สิงสาราสัตว์ในสถาปัตยกรรมไทย

เรื่อง: ชาตรี ประกิตนนทการ

สถาปัตยกรรมไทยประเพณีหากเรามองดูในรายละเอียดอย่างจริงจังจะพบว่ามีเป็นจำนวนมากที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยอาศัยแหล่งอ้างอิงทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสรรพสัตว์นานาชนิด เริ่มตั้งแต่องค์ประกอบตกแต่งอาคารไปจนถึงระดับที่ให้แนวคิดต่อการกำหนดรูปทางสถาปัตยกรรม แม้กระทั่งการเรียกชื่อโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของช่างไทยในอดีต ที่หากไล่เรียงดูก็จะเห็นเช่นกันว่ามีไม่น้อยที่ถูกนิยามขึ้นโดยอ้างอิงกับรูปร่างหรือลักษณะเฉพาะของสัตว์ ซึ่งคงจะไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า สถาปัตยกรรมไทยในด้านหนึ่งถูกออกแบบขึ้นจากแรงบันดาลใจที่มาจากสิงสาราสัตว์ต่างๆ ทั้งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติและในจินตนาการ เราสามารถแบ่งสิงสาราสัตว์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมไทยได้กว้างๆ เป็น 2 ประเภท คือ ความเกี่ยวข้องในฐานะที่ถูกใช้เป็นชื่อเรียกองค์ประกอบและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไทย กับความเกี่ยวข้องโดยตรงที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์รูปแบบทางสถาปัตยกรรม

ค้างคาวในเรือนไทยประเพณี อ้างอิง: หนังสือสรรพสัตว์ในงานสถาปัตกรรมไทย

ชื่อโครงสร้างและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจากสิงสาราสัตว์ (1)
กระบวนการก่อสร้างของช่างไทยในอดีตไม่ว่าจะเป็น “งานช่างชาวบ้าน” หรือ “งานช่างหลวง” ชื่อเรียกอาคาร โครงสร้าง และองค์ประกอบต่างๆ มักถูกกำหนดขึ้นโดยอิงกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสรรพสัตว์ต่างๆ หากช่างพิจารณาเห็นว่าองค์ประกอบหรือโครงสร้างใดมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับสัตว์ประเภทใดก็มักจะตั้งชื่อองค์ประกอบหรือโครงสร้างนั้นด้วยชื่อของสัตว์ประเภทนั้นๆ ในแง่หนึ่งนับว่าเป็นความชาญฉลาดของช่าง เพราะการตั้งชื่อโดยอิงกับสัตว์เหล่านี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในหมู่ช่างได้ง่ายขึ้นและสะดวกต่อการสื่อสารต่อผู้คนในวงกว้าง ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดีแม้กระทั่งในกลุ่มช่างทั่วไปในปัจจุบันก็เช่น อกไก่, สันตะเข้, กระเบื้องหน้าวัว, หลังคาปีกนก และ เดือยหางเหยี่ยว เป็นต้น ส่วนที่เป็นศัพท์ช่างเฉพาะทางสถาปัตยกรรมไทยประเพณีก็พบชื่อเรียกเกี่ยวกับสัตว์เป็นจำนวนมาก เช่น หางหงส์, ช่อฟ้าปากนก, ช่อฟ้าปากปลา, ซุ้มรังไก่, ไม้ข้างควาย, กบทู, บัวปากปลิง, ค้างคาว, ผีเสื้อ และช่องกบ เป็นต้น

การตั้งชื่อเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นชื่อที่ต้องสัมพันธ์กับสัตว์ประเภทนั้นๆ อย่างชัดเจน เช่น “ช่อฟ้าปากนก” ที่มีรูปทรงเหมือนปากของนก หรือ “ค้างคาว” ในเรือนไทยที่เป็นไม้ยึด “จันทันระเบียง” เข้ากับ “เต้า” ซึ่งเมื่อยึดเข้าด้วยกันแล้ว ไม้ยึดตัวนี้จะมองดูคล้ายกับค้างคาวที่กำลังห้อยหัวเวลานอน เป็นต้น 

บางครั้งชื่อเรียกก็เกิดขึ้นจากการเทียบเคียงตำแหน่งขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติของสัตว์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น “ลายผีเสื้อ” กับ “ลายค้างคาว” ซึ่งลวดลายทั้งสองชนิดนี้มีรูปทรงที่คล้ายกันแต่ตั้งอยู่คนละตำแหน่งกันและเป็นสาเหตุที่ทำให้ชื่อเรียกแตกต่างกัน โดยลายผีเสื้อจะเป็นลายปูนปั้นส่วนที่อยู่ใต้หลบสันหลังคาซึ่งใช้ตกแต่งภายนอกอาคาร ส่วนลายค้างคาวจะทำประดับลายฝ้าเพดานภายในอาคาร ดังนั้นการเรียกชื่อลวดลายทั้งสองจึงยึดตามธรรมชาติของสัตว์ทั้งสองชนิด คือ ค้างคาวเป็นสัตว์อาศัยในที่มืดจึงถูกนำไปเรียกลวดลายที่ประดับบนฝ้าภายในอาคารซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งที่มืดคล้ายกัน ส่วนผีเสื้อเป็นแมลงและอาศัยอยู่ในที่แจ้งจึงถูกนำไปเรียกลวดลายที่ประดับกลางแจ้ง  

ภาพเปรียบเทียบลายค้างคาว (ซ้าย) กับลายผีเสื้อ (ขวา) อ้างอิง: หนังสือสรรพสัตว์ในงานสถาปัตยกรรมไทย

สิงสาราสัตว์กับการสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า สถาปัตยกรรมมิใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ใช้สอยทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ประโยชน์ใช้สอยในแง่ของการทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ในเชิงอุดมคติบางอย่างนั้นคือเป้าหมายที่สำคัญมากประการหนึ่งของการสร้างงานสถาปัตยกรรม และแน่นอนงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีก็หลีกไม่พ้นธรรมชาติข้อนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่อาจกล่าวได้ว่าล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป้าหมายในการจำลองพื้นที่ในอุดมคติอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เขาพระสุเมรุ, สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ ชมพูทวีป ซึ่งการจำลองพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลยหากขาดซึ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิงสาราสัตว์

พื้นที่พุทธาวาสของวัดไทยในอดีตคือพื้นที่ที่มักถูกสร้างขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะให้มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของ “เขาพระสุเมรุ” ตามคติพุทธศาสนาให้ปรากฏเป็นรูปธรรม รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมใช้ในการสื่อความหมายนี้คือการสร้าง “พระปรางค์” ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูเขาขึ้นเป็นหลักประธานของวัดโดยล้อมรอบด้วยพระปรางค์ทิศและพระระเบียงที่สื่อความหมายถึง “เขาสัตตบริภัณฑ์” ที่โอบล้อมเขาพระสุเมรุ และสิ่งสำคัญที่มักจะขาดไม่ได้เลยคือการสร้างสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์ที่อยู่ใต้ฐานเขาพระสุเมรุ ซึ่งสัญลักษณ์ในส่วนนี้จะถูกสร้างขึ้นผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ “ชั้นฐานสิงห์”, “ชั้นฐานครุฑแบก”, ชั้นฐานยักษ์แบก” หรือการสร้างศิลปกรรมรูปสัตว์หิมพานต์ขึ้นมาตั้งเรียงรายอยู่ด้วยรอบฐานพระปรางค์ประธาน เป็นต้น และเพื่อความสมบูรณ์ทางความหมาย วัดบางแห่ง (เช่น วัดอรุณราชวราราม) จึงได้ออกแบบประติมากรรมที่ตั้งอยู่ในชั้นเรือนธาตุของพระปรางค์ให้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เพื่อสื่อสารโดยตรงถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ

ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม อ้างอิง: หนังสือคติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม โดยชาตรี ประกิตนนทการ)
ฐานลิงแบกและกินรีพระ ปรางค์วัดอรุณฯ (บน) อ้างอิง: หนังสือแบบสําารวจ รังวัด สถาปัตยกรรมวัดอรุณ ราชวราราม

พระเมรุมาศ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความสำคัญของสิงสาราสัตว์ที่เข้ามาเติมเต็มความหมายอันสมบูรณ์ให้แก่งานสถาปัตยกรรม พระเมรุมาศคือสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งก็คือการทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพ (พระอินทร์) กลับเขาพระสุเมรุ ด้วยเหตุนี้พระเมรุมาศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกออกแบบให้สื่อความหมายของการเป็นเขาพระสุเมรุให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีองค์ประกอบใดที่จะทำหน้าที่ดีที่สุดมากไปกว่ารูปประดับจำลองสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่จะถูกสร้างขึ้นมากมายและนำมาตั้งโดยรอบพระเมรุมาศ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง, สิงห์, หงส์, กินรี, ราชสีห์ หรือคชสีห์ เป็นต้น ในภาพวาดบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเพทราชาในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นริ้วกระบวนอัญเชิญพระบรมศพที่นำขบวนด้วยหุ่นรูปสัตว์หิมพานต์ขนาดใหญ่มากถึง 18 ตัว​ (2) สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในการสร้างความหมายของเขาพระสุเมรุให้เกิดขึ้น หากขาดซึ่งรูปสัญลักษณ์ของสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ เขาพระสุเมรุย่อมไม่อาจสมบูรณ์ได้

ตําาราภาพสัตว์หิมพานต์ สําหรับผูกหุ่นแห่พระบรมศพ ครั้งรัชกาลที่ 3 อ้างอิง: หนังสือจิตรกรรมภาพ สัตว์หิมพานต์ พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม

นอกจากการใช้รูปสัตว์เข้ามาในงานสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ในอุดมคติตามที่กล่าวไป รูปสัตว์หิมพานต์ยังถูกใช้ในบริบทอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การใช้รูปทรงพญานาคออกแบบขึ้นเป็น “สะพานนาค” ในปราสาทหินของวัฒนธรรมเขมรที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นสัญลักษณืในการเปลี่ยนผ่านจากโลกมนุษย์เข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า, การใช้ตัว “มอม” ในวัฒนธรรมภาคเหนือ หรือ “มกร” ในวัฒนธรมอีสาน มาออกแบบเป็นราวบันไดก่อนเข้าโบสถ์ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยป้องกันรักษาสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายเข้าไปในโบสถ์ หรือแม้กระทั่งการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นเป็นรูปสัตว์ทั้งตัวอาคารก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เช่นกันในหลายพื้นที่ เช่นกรณีการสร้างเมรุรูป “นกหัสดีลิงค์” (นกที่มีรูปร่างเหมือนช้าง) ตามธรรมเนียมเจ้าเมืองในภาคอีสานที่เมื่อถึงแก่กรรมแล้วมักจัดงานศพเป็นการใหญ่โตมโหฬารและทําเมรุเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ (3)

ซ้าย: ปราสาทนกหัสดีลิงค์สําหรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของล้านนา อ้างอิง: หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ
ขวา: ตัวมอม วัดบุปผาราม เชียงใหม่ อ้างอิง: พระมหาจิรศักดิ์ เว็บไซต์วัดบุปผาราม

สิ่งที่อธิบายมาโดยสังเขปทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของสรรพสัตว์ต่างๆ (ทั้งที่มีอยู่จริงและในจินตนาการ) ที่มีต่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยทั้งในมิติเชิงช่างและมิติทางสัญลักษณ์ การทำงานร่วมกันดังกล่าวได้เข้าช่วยก่อรูปสิ่งที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีให้เกิดขึ้น และหลายส่วนก็ยังสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงงานสถาปัตยกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน

 

เชิงอรรถ

  1. เนื้อหาในหัวข้อนี้เป็นการสรุปความจาก สมใจ นิ่มเล็ก, สรรพสัตว์ในงานสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557).
  2. ดูรายละเอียดเพิ่มใน Barend J. Terwiel, “Two Scrolls Depicting Phra Phetracha’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation,” The Journal of Siam Society. Vol 104 (2016): 79-94.
  3. ประทับใจ สิกขา, นกหัสดีลิงค์ (อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2556).

Pin It on Pinterest

Shares
Share This