สนทนากับไพจิตร พงษ์พรรฤก: การออกแบบเพื่อเสริมสร้างศรัทธา

เรื่อง:  ดร. วิญญู อาจรักษา และข้อมูลบางส่วนจากคณะกรรมการมัสยิด Masjid An-Najah Daerah Asajaya
ภาพ: beer singnoi,  Masjid-Masjid Di Sarawak, Masjid An-Najah Daerah Asajaya

ไพจิตร พงษ์พรรฤก เป็นสถาปนิกชาวไทยมุสลิม ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมในแนวทางสมัยใหม่นิยม

ไพจิตร พงษ์พรรฤก เป็นสถาปนิกชาวไทยมุสลิม ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมในแนวทางสมัยใหม่นิยม ท่านจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2505 และได้เข้าทำงานกับบริษัทสถาปนิกเจน สกลธนารักษ์ จำกัด  โดยรับผิดชอบโครงการต่างๆ เช่น อาคารเพรสิเดนท์เฮาส์ (พ.ศ. 2509) อาคารกรรณิการ์คอร์ต (พ.ศ. 2510) สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2511) ในด้านงานสถาปัตยกรรมอิสลาม ท่านได้ทำงานออกแบบอาคารสำคัญหลายแห่งให้แก่สังคมมุสลิม เช่น มัสยิดยามิอุ้ลอิสลาม (พ.ศ. 2514) ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ก่อสร้าง พ.ศ. 2514-2527) มัสยิดอัลเอี๊ยะติซอม หัวป่า (พ.ศ. 2517) มัสยิดนูรุลอิสลาม บ้านป่า (พ.ศ. 2519) และอาคารโมร็อคโก (พ.ศ. 2520) และอาคารลิเบีย (พ.ศ. 2525) ในโรงเรียนมูลนิธิสตรีไทยมุสลิม  รวมถึงมัสยิด An-Najah ที่รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย (พ.ศ. 2543)

อาจารย์เคยเล่าว่าในช่วงเด็กอาจารย์อยู่ที่บางลำพูใช่ไหมครับ
ผมเกิดที่บางลำพู อยู่ในชุมชนมัสยิดจักรพงษ์  ซึ่งตอนนั้นเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเกาะรัตนโกสินทร์

ทำไมอาจารย์ถึงตัดสินใจเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ครับ
เรามีความมุ่งมั่นอยู่ว่าจะเรียนด้านนี้ให้ได้ ทางด้านจิตรกรรมก็ดูเป็นศิลปินเกินไป แต่ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ยังมีอาคาร มีสิ่งก่อสร้างที่จะพัฒนาตามความเจริญของบ้านเมืองได้ เราถนัดทางศิลปะ เราก็หาทางประยุกต์ความสามารถของเราเข้ากับความเจริญสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้ได้ ซึ่งตอนที่เข้าเรียนนั้นคือปี พ.ศ. 2500 เป็นปีแรกที่เรียนในระบบหน่วยกิต

กลุ่มอาจารย์ที่สอนอยู่ในช่วงเวลานั้นเป็นใครบ้างครับ พอจะจำได้ไหมครับ
จำได้หมด อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร สอนวิชาเกี่ยวกับศิลปะ วิชา Art Appreciation ทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมก็เป็นอาจารย์ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ทางด้านโครงสร้างมี อาจารย์ทองระคน บุญเสรฐ อาจารย์เฉลิม สุจริต

มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภาพโดย Beer Singnoi

พอเข้าทำงานที่บริษัทสถาปนิกเจน สกลธนารักษ์ ได้รับผิดชอบหรือออกแบบโครงการไหนบ้างครับ
ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกอพาร์ทเมนท์ ตอนผมเข้าไปเขากำลังทำโรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่  คุณเจนให้ผมรับอาคารสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ไปทำ คือเขารู้ว่าเราชอบทำอะไรแปลกๆ ซึ่งตอนนั้นมีที่ดินอยู่นิดเดียว เราก็ลองวิชาดู เป็นการทำ Exposed Concrete คือทำผนังเป็นคอนกรีตเปลือยทั้งหลังเลย และเป็นอาคารที่ไม่ใหญ่มาก

ช่วงที่อาจารย์ทำงานกับคุณเจน เป็นช่วงเดียวกันกับการออกแบบโครงการศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือเปล่าครับ
ศูนย์กลางอิสลามฯ นี่เริ่มตั้งแต่ผมยังทำงานอยู่บริษัทอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย เราทำพิเศษที่บ้านตอนกลางคืน พอได้โครงการนี้มาจากคุณเล็ก วานิชอังกูร ประธานมูลนิธิฯ  ก็คิดมาตลอดว่าควรออกมาอย่างไร แนวไหน ต้องคิดหลายแง่หลายมุม แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ตอนนั้นที่ตั้งมีการเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนแจ่มจันทร์วิทยามาลงเอยที่คลองตัน

มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภาพโดย Beer Singnoi

แนวคิดการออกแบบอาคารศูนย์กลางอิสลามฯ เป็นอย่างไรครับ
โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่เราหนักใจพอสมควร เพราะเป็นอาคารใหญ่ แต่งบประมาณน้อย มีแค่ 2-3 ล้านบาท จะสร้างอาคารที่จุคนเป็นพันคนนี่ทำอย่างไรถึงจะสร้างได้  ถ้าจะออกแบบอาคารใหญ่เลย ในขั้นตอนการสร้างงบประมาณน้อยนี่จะสร้างยาก เราก็คิดว่าควรเป็นแบบสำเร็จรูปดีกว่า เป็น modular system ออกมาเป็นหน่วยๆ แยกสร้างทีละหน่วยๆ จนกระทั่งครบองค์ประกอบแล้วจะเป็นอาคารใหญ่ได้ เราก็คิดขึ้นมาจากรูปทรงของหกเหลี่ยมด้านเท่า เอามาเรียงจัด composition ให้ดีเหมือนกับรังผึ้ง รูปหกเหลี่ยมแต่ละอันนำมาเรียงต่อกันเข้าจะเป็นกี่หน่วยก็แล้วแต่สามารถที่จะขยายออกไปได้เหมือนกันหมด เราออกแบบโครงสร้างแค่หน่วยเดียวแล้วเราสามารถที่จะสร้างอีกกี่หน่วยก็ได้ตามงบประมาณ ถ้าเรามีงบมากก็สร้างใหญ่ขึ้นไปได้อีก เพิ่มจำนวนหน่วยเข้าไปอีก  รูปหกเหลี่ยมนี้เอามาต่อกันดูว่าองค์ประกอบที่เหมาะสมกับขนาดที่ดินแปลงนี้  เราจะได้กี่หน่วย พอเรียงแล้วมาลงตัวที่ 19 หน่วยก็เต็มพื้นที่แล้ว จากตะวันออกมาตะวันตก จำนวน 19 หน่วยนี้จะพอดีกับพื้นที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ จากนั้นเราก็ออกแบบขึ้นรูปทรงเป็นรูปดอกไม้ เหมือนดอกผักบุ้ง มีเสากลางและบานขึ้นไปเป็นหกเหลี่ยมด้านเท่า พอขึ้นรูปด้าน ทรงของโค้งกลีบดอกก็เป็น character ของซุ้มของอิสลามที่เราเคยเห็นในสถาปัตยกรรมเก่าๆ ซึ่งมีส่วนโค้งจำนวนมาก ถ้าเอามาต่อกันหลายๆ โค้งก็เป็น arcade แบบอิสลาม ที่ศูนย์กลางนี่เราจะไม่ใช้แนวคิดของโดม เราจะหาโครงสร้างแบบใหม่ที่สามารถ take span ได้กว้างโดยที่ไม่ต้องอาศัยโดม พอเรามาจัดรูปแบบของโครงสร้างแล้ว ถ้าเราใช้ระยะกลีบดอกที่ยื่นออกมาข้างละ 6 เมตรมาเจอกันก็ได้ 12 เมตร  ภายใน 24 เมตร ก็เป็นระยะที่กว้างพอสมควร การที่จะใช้โดมมาเป็นโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้อยู่ในความคิดเลย ไม่ต้องการที่จะลอกเลียนแบบที่ทำกันอยู่

มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภาพโดย Beer Singnoi

ในส่วนที่เป็นโถงละหมาดด้านบน มีขั้นตอนการออกแบบอย่างไรครับ
เราดูว่าตรงไหนจะเป็นหลังคาและตรงไหนจะเป็นผนัง ต้องให้ลงตัวกับกลีบดอกของอาคาร แต่ก่อนที่จะมาเป็นผนัง เราต้องคิดเรื่องระดับว่าถ้าเท่ากันหมดก็ไม่สวย ต้องมี variation มีสูงมีต่ำให้เกิดมิติ เราเล่นสองระดับคือมีระดับทั่วไปและระดับของมัสยิด ให้ต่างกันประมาณ 3 เมตรเพื่อแยกความสำคัญ โครงสร้างอันที่สูงก็เป็นหลังคาของมัสยิด อันที่ต่ำลงมาก็เป็นหลังคาโดยทั่วๆ ไปสำหรับห้องประชุม หรือส่วนต้อนรับ การออกแบบมัสยิด หลักประการแรกคือทิศทางของมัสยิด ต้องวางทิศกิบลัตก่อนที่จะมุ่งตรงไปสู่เมืองมักกะฮ์ สู่บัยตุลลอฮฺ สำหรับเมืองไทยก็คือทิศตะวันตก อันต่อมาก็คือมิห์รอบ คือที่ยืนของคนนำละหมาดคืออิหม่ามอยู่ทางทิศตะวันตก คู่กันก็คือมิมบัรหรือธรรมมาสน์ สำหรับขึ้นไปเทศน์ เป็นสิ่งที่ควรอยู่คู่กันและอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคาร สำหรับผนังอาคารที่ขึ้นมา เมืองไทยดีอย่างที่ทิศตะวันออกตะวันตกเป็นแนวแกนของตัวอาคาร ลมประจำของเรามาจากทางทิศใต้สู่ทางทิศเหนือ เพราะฉะนั้นผนังทางทิศใต้กับทิศเหนือต้องเป็นผนังที่โล่ง โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทในมัสยิด

อาจารย์มองเรื่องการประดับประดาในมัสยิดอย่างไรครับ มีองค์ประกอบพิเศษอะไรในอาคารศูนย์กลางฯ
พอเรารู้ว่าผนังอยู่ตรงไหนแล้ว ซึ่งจะรับกับโครงหลังคาที่เป็นจุดต่อระหว่างกลีบ เราก็ออกแบบผนังแต่ละด้านว่าจะทำอย่างไรให้มีเอกลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งมัสยิดต่างๆ ทั่วโลกเขาประดับด้วยอักษรประดิษฐ์ที่เป็นภาษาอาหรับ อิสลามไม่มีรูปปั้น รูปศาสดาหรือรูปใครก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นข้อห้ามอันหนึ่งว่าไม่ให้มีรูปคนหรือสัตว์ มัสยิดทุกแห่งจะมีการประดับด้วยอักษรประดิษฐ์ เราดูแล้วว่าสวยงาม เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ที่เขาประดิษฐ์ลงในรูปทรงต่างๆ เขาทำได้สวยและประณีต แต่กระนั้นเราก็ไม่รู้ความหมายซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์อัลกรุอาน ถ้าเราสามารถที่จะรู้ความหมายได้มันยิ่งดี ทำให้มีความศรัทธาลึกซึ้งขึ้น ที่ทำกันมักจะไม่มีคำแปล ซึ่งก็ลงตัวที่ทิศกิบลัตควรจะมีการตกแต่งด้วยอักษรประดิษฐ์ ซึ่งเรากำหนดว่าอยู่ในทรงอะไร เพื่อเป็นองค์ประกอบให้สวยงามเข้ากับอาคาร ซึ่งเราก็ให้ท่านอิหม่ามซาฟีอี นภากร ช่วยคัดเลือกข้อความหรืออายะห์จากอัลกรุอาน และหาผู้เชี่ยวชาญด้านประดิษฐ์อักษรมาทำด้วย คืออาจารย์อีซา ภู่เอี่ยม ซึ่งมีทั้งหมดข้างละ 9 จุดและหลังมิมบัร และข้างบนอีก 2 จุด รวมเป็น 21 จุด เราต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ว่าอักษรประดิษฐ์แต่ละอันๆ มีความหมายอย่างไร ที่ผนังด้านหลังของมัสยิดจะมีผังอธิบายความหมายภาษาไทย ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นก็มี ornament ต่างๆ ลวดลายที่จะปรากฏบนผนัง ลวดลายกระเบื้องดินเผา ลวดลายบนบานประตู หรือลวดลายราวลูกกรง ซึ่งเรานำลักษณะของโมร็อกโกมาใช้ ส่วนกระเบื้องผมชอบพื้นผิวของกระเบื้องด่านเกวียนที่โคราช  ซึ่งมีสีอ่อน สีเข้ม แล้วแต่เนื้อดินและการเผาไฟอ่อน ไฟแก่ มีลีลาของมัน ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเคลือบ เราออกแบบกระเบื้องให้มีลวดลายเป็นพระนามพระองค์อัลลอฮ์และท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)

มัสยิด An-Najah Asajaya ในประเทศมาเลเซีย ภาพโดย Masjid An-Najah Daerah Asajaya

ท่านศาสดาเคยพูดว่าเมื่อใกล้วันสิ้นโลกมนุษย์จะแข่งขันกันประดับประดามัสยิด อาจารย์มองว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
อันนี้เป็นข้อคิดที่ดีเลย ท่านศาสดาพูดเอาไว้ถูกต้อง จะมีการแข่งขันในการก่อสร้างมัสยิดด้วยเงินอันมหาศาล สร้างให้วิจิตรพิสดาร ซึ่งในเวลานี้ก็เป็นจริงอย่างที่ท่านเคยบอกเอาไว้ บางครั้งมันมากเกินความจำเป็น เราเห็นในหลายๆ แห่ง ทรงโรมันก็มี ปั้นเสาเป็นดอริค ไอโอนิค และโครินเธียน ทำแปลกๆ ทาสีทอง ซึ่งบางชุมชนลงทุนกันหลายสิบล้านแต่ปรากฏว่าในการละหมาดกลับไม่ค่อยมีคนมา มีแต่อาคารที่โก้หรู การตกแต่งมัสยิดเราควรทำเพียงแค่อักษรประดิษฐ์จากคัมภีร์อัลกรุอาน และทางที่ดีก็ต้องทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ประดับมีความหมายว่าอะไร แต่ถ้าเราประดับเพื่อความสวยงามอย่างเดียว ความศรัทธาจากความหมายก็ไม่ได้

มัสยิด An-Najah Asajaya ในประเทศมาเลเซีย ภาพโดย Masjid An-Najah Daerah Asajaya

นอกเหนือจากอักษรประดิษฐ์แล้ว ที่ว่างภายในมัสยิดต่างๆ ที่อาจารย์ออกแบบก็ดูมีความพิเศษเหมือนกัน เช่น มัสยิดนูรุลอิสลาม (บ้านป่า) หรือ มัสยิด An-Najah Asajaya  ที่อาจารย์ได้รับเชิญไปออกแบบที่มาเลเซีย มีการยกโครงสร้างเหนือโถงละหมาดให้ไม่เท่ากันทำให้แสงเข้ามาได้ การออกแบบที่ว่างสัมพันธ์กับการรับรู้ของคนที่มาละหมาดอย่างไร
อันนี้แล้วแต่ว่าผนังด้านไหน ควรให้ความสำคัญ จะเป็นผนังโค้งหรือผนังตรง หรือเจาะช่องแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านทิศตะวันตกควรจะปิดทึบ เพราะเวลาบ่ายคล้อยแสงแดดจะเข้ามาแยงตาผู้ที่ประกอบพิธีอยู่ในมัสยิด และลมก็ไม่เข้า การเปิดให้แสงเข้าด้านข้างแทนจะทำให้ไม่แยงตา ส่วนที่มาเลเซีย เขาระบุมาเลยว่าอยากได้แบบที่อาคารศูนย์กลางฯ ซึ่งมีรูปทรงหกเหลี่ยมด้านเท่า เราไม่อยากลอกแบบเดิม เราต้องพัฒนาแบบไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเราทดลองออกแบบเป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม เมื่อเรียงต่อกันจะเกิดช่องว่าง ซึ่งเป็นข้อดีของโครงสร้าง ช่องว่างที่เกิดขึ้นได้ทำเป็น sky light ซึ่งได้ความโปร่งโล่งไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ในด้านการใช้สอย การออกแบบมัสยิดเราต้องคำนึงถึงประเด็นอะไรที่สำคัญบ้างครับเราต้องดูว่าขนาดของมัสยิดเล็กใหญ่แค่ไหน จะจุได้กี่คน  ปกติหนึ่งคนจะใช้พื้นที่ 0.72 ตร.ม. กว้าง 0.60 ม. ยาว 1.20 ม. เราจะรู้งบประมาณค่าก่อสร้างจากเนื้อที่ของอาคาร เป็นข้อมูลเริ่มต้น ส่วนการจัดระบบการเข้าอาคาร  บริเวณ clean area กับ soil area ต้องแยกกันให้ชัดเจน เราต้องเน้นด้านความสะอาด  ทางเข้าจะต้องมีหิ้งวางรองเท้า พอถึงที่อาบน้ำละหมาด แล้วก็ขึ้นละหมาดเลย  ซึ่งจากชั้นล่างผู้หญิงและผู้ชายควรจะแยกกัน ส่วนละหมาดของผู้หญิงและผู้ชายจะเป็นอย่างไร  ผู้หญิงจะอยู่ด้านหลัง ด้านข้าง หรือชั้นสอง อันนี้แล้วแต่ขนาดของอาคาร แล้วแต่ขนาดพื้นที่

มัสยิดนูรุลอิสลาม (บ้านป่า)

ในฐานะที่อาจารย์ได้ออกแบบมัสยิดมาหลายแห่งและเป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบสมัยใหม่ อาจารย์อยากฝากข้อคิดอะไรสำหรับคนรุ่นหลัง หากมีโอกาสได้ออกแบบอาคารมัสยิด
รูปแบบของอาคารต้องมีเอกลักษณ์บางอย่างของอิสลาม ซึ่งเราศึกษาดูจากทั่วโลก เราจะรู้ว่าเอกลักษณ์คืออะไร อันที่หนึ่งคือโดม อันที่สองคือซุ้มโค้ง ให้สอดแทรกไปในอาคาร ตรงไหนควรจะมีซุ้มโค้ง ตรงไหนควรจะมีโดม หรือไม่มี หรือจะมีกี่โดม ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป มัสยิดต้องมีโดม อันนี้เราไม่ว่ากัน สำคัญว่ารูปแบบต้องมีเอกลักษณ์บางอย่างที่แฝงถึงความเป็นอิสลามในรูปทรงของมัน จะเป็นรูปทรงไหนก็แล้วแต่ การมีซุ้มโค้งนั้นดีอย่าง  เป็น arcade อยู่ข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง เป็นการกรองแสง ความร้อน และฝนที่จะเข้าถึงตัวอาคาร ทำให้ภายในมัสยิดเย็น ส่วนหออะซานจะมีไหม ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ถ้ามีงบมากแล้วทำให้อาคารดูสง่างาม มีความโดดเด่น  ก็สามารถใส่เข้าไปได้

องค์ประกอบหรือเอกลักษณ์เหล่านี้ อาจารย์มองว่าช่วยส่งเสริมการรับรู้หรือความศรัทธาอย่างไรครับ
คือในห้องสี่เหลี่ยมซึ่งเราเข้าไปละหมาด ถ้าไม่มีอะไรเลย เราก็รู้ว่าเรามีความศรัทธาและเรากำลังเข้าเฝ้าพระเจ้า แต่ถ้าตัวอาคารมีสิ่งประกอบต่างๆ เช่น มีซุ้มโค้ง มีโดม มีการประดับด้วยอายะห์จากอัลกรุอาน มันก็ได้เพิ่มความศรัทธาเข้าไปในการทำพิธี

มัสยิดนูรุลอิสลาม (บ้านป่า)

Pin It on Pinterest

Shares
Share This