“แกลเลอรีบ้านครัว” พื้นที่เก่าบนเรื่องเล่าใหม่

เรื่อง : ณัฐวดี สัตนันท์
ภาพ : Pat Phuchamni

“สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์” สตูดิโอสถาปนิกที่ให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเชื่อว่า “คุณค่า” หรือ “ความหมาย” ของงานสถาปัตยกรรมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมิติของความสวยงามทางกายภาพเท่านั้น แต่ “คุณค่าแท้” ของงานสถาปัตยกรรมอยู่ที่ประโยชน์ต่อชีวิต ทั้งสำหรับผู้ใช้งาน เจ้าของโครงการ ชุมชน ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และชุมชนชนเล็กๆ อันเงียบสงบในสายตาคนภายนอกบริเวณเชิงสะพานเจริญผลที่ชื่อ “ชุมชนบ้านครัว” ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

แกลเลอรีบ้านครัว

แกลเลอรีบ้านครัว“ชุมชนบ้านครัว” เดิมคือ “บ้านแขกครัว” ชุมชนมุสลิมจามขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในฝั่งพระนครชุมชนหน้าด่านแห่งกรุงรัตนโกนสินทร์ในอดีต ตั้งถิ่นฐานบนที่ดินกว่า 14 ไร่ สองฟากฝั่งริมคลองแสนแสบที่ได้รับพระราชทานเป็นบำเหน็จรางวัลในการร่วมรบในกองอาสาจามสมัยสงคราม 9 ทัพ จากรัชกาลที่ 1 เวลาที่ผ่านไปนับ 200 ปี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอาจเลือนหายไปพร้อมกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นทุกช่วงเวลา ชุมชนบ้านครัวเป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหาอันเป็นผลกระทบจากการพัฒนาเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จึงได้เข้ามาดำเนินโครงการฟื้นฟูชุมชนผ่านโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับทีมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แกลเลอรีบ้านครัว

“ทุกอุปสรรคขวากหนามย่อมมีหนทางที่จะผ่านมันไปได้” การทำงานของทีมสถาปนิกจากอาศรมศิลป์ที่ชุมชนบ้านครัวก็เช่นกัน ผลจากปัญหาของการพัฒนาเมืองส่งผลกระทบให้ชาวชุมชนยังไม่ไว้วางใจคนภายนอกนัก การเข้าหาชุมชนในครั้งแรกของทีมอาศรมศิลป์จึงไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนที่คิดไว้ “เราก็กลับไปทบทวนตัวเอง และเห็นว่าที่นี่คือพื้นที่พิเศษ หลังจากนั้นเราก็กลับมาขอโทษชาวบ้านและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง” วิลาสินี ยมสาร หนึ่งในทีมสถาปนิกของอาศรมศิลป์เล่าถึงช่วงแรกของการเข้ามาทำงาน แต่ด้วยความจริงจัง จริงใจ ท่าทีเป็นมิตร อ่อนน้อมถ่อมตน และพร้อมรับฟังข้อกังวลของชาวชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งความสม่ำเสมอในการเข้าหาชุมชน ทำให้ชุมชนเปิดใจให้ทีมสถาปนิกเข้ามาในพื้นที่ หลังจากนั้นความคุ้นเคยและความไว้วางใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา พร้อมกับความร่วมมือร่วมใจระหว่างชุมชนและทีมสถาปนิกที่ตั้งใจจะพัฒนาชุมชนแห่งนี้ไปพร้อมกันด้วยความเข้าใจ

พื้นที่ใต้สะพานในชุมชนบ้านครัว

“อิสริยา ปุณโณปถัมภ์” เล่าให้ฟังว่ากิจกรรมแรกเป็นการเปิดวงสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับทราบปัญหาและข้อกังวลของชุมชน สิ่งหนึ่งที่ทีมสถาปนิกได้จากการวงสนทนาคือความต้องการปรับปรุงพื้นที่บริเวณใต้สะพานเจริญผล อันเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อของชุมชน นอกจากเป็นเส้นทางสัญจรหลักของสมาชิกในชุมชน ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทั้งตลาด สภากาแฟ ห้องประชุม แต่ปัจจุบันถูกใช้เป็นพื้นที่จอดรถมอเตอร์ไซด์ทำให้พื้นที่คับแคบและมีการใช้งานได้ไม่เต็มพื้นที่

บรรยากาศกิจกรรมในชุมชนบ้านครัว

การเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานเจริญผล จึงเป็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมอันเกิดจากการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโครงการบ้านมั่นคง บ้านครัว กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ใต้สะพานเจริญผล เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับชุมชนถึงโครงการที่จะเกิดขึ้น จากนั้นจึงเริ่มหาความต้องการรูปแบบการใช้พื้นที่ ๆ เหมาะสมร่วมกับชุมชน รับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชน พร้อมกับหาแนวทางให้ชาวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่แห่งนี้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ จนเกิดเป็นเรื่องราวบนผนังใต้สะพานเจริญผลอันเป็นลวดลายที่เกิดจากความคิดเห็นของคนบ้านครัว ด้วยแนวคิดที่ต้องการจะสื่อให้ลูกหลานชาวบ้านครัวและคนภายนอกเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนบ้านครัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวบนผนัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของนักรบกองอาสาจาม วิถีชีวิตของชุมชนบ้านครัวในอดีต วิถีชีวิตริมน้ำ ความผูกพันกับมัสยิด ผ้าไหมบ้านครัวอาหารพื้นถิ่นอันสื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน และภาพนาเสป การละเล่นดนตรีพื้นบ้านมุสลิมวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนมุสลิมที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

แกลเลอรีบ้านครัว

ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือรังสรรค์พื้นที่ใต้สะพานเจริญผลให้กลายเป็น “อุโมงค์แกลเลอรีบ้านครัว” นับตั้งแต่การขอความร่วมมือย้ายจุดจอดรถมอเตอร์ไซค์ไปในพื้นที่ที่เป็นระเบียบขึ้น หลังจากนั้นคือขั้นตอนการวาดภาพบนผนัง โดยงบประมาณทั้งหมดในการดำเนินการ ทั้งงบในการจัดซื้อสีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นงบประมาณที่สมาชิกในชุมชนลงขันกันเป็นหลัก รวมไปถึงอาหารเครื่องดื่มระหว่างการทำงานตลอดทั้งวันก็มาจากการสนับสนุนของคนในบ้านครัวเอง และจิตรกรคนสำคัญในการลงมือวาดภาพบนผนังก็คือกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนที่เคยโดนมองจากผู้ใหญ่ว่าเป็นกลุ่มเด็กเกเร

บรรยากาศกิจกรรมการทำแกลเลอรีบ้านครัว

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นคือระยะห่างของคนต่างวัยในชุมชนที่ค่อยๆ ลดลง และความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการขยายความรับรู้และการมีส่วนร่วมไปสู่สมาชิกชุมชนทั่วไปนอกเหนือจากกลุ่มผู้แทนชุมชน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในโครงการ และเห็นถึงโอกาสในการใช้พื้นที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน หลังจากนั้นชุมชนได้มีการจัดงานตลาดนัดบ้านครัวขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 และจัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่สองของเดือน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้มาชมอุโมงค์แกลอรี่บ้านครัว พร้อมกับจับจ่ายอาหารพื้นถิ่นแสนอร่อย รวมถึงสินค้าต่างๆ ไปในบรรยากาศเป็นกันเอง ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินงานโดยที่ชุมชนเป็นแกนหลัก และมีทีมสถาปนิกเป็นผู้คอยสนับสนุน การทำงานในรูปแบบนี้ส่งผลให้การออกแบบปรับปรุงพื้นที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ในขณะที่ชุมชนได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นและเกิดการรับฟังอย่างเสมอภาคเท่าเทียม รวมถึงมีส่วนร่วมตัดสินใจในทุกขั้นตอนการทำงาน

แกลเลอรีบ้านครัว

“แกลเลอรีบ้านครัว” จึงนับเป็นตัวอย่างการทำงานระหว่างสถาปนิกกับชุมชน ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาร่วมออกแบบพื้นที่บ้านของพวกเขา และสนับสนุนให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดช่อง ทางการพูดคุยแลกเปลี่ยน และตัดสินใจร่วมกันระหว่างสถาปนิกและชุมชน รวมถึงเป็นเวทีเรียนรู้ในการทำงานและบริหารจัดการร่วมกันของชุมชน เชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับสมาชิกในชุมชน ผ่านการทำงานที่มีคนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทั้งคนในพื้นที่ผู้รักและหวงแหนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไปจนถึงสถาปนิกในฐานะคนนอกที่อยากเข้าไปร่วมพัฒนาพื้นที่ด้วยความปรารถนาดี

แกลเลอรีบ้านครัวเสร็จสมบูรณ์

Pin It on Pinterest

Shares
Share This