ในความสัมพันธ์ระหว่างขนาด: โลกของช้าง จังหวัดสุรินทร์

เรื่อง: อ. ดร. วิญญู อาจรักษา
สถาปนิก: Bangkok Project Studio ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา

สภาพแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆ ในเมืองมักถูกกำหนดให้มีขนาดที่สอดคล้องไปกับร่างกายมนุษย์และกิจกรรมที่เราคุ้นเคย แต่ในบริบทซึ่งเราดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์ การสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมต้องคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตต่างขนาดกัน ความท้าทายในการออกแบบความเชื่อมโยงนี้อาจก่อให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประสบการณ์ที่ช่วยให้เราตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คน สัตว์ และสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป ในกรณีของช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การพัฒนาปรับปรุงศูนย์คชศึกษา หรือ Elephant Study Center ที่ จ.สุรินทร์ โดยสำนักงาน Bangkok Project Studio ของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา ได้ก่อให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว


ปัจจุบันศูนย์คชศึกษาได้รับการประชาสัมพันธ์ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “โลกของช้าง จ.สุรินทร์” หรือ “Surin Elephant World” ตามแนวคิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โดยสอดคล้องกับโครงการนำช้างคืนถิ่นของรัฐบาลและการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนหมู่บ้านช้างบ้านตากลางของชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มานานหลายร้อยปี ชาวกูยมีความเชี่ยวชาญด้านการคล้อง เลี้ยง และฝึกสอนช้าง รวมถึงมีวิถีชีวิตและประเพณีที่ผูกพันกับช้างตั้งแต่เกิดจนตาย ปัจจุบันมีช้างในชุมชนมากกว่า 200 เชือก โดยในหมู่บ้านยังมีวัด สุสาน ศาลา และป่าของช้างโดยเฉพาะ ในส่วนของบ้านพักอาศัย พื้นที่สำหรับช้างซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาสูงโปร่งที่ยื่นจากตัวเรือนสะท้อนถึงความผูกพันกับช้างดั่งสมาชิกในครอบครัว

การพัฒนาโครงการโลกของช้างเริ่มต้นในพ.ศ. 2558 บนเนื้อที่ราว 300 ไร่จากพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ของหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สุรินทร์ อยู่แล้ว โดยประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์หลัก พิพิธภัณฑ์โรงช้างสำคัญ พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวกูย ลานการแสดง พื้นที่เลี้ยงช้าง และร้านค้า ในส่วนของสิ่งก่อสร้างใหม่ซึ่งออกแบบโดย Bangkok Project Studio นั้นประกอบด้วย อาคารลานแสดงช้าง หอชมทิวทัศน์ พิพิธภัณฑ์ และซุ้มกำแพงทางเข้าโครงการ ปัจจุบันอาคารทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีเพียงอาคารสองหลังแรกเท่านั้นที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ โดยสถาปนิกอธิบายถึงแนวคิดหลักในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมในโครงการนี้ว่าเป็นเรื่องของ “ขนาด” ซึ่งได้คำนึงถึงความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างคนและช้าง โดยบางส่วนเป็นการใช้พื้นที่แยกกันและบางส่วนก็รวมกัน

ในส่วนของการออกแบบอาคารลานแสดงช้าง หรือ Elephant Stadium สถาปนิกเปรียบว่าเป็นการสร้างสนามเด็กเล่นให้กับช้าง โดยปรับใช้รูปทรงหลังคาจั่วจากบ้านของชาวกูยให้ขยายครอบคลุมพื้นที่ขนาด 70 x 100 เมตร เอาไว้ จากนั้นจึงคว้านหลังคาส่วนที่อยู่เหนือลานการแสดงออก และเหลือไว้เฉพาะส่วนหลังคาโดยรอบที่ลอยอยู่เหนือพื้นที่ของผู้ชมราว 7 เมตร ด้วยเป็นฉากหลังให้กับการปรากฏตัวของช้างและเป็นองค์ประกอบหลักในการกำหนดที่ว่าง สถาปนิกจึงออกแบบให้ผืนหลังคามีมวลและดูหนัก โดยปูกระเบื้องดินเผาขนาด 20 x 20 เซนติเมตร ด้านบนและใช้ไม้เนื้อแข็งกว้าง 4 นิ้ว ตีปิดโครงสร้างหลังคาที่มีความหนาประมาณ 1.5 เมตร เอาไว้ อย่างไรก็ตาม การตีไม้แบบเว้นร่องช่วยให้ผืนหลังคามีความโปร่งพอที่ลมจะพัดผ่านเพื่อช่วยในการระบายความร้อนได้ นอกจากนี้ สถาปนิกยังเจาะช่องบนผืนหลังคาตามจุดต่างๆ โดยรอบเพื่อให้ต้นยางนาสามารถทะลุช่องเหล่านั้นขึ้นไปให้ร่มเงากับอาคารได้ ในด้านโครงสร้าง หลังคาผืนใหญ่นี้มีเสาหน้าตัดขนาด 30 x 50 เซนติเมตร เรียงอยู่แนวรอบนอกเพียง 2 แนว โดยช่วยรองรับหลังคาซึ่งมีระยะยื่นออกสู่ลานแสดงราว 10 เมตร สิ่งที่น่าแปลกใจเมื่อแรกเห็นอาคารลานแสดงช้างนี้คือลักษณะที่กลมกลืนไปกับอาคารโดยรอบ แต่เมื่อเราเข้าสู่ภายในจะพบการแปลงหลังคาจั่วธรรมดาให้เป็นองค์ประกอบที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง


สำหรับพื้นที่ของผู้เข้าชม สถาปนิกออกแบบเป็นเนินซึ่งมีรูปทรงอิสระ โดยวางอยู่บนผังที่เปิดด้านหนึ่งสำหรับการเข้าออกของช้าง เนินดินนี้วิ่งขึ้นลงล้อไปกับแนวหลังคาและช่วยโอบล้อมลานการแสดงเอาไว้ โดยในฝั่งซึ่งอยู่ระหว่างช่วงเสาริมนอก ความสูงชันของตัวเนินสร้างการเปลี่ยนผ่านจากด้านนอกสู่ด้านใน สำหรับฝั่งซึ่งหันสู่ลานตรงกลางนั้นสถาปนิกกำหนดความลาดชันไว้ที่ประมาณ 1:2 โดยม้านั่งคอนกรีตถูกวางเรียงต่อกันไปฝั่งละ 3 ถึง 6 แถว และมีทางลาดหรือบันไดต่อกันเป็นทอดๆ นอกจากนี้ยังมีกระถางต้นไม้คอนกรีตแทรกตามจุดต่างๆ ราว 50 กระถางซึ่งช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเนิน ในขณะที่หินบะซอลต์สีเทาดำทั้งเล็กและใหญ่ช่วยยึดหน้าดินเอาไว้ อาคารหลังนี้มีความน่าสนใจในเชิงสุนทรียภาพที่ต่างออกไปจากทั้งลานแสดงช้างและอาคารสนามกีฬาทั่วไป ปริมาตรของที่ว่างโล่งซึ่งเกิดการปะทะกันระหว่างผืนหลังคาและตัวเนิน ระหว่างกลุ่มต้นไม้และแนวเสา ดูจะทำให้ผู้เข้าชมรับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของช้าง สถาปัตยกรรม และธรรมชาติ


จากอาคารลานแสดงช้าง เราสามารถมองเห็นหอชมทิวทัศน์อิฐ หรือ Brick Observation Tower ได้ผ่านช่องโล่งของผืนหลังคา โดยเป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นที่สุดในโครงการด้วยความสูงเกือบ 23 ม. ตัวหอคอยนี้มีผังคล้ายกับหยดน้ำ โดยสถาปนิกวางให้ด้านยาวเอียงรับมุมมองจากทางเข้าหลักของโครงการ ผนังด้านนอกของอาคารมีลักษณะเป็นโครงสร้างเสาและคานโปร่ง ซึ่งผิวของโครงสร้างนี้ถูกหุ้มด้วยอิฐดินเผาขนาด 15 x 30 x 5 ซ.ม. โดยตามแบบนั้นสถาปนิกกำหนดให้การก่ออิฐทำหน้าที่เป็นทั้งแม่แบบและส่วนประสานเข้ากับเนื้อคอนกรีต โครงสร้างเสาและคานนี้สานต่อกันเป็นลวดลายห่อหุ้มที่ว่างด้านในที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ ซึ่งต่อสลับกันเป็นจังหวะขึ้นไปและค่อยๆ ยื่นหายไปสู่ท้องฟ้าในชั้นบนสุด ทั้งนี้ แม้ว่าจุดประสงค์เดิมของโครงการจะต้องการเพียงเพื่อสร้างจุดหมายตา แต่สถาปนิกได้เพิ่มการใช้สอยเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่เราสามารถเดินขึ้นไปด้านบนได้ (รวมถึงเป็นพื้นที่หลบภัยในกรณีฉุกเฉิน) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เยี่ยมชมมีความเข้าใจในโครงการ ชุมชน และบริบทโดยรอบมากขึ้น


ด้วยแนวคิดนี้สถาปนิกจึงพยายามชะลอการเคลื่อนที่ในตัวอาคาร โดยไม่ได้ออกแบบนำผู้เยี่ยมชมไปยังด้านบนให้เร็วที่สุด แต่สามารถใช้เวลาในการเดินและชมทิวทัศน์ ซึ่งองค์ประกอบที่ช่วยสร้างประสบการณ์นี้ คือช่องโล่งจำนวนมากในโครงสร้างผนังที่เราเลือกมองออกมายังพื้นที่ด้านนอกได้ นอกจากนี้ความแตกต่างของโครงขนาด 30 x 50 ซ.ม. และ 50 x 50 ซ.ม. ก็สร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละชั้น โดยเมื่อเดินไปตามแนวผนัง บางชั้นจะมีความโปร่งที่เห็นทิวทัศน์ภายนอกได้ ในขณะที่บางชั้นจะมีเพียงแสงที่ลอดผ่านเข้ามา องค์ประกอบอีกชิ้นที่มีส่วนสำคัญต่อการรับรู้คือบันได ซึ่งแต่ละชุดนั้นถูกวางพาดสลับทิศกันไปมา ทำให้การเดินมีมุมมองที่หลากหลายและมีระยะเวลาที่ทอดนานออกไป โดยปกติแล้วอาคารหอสังเกตการณ์มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่อย่างเป็นอิสระ แต่หอชมทิวทัศน์อิฐนี้กลับสร้างการปิดล้อมโดยคำนึงถึงการรับรู้ของคนที่อยู่ภายในที่อ้างอิงไปยังกลุ่มช้างที่อยู่ภายนอกได้อย่างลึกซึ้ง


นอกจากอาคารลานแสดงช้างและหอชมทิวทัศน์แล้ว ทางเข้าโครงการและพิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกส่วนที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างถูกจัดวางใหม่ โดยกำแพงอิฐซึ่งมีรูปทรงสอบขึ้นคล้ายพีระมิดขั้นบันได 2 กำแพงทำหน้าที่เป็นประตูและจุดเปลี่ยนเชิงขนาดจากคนสู่ช้าง ในขณะที่ตัวพิพิธภัณฑ์ซึ่งแผ่ออกบนที่ดินกว่า 9 ไร่ได้เปิดแนวกำแพงอิฐตามมุมต่างๆ เพื่อให้ช้างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดง กล่าวได้ว่าผลงานทั้งหมดของ Bangkok Project Studio ในโครงการโลกของช้าง จ.สุรินทร์ นี้เป็นตัวอย่างของการสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อรองรับผู้ใช้งานที่มีสายพันธุ์ต่างกัน ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับการกำหนดที่ว่างแบบโปร่งหรือปิดล้อม การขยายหรือย่อสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ การเลือกใช้วัสดุอุตสาหกรรมและท้องถิ่น และการก่อสร้างที่มีทั้งความละเอียดและหยาบ รวมถึงการปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามามีบทบาทในตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งสถาปนิกสามารถประมวลเอาประเด็นเหล่านี้มาสร้างสถานการณ์ที่วางเราไว้ในความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ และสภาพแวดล้อม ที่ทั้งคุ้นเคยและก็แปลกแยกไปพร้อมๆ กัน

Pin It on Pinterest

Shares
Share This