CREATIVE CREWS

ภาพ: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ
เรื่อง: ชนิภา เต็มพร้อม

Creative Crew

ตึกแถว 2 ห้องสุดท้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ข้างศาลเจ้าจีน ในย่านเมืองเก่าเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ไม่ไกลจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมากนัก หากมองจากภายนอกดูกลมกลืนไปกับตึกแถวข้างเคียง จนเราไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า ที่แห่งนี้จะเป็นสำนักงานสถาปนิกที่มีผลงานมีชื่อเสียงทั้งประเภทอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง คุณปุยฝ้าย-ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ และ คุณแบงค์-เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ สองผู้นำทัพแห่ง Creative Crew จะมาเล่ารายละเอียดในการสร้างทีมนักรังสรรค์งานออกแบบที่หลบซ่อนอยู่ในย่านชุมชนคนจีนแห่งนี้

Creative Crew

ความเป็นมา
ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่ทั้งสองต่างทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ คุณปุยฝ้าย ทำงานที่ WOHA Architects โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทอาคารสูง อย่างคอนโดและโรงแรม ส่วนคุณแบงค์ทำงานอยู่ W Architects ที่จะเน้นด้านอาคารสาธาณะ เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน อาคารเก่า เป็นต้น ซึ่งเป็นสายงานคนละด้าน จนกระทั่งคุณปุยฝ้ายได้รับให้ดูแลงานออกแบบอาคารสูงในประเทศไทยจากบริษัท จึงขอเปิดสาขาที่ประเทศไทยขึ้น เพื่อง่ายต่อการประสานงาน ในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศเริ่มถดถอย ทาง WOHA เลือกที่จะปิดสาขา

Creative Crew

คุณปุยฝ้ายยังคงอยู่ทำบริษัทในไทยต่อเนื่องมาจนขยับขยายใหญ่ขึ้น มีพนักงานมากขึ้น แต่จากการที่เป็นบริษัทใหญ่มาตลอด มีแต่งานประเภทอาคารสูงอย่าง คอนโด โรงแรมเป็นหลัก และรู้สึกว่ายังมีความสนใจและความสามารถออกแบบอาคารประเภทอื่น จึงได้แยกตัวออกมา เพื่อทำออฟฟิศในขนาดที่เล็กลง มีความคล่องตัวมากขึ้นและสามารถรับทำโครงการใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้ โดยชวนคุณแบงค์ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ในขณะนั้น มาร่วมกันก่อตั้งทีม Creative Crew ขึ้นมา

Creative Crew

แนวความคิดในการออกแบบ
กระบวนการทางความคิดในแบบฉบับของ Creative Crew เริ่มต้นด้วยการทำงาน 2 วีธี คือ ‘วิธีรวบรวมความคิด’ จากทั้งคนในทีมที่ได้รับมอบให้ดูแลโครงการ รวมถึงคุณปุยฝ้ายและคุณแบงค์ด้วยที่จะต้องเขียนบรรยายเกี่ยวกับโครงการนั้นสั้นๆ มีความยาวไม่เกิน 80 -100 คำ อาจเป็นแง่ของการตีความในด้านต่างๆ เช่น จุดเด่นของโครงการ แนวความคิดที่จะใช้ในการออกแบบ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้ง ประเด็นที่อยากแก้ไขหรือนำเสนอ เป็นต้น เพื่อตีกรอบความคิดให้ชัดเจนและเข้าใจในงานที่จะทำมากขึ้น

อีกวิธีหนึ่งคือ ‘การทำวิจัยระยะสั้น’ วิธีนี้จะช่วยสังเคราะห์ข้อมูล ทำให้มีทิศทางในการออกแบบที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้บางโครงการที่อาจจะมีข้อมูลบางส่วนยังไม่ชัด อย่างโครงการ Classroom Makeover for the Blind ที่ในตอนแรกลูกค้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรดี ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่ตั้ง เริ่มจากการค้นคว้าหาข้อมูล ประกอบกับไปพูดคุยสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงศึกษาธิการ มาประมวลผลและทำสรุปโครงการขึ้นมาได้ ว่าจะทำห้องพัฒนาการสำหรับคนตาบอด

การจัดพื้นที่
จากเดิมที่เคยเช่าออฟฟิศอยู่ย่านเอกมัยมานานกว่า 10 ปี ควรแก่เวลาที่ต้องมีสถานที่ทำงานเป็นของ Creative Crew เอง “เริ่มต้นจากเราสนใจอาคารประเภทตึกแถว เนื่องจากเป็นประเภทอาคารที่มีจำนวนมาก มีพื้นที่ขนาดย่อมแต่ใช้งานได้หลากหลาย อย่างเช่น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนใช้เป็นที่เก็บของ ที่พักอาศัยหรือทำออฟฟิศก็ได้ เราเริ่มจากการศึกษาผังเมืองของกรุงเทพ เพราะเราสนใจพื้นที่ย่านเมืองเก่า แต่ก็ยังต้องใกล้รถไฟฟ้าเพื่อให้พนักงานเดินทางมาได้สะดวก เราใช้วิธีเดินเท้าเข้าไปในย่านต่างๆ และพูดคุยกับคนในชุมชนเพื่อหาสถานที่ที่ตรงกับความต้องการ

Creative Crew

จนได้มาเจอตึกแถว 2 ห้องนี้ มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 650 ตารางเมตร แบ่งเป็นทั้งหมด 7 ชั้น ซึ่งเป็น 6 ชั้นกับอีก 1 ชั้นต่อเติมที่เจ้าของเดิมทำไว้อยู่แล้ว เราแบ่งครึ่งอาคารออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน โดยห้องที่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นด้านที่ได้รับความร้อนมาก จะเป็นส่วนที่ใช้งานชั่วคราว เช่น พื้นที่ส่วนกลาง pantry ห้องน้ำ บันได และทางเดิน ทั้งยังช่วยเป็นฉนวนความร้อนที่ดีให้กับอาคารอีกฝั่งที่ใช้งานหลักเป็นพื้นที่ทำงาน ที่กั้นเป็นส่วนห้องปรับอากาศด้วย ที่ชั้น 1 มีแผนที่จะทำเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ หรือกิจกรรมต่างๆ หากไม่มีผู้เช่าถาวร ชั้น 2 ปัจจุบันมีออฟฟิศของเพื่อนเช่าอยู่ ชั้น 3 เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สามารถใช้เป็นห้องประชุมและทำกิจกรรมได้หลากหลาย มีต้นลำดวนที่มองเห็นได้ชัดจากภายนอกอาคาร เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ด้วยพื้นที่สีเขียวได้แม้อยู่ในข้อจำกัด ไม้ยืนต้นขนาดกลางนี้สามารถอยู่ในร่มได้ ต้องการเพียงแสงแดดรำไรบริเวณโถง ที่ถูกเปิดโล่งจากการทุบพื้นบางส่วนของชั้น 4 ออก และยังคงเหลือร่องรอยของการทุบ ทิ้งไว้ให้เห็นอยู่ตามผนัง

Creative Crew

เช่นเดียวกับร่องรอยของบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กเดิมที่เป็นแนวยาวตามตัวอาคาร เปลี่ยนเป็นบันไดเหล็กรูปตัวยูในปัจจุบันด้วย และในทุกวันอังคารช่วงเย็น พื้นที่นี้ยังใช้จัด chef table เพื่อเลี้ยงพนักงานและเพื่อนฝูงอีกด้วย นอกจากนี้ชั้น 3 ยังทำหน้าที่เสมือนเป็นพื้นที่กั้นแบ่งระหว่างส่วน 2 ชั้นล่าง และออฟฟิศของ creative crew ที่อยู่ตั้งแต่ชั้น 4 ขึ้นไป ซึ่งในส่วนชั้น 4-6 จะเป็นสตูดิโอที่ถูกแยกเป็น 3 ชั้น สามารถรองรับพนักงานได้มากที่สุดถึง 50 คน แต่ละชั้นจะมีสถาปนิกระดับ senior คอยดูแลอยู่ แต่พนักงานก็สามารถปรับเปลี่ยนขึ้นลงแต่ละสตูดิโอไปตามการประสานงานที่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดเล็กๆ อยู่ที่ชั้น 5 และห้องเก็บตัวอย่างวัสดุ อยู่ที่ชั้น 6 ในส่วนชั้น 7 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดใช้เป็นห้องพักพนักงานทั้งแบบอยู่อาศัยประจำและชั่วคราว”

Creative Crew

วัสดุที่นำมาใช้ในการทำออฟฟิศ จะเป็นวัสดุที่หาได้จากพื้นที่รอบๆ ในรัศมี 500 เมตรทั้งหมด อย่างโรงขายเหล็ก และโรงสังกะสีที่อยู่ปากซอยเจริญกรุง 31 Creative Crew ใช้แผ่นสังกะสีมาพับทำบานตู้และผนังในห้องประชุม ดัดแปลงมาจากบานประตูห้องเก็บความเย็นของโรงน้ำแข็งที่อยู่ 2-3 ห้องถัดไป ใช้โต๊ะสเตนเลสพับได้คล้ายกับร้านอาหารตามสั่งริมทางที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ ประตูเหล็กยืดอันเป็นเอกลักษณ์ของตึกแถวทำหน้าที่เป็นได้ทั้งฉากกั้นพื้นที่ และประตูที่เปิดได้กว้าง สะดวกต่อการขนของที่มีขนาดใหญ่ ทั้งวัสดุและช่างล้วนมาจากละแวกใกล้เคียง ช่วยทำให้อาคารดูกลืนไปกับเพื่อนบ้านและก่อสร้างได้ง่าย

Creative Crew
Creative Crew
Creative Crew

เครื่องมือการทำงาน
ปัจจุบัน Creative Crew มีพนักงานทั้งหมด 30 คน “การทำงานเราเน้นการคุยกันเป็นทีม ประสานงานกับหัวหน้าสตูดิโอหรือหัวหน้าที่รับผิดชอบดูแลแต่ละโครงการ เรามีงานหลากหลายขนาดตั้งแต่เล็กที่สุด 22 ตารางเมตร ไปจนถึงแสนตารางเมตร หากเป็นโปรเจคเล็กๆ ที่ใช้คนทำคนเดียวก็คุยกันโดยตรง การสื่อสารออนไลน์ในยุคปัจจุบันสามารถช่วยอัพเดตและติดตามงานกันได้ตลอดเวลา” ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการใช้วัสดุในการตกแต่งออฟฟิศ อย่างโต๊ะสเตนเลสหรือผนังและตู้สังกะสีที่สามารถใช้เป็นกระดานเขียนอธิบายงานเวลาประชุมได้เลย โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษ

Creative Crew

การแบ่งเวลาทำงาน
การทำวิจัยหาข้อมูลระยะสั้นที่เป็นการทำงานขั้นต้น จะทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการออกแบบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย แล้วแต่ประเภทของโครงการ อย่างโครงการ Classroom Makeover for the Blind ใช้เวลาร่วม 1-2 เดือน เนื่องจากไม่ได้มีโปรแกรมมาตั้งแต่ต้น จึงใช้ระยะเวลาในการหาข้อมูลมากกว่าปกติ ในส่วนของการแบ่งเวลาการทำงานของพนักงาน จะมีเวลาเข้างานปกติ 10.00-19.00 น. แต่หากมีงานที่ต้องทำล่วงเวลา พนักงานที่บ้านอยู่ไกล หากเดินทางกลับไม่สะดวกสามารถนอนค้างที่พักที่จัดเตรียมไว้ให้บนชั้น 7 ได้

Creative Crew

เป้าหมายต่อไป
“เป้าหมายของเรามี 2 อย่างที่ชัดเจน อย่างแรก จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ทำโครงการที่หลากหลาย แต่ส่วนที่อยากโฟกัส คือการอนุรักษ์อาคารเก่าหรืออาคารที่มีคุณค่าความสำคัญ ไม่ทุบทำลายให้เป็นที่ดินว่างเปล่า แล้วสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ อย่างตึกออฟฟิศของเรา หรือ ศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่มีประโยชน์มาก เรามองว่ายังมีอาคารเก่าที่เคยมีคุณค่าอยู่ในเมืองอีกเยอะ ถึงวงจรของมันที่จะได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ได้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการในปัจจุบัน

Creative Crew

นอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดการก่อสร้างลงไปแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เราได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ในการที่จะแสดงให้คนทั่วไปเห็นคุณค่า ศักยภาพ และความสำคัญของประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เรามีอยู่เดิม อีกส่วนหนึ่ง ในส่วนภูมิภาคเอเชีย ทั้งประเทศไทยและเพื่อนบ้านโดยรอบ เราต่างก็เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มีความเข้าใจในภูมิหลังที่คล้ายคลึงกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโตขึ้น โอกาสที่มีงานก่อสร้างมากขึ้น จะช่วยให้เราพัฒนาความรู้ความสามารถไปสู่อีกขึ้นหนึ่ง เป้าหมาย 2 อย่างนี้จะเป็นเป้าหมายหลักที่นำเราไปสู่โครงการที่เราเลือกและอยากที่จะทำ”

Creative Crew

Pin It on Pinterest

Shares
Share This