Façade and Trends ในความคิดเห็นของมฆไกร สุธาดารัตน์

เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: Courtesy of FOS : Foundry of Space

หากจะพูดถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารพาณิชย์หรือสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าขาย คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหน้าตาหรือการเลือกใช้เปลือกของอาคารนั้นส่งผลกับการตัดสินใจของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่ของการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ การสร้างภาพจำของอาคาร หรือการแสดง positioning ของอาคารห้างร้านนั้นๆ ในท้องตลาด ASA CREW ได้รับเกียรติพูดคุยกับ คุณเจ-มฆไกร สุธาดารัตน์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท FOS : Foundry of Space ผู้ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบเปลือกอาคารของห้างสรรพสินค้าอยู่หลายโครงการด้วยกัน เกี่ยวกับการออกแบบเปลือกอาคารและทิศทางการออกแบบที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวทางที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

เจ-มฆไกร สุธาดารัตน์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท FOS : Foundry of Space

ASA CREW: การออกแบบ facade มีความสัมพันธ์กับการสร้างภาพจำของอาคาร และช่วยดึงดูดผู้บริโภคได้แค่ไหนอย่างไร
คุณมฆไกร: การออกแบบ façade นั้นต้องพิจารณาหลายส่วน แน่นอนว่า program ด้านในย่อมส่งผลต่อ façade อาคารภายนอก รวมถึงอาคารอาจจะต้องสะท้อนภาพลักษณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะของตัวโปรแกรม ของย่าน หรือว่าประเภทธุรกิจของเจ้าของโครงการ ขั้นแรก ต้องวิเคราะห์ว่า positioning ของตัวธุรกิจอยู่ตรงไหน อาจจะเป็นตลาดล่าง กลาง บนก็แล้วแต่ ตัว façade ต้องสะท้อนออกมาให้ได้ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ เป็นห้างที่อยู่ในเส้นถนนสุขุมวิท แน่นอนว่าเป็นตลาดบน และเป็นตลาด international ด้วย เพราะฉะนั้น façade จะได้รับงบประมาณในการออกแบบก่อสร้างมากกว่าย่านอื่นของเมือง สถาปนิกมีอิสระในการเลือกใช้วัสดุที่มีความหลากหลายมากกว่า ในขณะเดียวกันถ้าเราพูดถึงตามขอบของเมือง ตลาดถูกกระจายออกไป รายได้ประชากรต่อหัวน้อยลง positioning ของเขาก็จะไม่ได้ต้องการ façade ที่สะท้อนความหรูหราเหมือนย่านธุรกิจกลางเมือง แต่ต้องการความเป็นมิตรมากกว่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่จะมาใช้สอย ให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะมา ฉะนั้นการออกแบบ façade สามารถสร้างความมีตัวตนไปตามประเภทของธุรกิจ หรือทำให้อาคารได้เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของกลุ่มผู้บริโภคนั้นๆ ได้ตรงเป้าหมายขึ้น

Façade ของ Central WestGate ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space
Façade ของ Central WestGate ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space

อย่างที่สองมันเป็นส่วนที่ทางเจ้าของโครงการให้อิสระกับสถาปนิก ที่จะทดลองไอเดียใหม่ๆ เพราะในโครงการที่มีการทำ façade เขาต้องการ iconic ไม่อยากเหมือนกับอาคารทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นเขาจะเปิดโอกาสให้เรา อาจจะมีการกำหนดว่าต้องการ positioning ไหน แต่คุณสามารถเสนออะไรที่แตกต่างได้ เช่นไม่จำเป็นว่า พอพูดถึง positioning ที่ต้องการความหรูหรา แล้วจะต้องใช้สีทองมาทำ façade เสมอไป อาจจะใช้วัสดุที่ไม่แพง แต่แนวความคิดของสถาปนิกทำให้งานที่ออกมาดูมีมูลค่าสูงขึ้น และตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเขาก็ได้ อาจพูดถึงเรื่องของ green facade ไม่จำเป็นต้องเป็น façade ที่เป็น hard surface เสมอไป อาจจะเป็นพวก sustainable design, green design หรือ green area ซึ่งก็ถือเป็น new luxury อย่างหนึ่งเหมือนกัน

ASA CREW: การจัด Positioning การออกแบบอาคารและ Façade ส่งผลต่อการเลือกจะเข้ามาใช้งานอาคาร ของคนแต่ละกลุ่มอย่างไร
คุณมฆไกร: ในความเป็นจริง งานออกแบบและรวมถึงวัสดุแต่ละอย่างที่เลือกใช้ มันควรจะสะท้อนตัวตนหรือ Positioning ของโครงการออกมาให้ชัด ซึ่งมันมีผลต่อการรับรู้ของคนที่จะเข้ามาใช้สอยว่าตรงกับ Life style ของเค้าหรือไม่ ในแง่ของสถาปนิกเราก็อยากที่จะทดลองไอเดียใหม่ๆ อยู่แล้ว เช่นบางโครงการเราเสนอไปว่า ถ้าไม่ใช้วัสดุตัวนี้ ซึ่งราคาต่อตารางเมตรค่อนข้างสูง แต่ว่าใช้ตัวอื่นแล้วมันได้ผลที่ใกล้เคียงกัน ลูกค้าก็เปิดรับ ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพยายามหาวัสดุ หรือวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริบทกับ façade ให้มีความสอดคล้องกัน อันนี้ถือเป็นพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเหมือนกันที่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสร้างความแตกต่างในเรื่องของตัวห้างที่ต้องสะท้อนออกมาให้ชัดเจนมากๆให้ได้ เช่น กลุ่มผู้ใช้สอยที่มีรายได้สูง อย่างน้อยก็ให้มันแสดงให้เห็นบางอย่างว่าในห้างนี้เสนอสินค้าที่มีราคาที่สูงขึ้น เป็นต้น เพื่อเป็นการสื่อสารเนื้อหาภายในผ่านเปลือกภายนอกอาคาร ผ่านไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอย่างที่บอกว่าอาจจะไม่ต้องใช้วัสดุที่แพงเสมอไปก็ได้

Façade ของ Central Bangna ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space

ASA CREW: ในการออกแบบเปลือกอาคารเพื่อให้สะท้อนสถานะหรือตัวตนของห้าง สถาปนิกต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง
คุณมฆไกร: ถ้าพูดถึงเปลือกอาคารที่ต้องการสะท้อน positioning ของตัวเองในเชิงธุรกิจ บางครั้งมันไม่ได้จบลงที่เราเลือกใช้วัสดุอะไรอย่างเดียว แต่อยู่ที่ผลของมันในภาพรวม (Overall effect) ว่าให้อะไรที่ตรงกับที่เจ้าของธุรกิจเขามองไว้หรือเปล่า แล้วกลุ่มเป้าหมายของเขามองตรงกันไหม สมมุติเจ้าของโครงการต้องการให้ใช้ cladding สีทองทั้ง façade เพื่อแสดงความหรูหรา ในความคิดของคนที่จะมาเดินห้างนี้เขาอาจจะไม่ได้คิดเหมือนกันก็ได้ เขาอาจมองว่าสีทองมันโบราณมาก หรือเป็นอะไรที่ตกยุคไปแล้ว เพราะฉะนั้นสถาปนิกต้องเข้ามาบอกว่า ในการใช้วัสดุสีทองลงไปใน façade ทั้งหมดมันดีแล้วหรือยัง สถาปนิกอาจแนะนำไปในแนวทางอื่น เช่น แสงและเงา เรื่องของ mass form ที่เป็น 3 มิติมากขึ้น green façade หรือแม้กระทั่งการเปิดช่องแสงมากขึ้น ทำให้ด้านในกับด้านนอกมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นในเชิงกายภาพ มันเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่าการใช้วัสดุแพงๆ บน façade ทั้งหมด

Façade ของ Central Bangna ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space

ความหมายของคำว่า luxurious ไม่ได้เท่ากับ expensive material นะครับ แต่ luxurious มันก็คือ value หรือ experience ที่เราได้สร้างขึ้นใหม่ที่ไม่เหมือนที่ไหน หรือบางครั้งเจ้าของโครงการเขาไม่ได้ต้องการความ luxury เสมอไป บางห้างอาจจะไม่ได้ต้องการแสดงตัวเองว่าหรูหรา เขาอาจต้องการแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้ เขาอาจจะไม่ใช้วัสดุแพงเลย แต่ใช้วัสดุ recycle มาทำ façade อาจจะใช้วัสดุจากธุรกิจของเขาเองก็ได้ เช่น คุณทำธุรกิจโรงงานขวดพลาสติก คุณอาจนำพลาสติกมา recycle มาทำ façade แล้วสถาปนิกเป็นคนเสนอว่าใช้วัสดุนี้อย่างไรให้ออกมาแล้วสะท้อนธุรกิจของคุณ สร้างความประทับใจอีกแบบหนึ่งให้ผู้ที่มาใช้อาคาร

ASA CREW: ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อแนวโน้มการออกแบบอาคารห้างร้าน และการออกแบบ façade ของอาคารกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร
คุณมฆไกร: จริงๆ คำถามนี้อาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ façade เลย เพราะเป็นคำถามที่ใหญ่กว่านั้นมาก เป็นคำถามของการทำ commercial retail business ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะในไทย มันไม่ใช่แค่เรื่องว่า พอมี e-commerce แล้วยังสร้างห้างอยู่แต่ไม่ทำ façade มันกลายเป็นว่าห้างแบบเดิมๆ จะหายไปเพราะว่าแต่เดิมผู้เช่าที่เคยเข้าไปเช่ามีหน้าร้านอยู่ในห้าง พอเกิด online shopping ก็หายเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์ของทุกคน เพราะฉะนั้นมันเป็นคำถามที่ใหญ่กว่าแค่เรื่องของ façade ว่า ต่อไปนี้ห้างจะอยู่รอดได้อย่างไร มันเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกวันนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ ผู้ประกอบการห้างต้องหาลูกเล่นใหม่ๆ หรือคำตอบใหม่ๆ เข้ามาเสนอให้กับผู้บริโภค ยกตัวอย่างที่ Mega Food Walk ที่เมกาบางนาที่เราออกแบบ มันก็ไม่ใช่เรื่องของการ shopping อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของอาหารด้วย เพราะอย่างไรคนเราก็ต้องกินเป็นเรื่องพื้นฐาน คนไปทานอาหารก็ไปใช้เวลาร่วมกัน สร้างบรรยากาศให้มันไม่ใช่แค่เรื่องของการมาดู façade ที่น่าตื่นเต้น แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่เขาได้รับ ได้มาใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน รู้สึกอยากกลับไปซ้ำอยู่เรื่อยๆ อันนี้ถึงจะสร้างความแตกต่างได้มากกว่าการ shopping ทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ใหม่

Mega Foodwalk ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space

ASA CREW: พอมี e-commerce เข้ามากลุ่มคนที่เดินห้างเพื่อซื้อของก็ลดลง แต่จะมีอีกกลุ่มที่ต้องการจะเดินห้างเฉยๆ เพิ่มเข้ามา ตัวห้างที่ออกมาใหม่มีน้อยลงแต่เน้นเอกลักษณ์ของตัวเองมาก ในแง่ของการออกแบบที่จะเข้าไปเสริมส่วนนี้ มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
คุณมฆไกร: ทุกวันนี้ retail รูปแบบเดิมๆ อาจใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็ได้ มันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบต่อๆ ไป เช่น การเปิดเป็น outlet ที่สินค้าราคาถูก แล้วก็เป็นแบรนด์ชั้นนำที่ทุกคนก็อยากจะซื้อ แต่ไม่สามารถทำได้ใน commercial retail ในห้างปกติ พอมาเป็นโมเดลแบบ outlet ลูกค้าหรือผู้บริโภคทั่วไปก็รู้สึกว่าเป็นห้างที่เขาสามารถเข้าไปจับจ่ายใช้สอยได้ เรียกว่าเป็น magnet อย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นโมเดลอย่างหนึ่ง ในต่างประเทศมันก็มีมานาน สุดท้ายมันก็คงต้องเข้ามาในบ้านเราอยู่แล้ว ไม่ว่า online shopping จะรุกรุนแรงขนาดนี้หรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ว่าเมื่อมันรุกรุนแรง แต่ละคนจึงต้องเริ่มแสวงหาโมเดลใหม่ๆ ให้เร็วขึ้น ให้ทันกับการเริ่มชะลอตัวลงของ conventional retail หรืออาจจะเป็นโมเดลการหา magnet ในรูปแบบอื่น เช่น สวนสนุก หรือสวนน้ำ ซึ่งจริงๆ อาจจะทำมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเป็นแค่ตัวเลือก แต่ตอนนี้มันต้องมี anchor ที่แข็งแรงมากๆ เช่นที่เมกาบางนาที่มี anchor ที่แข็งแรงมากๆ ก็คือ IKEA เป็น super regional mall ที่เข้าไปแล้วครบทุกอย่าง อยู่ได้ทั้งวัน นี่ก็เป็นโมเดลหนึ่งที่เห็นว่าได้มีการพัฒนาเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ

Mega Foodwalk ผลงานออกแบบของ FOS : Foundry of Space

ในส่วนของการออกแบบ ในฐานะสถาปนิก เราก็ต้องพยายามนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การสร้างที่ว่างเพื่อการ shopping เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือออกแบบสำหรับถ่ายรูปลง Social media เป็นหลัก ซึ่งมันอาจจะไม่ยั่งยืนและอาจจะอายุสั้น แต่เราต้องพยายามให้ห้าง เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชน ในย่าน เข้ามาพบปะกัน มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าสิ่งสำคัญคือมันต้องสร้างบรรยากาศที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนเป็นห้องนั่งเล่นของเมือง เกิดการรับรู้ว่า ที่ที่นี้สามารถเข้าไปนั่งเล่น เดินเล่นบ่อยๆ และใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูงได้อย่างสบายใจ โดยไม่รู้สึกถูกกดดันให้ต้องซื้อของหรือจ่ายเงินมากมายทุกครั้งที่ไป พยายามให้ถึงที่สุดที่จะให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย เข้ามา enjoy ใน space เดียวกันได้ การนำเอาธรรมชาติเข้ามาก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้มีสัดส่วนให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้ที่ว่ามา คือสิ่งที่ online shopping ไม่สามารถมาแทนที่ได้

Pin It on Pinterest

Shares
Share This