเราปรับปรุงอาคารโดยการรื้อทำลายหลักฐานหรือคุณค่านั้นๆ ไปเสีย ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายแทนชนรุ่นหลังที่จะไม่ได้เห็นผลงานที่มีคุณค่าเหล่านั้นอีกต่อไป แต่หากเกิดความไม่แน่ใจในเรื่องคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรม ก็ควรปรึกษาผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านนี้ เพื่อที่จะทำงานให้ดีโดยไม่ได้ทำลายคุณค่าเหล่านั้นไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะอาคารยุคโมเดิร์นเท่านั้นแต่รวมถึงมรดกสถาปัตยกรรมทุกยุคสมัยที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย

สำหรับผู้ใหญ่ในแวดวงอนุรักษ์ที่มีโอกาสเข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ในชุดต่างๆ ของภาครัฐ ก็อยากจะฝากให้ช่วยกันหาโอกาสผลักดันให้เกิดการจัดทำบัญชีมรดกสถาปัตยกรรมระดับท้องถิ่นโดยเร็วก่อนที่มรดกจะหายหมดหรือถูกทำให้เสื่อมค่าเพราะความไม่รู้ ทั้งในระดับท้องถิ่น และในหน่วยงานราชการ ตลอดจนในวัดวาอาราม เพื่อให้เกิดการระบุคุณค่าความสำคัญในระดับท้องถิ่นและจัดให้มีนโยบายเชิงรุกเพื่อการปกป้องมรดก เช่นการออกเทศบัญญัติท้องถิ่น และการสร้างมาตรการเชิงบวก เช่นการจัดตั้งกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ที่สามารถช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณการดูแลอาคารอนุรักษ์ที่เป็นของเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัญหาใหญ่ที่เห็นในขณะนี้คือเรามีแต่มาตรการส่งเสริมวัฒนธรรมให้เกิดการต่อยอดเป็นสินค้าหรือการเพิ่มมูลค่า ให้เกิดการท่องเที่ยวในแหล่งมรดกวัฒนธรรมแต่ยังไม่มีมาตรการหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่จะปกป้องให้มรดกนั้นหายไป

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส / Pongkwan  Lassus
ตำแหน่งในปัจจุบัน:
– อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE)
– กรรมการบริหารสมาคมอิโคโมสไทย
– กรรมการพิทักษ์มรดกสยาม สยามสมาคมฯ

ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา:
– อดีตหัวหน้าศูนย์มรดกเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ พ.ศ. 2560
– อดีตอุปนายกและประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ 2 สมัย พ.ศ. 2549-2451 และ พ.ศ. 2555-2557
– อดีตกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ พ.ศ. 2545-2557
– อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ พ.ศ. 2557-2559

Pin It on Pinterest

Shares
Share This