Chalermpon sombutyanoochit, The Social Event Director

เราพยายามนำกิจกรรมดนตรีไปรวมกับกิจกรรมวิชาการ แต่ก็ยังเน้นไปในเชิงสันทนาการ 80 เปอร์เซ็นต์ และวิชาการ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะเชื่อมโยงให้สถาปนิกรุ่นน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น และก็ยังได้รับความรู้จากส่วนวิชาการกลับไปด้วย

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต
ฝ่ายปฏิคม สมาคมสถาปนิกสยามฯ

อาษา: อยากให้คุณเฉลิมพล ช่วยเล่าถึงบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายปฏิคมให้ฟังสั้นๆ 

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: หน้าที่ของฝ่ายปฏิคมส่วนใหญ่ก็จะเป็นตารางกิจกรรมหลักของสมาคมฯ ในเชิงสันทนาการหรือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกสมาคมฯ ทุกระดับวัย ซึ่งในตารางปฏิทินที่ผ่านมาก็จะเห็นกิจกรรมจำพวกดนตรีและกีฬาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้เน้นไปในเชิงวิชาการมากนัก ส่วนของกิจกรรมจากฝ่ายปฏิคมจะเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปในเชิงของการพักผ่อนเป็นหลัก โดยเราก็จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาคมฯ อยู่แล้ว 

อาษา: นโยบายและวิสัยทัศน์ของฝ่ายปฏิคมในคณะกรรมบริหารชุดนี้มีแนวทางเป็นอย่างไร

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: จากที่ได้ปรึกษาและหารือกับท่านนายก ในส่วนของกิจกรรมในปฏิทินหลักของสมาคมฯ จะค่อนข้างมีความเฉพาะกลุ่มมาก แต่เราก็วางแผนเพื่อที่จะกระจายรูปแบบรวมถึงจัดกิจกรรมให้เกิดความเหมาะสมกับกลุ่มวัยมากขึ้น อย่าง กิจกรรม ASA Golf ก็จะมีความเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นสถาปนิกรุ่นพี่ๆ มาร่วมกิจกรรม แต่ถ้าเป็น ASA Cup ก็จะเห็นสถาปนิกรุ่นเด็กๆ เยอะขึ้น แต่ด้วยจุดมุ่งหมายที่เราอยากจะเพิ่มเติมหรือออกแบบกิจกรรมให้เกิดความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น คือการนำกิจกรรมของฝ่ายปฏิคมไปผสมผสานกับกิจกรรมกลุ่มอื่นๆ บ้าง เช่น นำกิจกรรมดนตรีไปรวมกับกิจกรรมวิชาการ แต่ก็ยังหนักเน้นไปในเชิงสันทนาการ 80 เปอร์เซ็นต์ วิชาการ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะเชื่อมโยงให้สถาปนิกรุ่นเยาวน์ หรือน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมกันมากขึ้นด้วย และก็ยังมีได้รับความรู้ที่มีประโยชน์จากส่วนวิชาการกลับไปด้วย อันนี้จะเป็นแนวทางและนโยบายที่เรามุ่งเน้นกันอยู่

อาษา: โครงการต่างๆ ที่เคยจัดขึ้น มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านี้มีการรับมือหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมอย่างไร

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: ตัวอย่างกิจกรรมในปฏิทินหลักที่ผ่านมา เช่น ASA Cup, ASA Run, ASA Golf, และ ASA Badminton จะเป็นในเชิงของกีฬาค่อนข้างเยอะ เพราะกลุ่มสถาปนิกหลายๆ ท่านจะเล่นกีฬาประมาณนี้กันอยู่เยอะพอสมควร ซึ่งการจัดกิจกรรมของเราในทุกครั้งก็จะได้รับความสนใจและความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยเราก็จะประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางหลักของสมาคมฯ เช่น เว็บไซต์ เพจ และช่องทางอื่นๆ ร่วมถึงเราจะมีกลุ่มทำงานย่อยของแต่ละกิจกรรม เช่น ASA Golf หรือ ASA Run ย่อยลงไปอีก ก็จะเป็นชุดกรรมการที่เข้าร่วมกันตามความสนใจและความถนัดในวงการกิจกรรมและกีฬาประเภทนั้นๆ 

ตลอดจนกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดสมาชิกของเราส่วนใหญ่จะทราบถึงปฏิทินกิจกรรมของสมาคมฯ กันดีอยู่แล้วด้วย เพราะเราวางกิจกรรมไว้ในปฏิทินหลักให้ถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมของเราที่ส่วนใหญ่ต้องมีการรวมตัวกันไม่สามารถจัดขึ้นได้ เช่น การเล่นกีฬา หรือการจัดแสดงดนตรี เราจึงจำเป็นต้องหยุดกิจกรรมในส่วนนี้ไปก่อนเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะจะปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ก็คงจะเป็นไปได้ยาก แต่อย่างปีที่ผ่านมาที่สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มนำกิจกรรมกลับมาได้บ้างเป็นบางกิจกรรม เช่น ASA Golf 

อาษา: แนวคิดและทิศทางการจัดกิจกรรมในอนาคตให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของฝ่ายปฏิคมเป็นอย่างไร

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: กิจกรรมอีกส่วนที่เรากำลังผลักดันและเป็นกิจกรรมที่เราเริ่มทำในช่วงที่กิจกรรมอื่นๆ ต้องหยุดไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสมาคมสถานปนิกฯ และ อาษาซ่า (AsAsA) หรือ สมาพัน สมาคมศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย ที่รวมเอาศิษย์เก่าของทุกสถาบันที่มีการเปิดการเรียนการสอนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาจัดกิจกรรมออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เป็นกิจกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนไปในเชิงของสถานการณ์ จึงยังไม่ได้มีการแพร่หลายหรือประชาสัมพันธ์ไปถึงเหล่าสมาชิกมากนัก ส่วนรูปแบบกิจกรรมก็เป็นไปตามหัวใจหลักของ AsAsA (อาษาซ่า) และฝ่ายปฏิคมของสมาคมฯ ที่เน้นไปในเชิงสันทนาการเป็นหลัก กิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นในกลุ่มของการจัดแสดงดนตรีออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมจัดหาทุนสำหรับส่งเสริมกิจกรรมของน้องๆ ในคณะสถาปัตยกรรมศาตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ 

จริงๆ ในส่วนของอาษาซ่า (AsAsA) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการก่อตั้งจากสถาปนิกรุ่นใหญ่ หรือพี่ๆ ในวงการ เจ้าของบริษัท และเป็นพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ในวงการสถาปัตยกรรมหลายๆ ท่านร่วมกันก่อตั้งทั้งนั้นเลย แต่จุดประสงค์โดยรวมเลยเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของทั้งอาษาซ่า (AsAsA) และสมาคมฯ ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็จะมีกลุ่มน้องๆ สถาปนิกรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันจัดกิจกรรมค่อนข้างเยอะเลย เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ของทิศทางและแนวทางในการจัดกิจกรรมในอนาคตที่จะตอบโจทย์และเข้าถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น 

อาษา: โครงการที่กำลังวางแผนจะจัดขึ้นมีโครงการใดที่น่าสนใจบ้าง

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: เร็วๆ นี้ เรากำลังจะมีกิจกรรมที่ร่วมกันกับ อาษาซ่า (AsAsA) เช่นเดิม เป็น AsAsA Trip ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีมานานแล้วและได้รับความร่วมมือกับแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี โดยเราก็มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เหมาะสมและการปรับรูปแบบเนื้อหาให้สามารถเข้าถึง ตลอดจนส่งเสริมเนื้อหาของสถานที่ที่เราจะเดินทางไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงอนุรักษณ์หรือเชิงแนวทางการพัฒนาอาคารทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น 

โดยสถานที่ที่เราจะจัดขึ้นในปีนี้ก็น่าจะเป็น จ.กาญจนบุรี ซึ่งเราก็เล็งเห็นกันว่า จ.กาญจนบุรี ก็เป็นสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าและน่าสนใจอย่างมาก ส่วนจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมาก็จะเป็นหลักร้อยคนอยู่แล้ว แต่เราก็จะเน้นผู้เข้าร่วมไปในส่วนของตัวแทนจากสถาบันต่างๆ ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องที่เรียนจบกันมาแล้ว รวมถึงบริษัทสถาปนิกต่างๆ ด้วย เพื่อให้มาทำความรู้จักกันและสร้างสังคมเครือข่ายในกลุ่มนักออกแบบให้มีความแน่นแฟ้นกันมากขึ้น 

อาษา: สิ่งที่ฝ่ายปฏิคมและคณะกรรมการชุดนี้ คาดหวังหรืออยากให้เกิดขึ้นกับเครือข่ายวิชาชีพสถาปนิก และสมาชิกสมาคมฯ คืออะไร 

เฉลิมพล สมบัติยานุชิต: ความคาดหวังสิ่งหนึ่งที่เราอยากทำมากๆ ก่อนที่จะมีสถานการณ์โรคระบาดและได้เสนอท่านนายกมาโดยตลอด คือ เราอยากให้กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมของสมาคมฯ มากขึ้น ผ่านทุกช่องทางที่เรามีอยู่ ซึ่งโดยภาพรวมในปัจจุบันแล้วอาจจะยังไม่มากนัก ในส่วนของฝ่ายปฏิคมเราจึงพยายามจัดกิจกรรมให้สร้างสรรค์ขึ้นที่จะดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างสถานปิกรุ่นต่อรุ่น ฉะนั้นทุกกิจกรรมที่เราประชาสัมพันธ์ออกไปหรือจัดขึ้น ก็เพื่อส่งสัญญาณไปถึงคนรุ่นใหม่ว่าสมาคมฯ เราให้ความสำคัญกับหลายๆ ภาคส่วนทั้งการผลักดันวิชาชีพ กิจกรรมสันทนาการและวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ถ้าได้มาเข้าร่วมไม่ว่ากิจกรรมใดก็ตาม แน่นอนว่าจะได้รับประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ทั้งความรู้หรือความสนุกสนาน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้องในวงการสถาปนิกของเราด้วย

อ่านบทความจากคอลัมน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเล่มวารสารฉบับออนไลน์ 07 Co-With Creators คลิกได้ที่นี่

Pin It on Pinterest

Shares
Share This