Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

เรื่อง: สุปรียา หวังพัชรพล
ภาพ: Courtesy of Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

เมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤตและความเปราะบาง โลกต้องการการใส่ใจดูแลอย่างเข้มข้น โดยมนุษย์เองมีส่วนทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมหายนะ เกิดภัยคุกคามต่อการอยู่อาศัยในเมืองของเราเองมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ตัวเราในฐานะผู้อาศัยในเมืองและโลกใบนี้ค่อนข้างเปราะบางมากขึ้นตามมา การออกแบบสถาปัตยกรรมและเมืองจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขเยียวยาได้แค่ไหน อย่างไรบ้าง คือสิ่งที่หนังสือและนิทรรศการล่าสุดในชื่อเดียวกัน Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet ที่จัดแสดงในศูนย์สถาปัตยกรรมแห่งเมืองเวียนนา ช่วงเมษายนถึงกันยายน 2562 นี้ โดยมี Angelika Fitz และ Elke Krasny ผู้รับบทบาทเป็นทั้งภัณฑารักษ์ของงานนิทรรศการและบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้พยายามเสนอคำตอบในการร่วมเยียวยาวิกฤตการณ์ต่างๆ

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet
Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

เนื้อหาการนำเสนอในหนังสือแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรกประกอบด้วยบทความวิชาการกว่า 13 บท ที่เริ่มต้นโดยการอธิบายแนวคิด Architecture and Care โดยเป็นการหยิบยืมมุมมองเชิงทฤษฎีเรื่อง Care ของกลุ่มสตรีนิยมมาอธิบายเชื่อมโยงกับความสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งต่างจากเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และบทความในส่วนที่เหลือมุ่งเน้นการอภิปรายกรณีศึกษาต่างๆ ที่ตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และแรงงาน
ส่วนที่สองของหนังสือเป็นการรวบรวมกรณีศึกษาของโครงการออกแบบจริงที่หลากหลาย

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

ทั้งการบูรณะหมู่บ้านในประเทศจีน (Rural Urban Framework) การจัดการเส้นแบ่งชายแดน US-Mexico (Estudio Teddy Cruz+Fonna Forman) การสร้างพื้นที่เกษตรกรรมระหว่างรอยต่อเมืองและชนบทในฝรั่งเศส (atelier d’architecture autogérée) รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมในปากีสถาน (Yasmeen Lari/ Heritage Foundation of Pakistan) และการออกแบบพื้นที่สาธารณะในไนโรบี (Kounkuey Design Initiative) ซึ่งแต่ละโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานร่วมของกลุ่มคนจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคม ทนายความ นักมานุษยวิทยา ศิลปิน หรือแม้แต่สภาเมือง และบริษัทเอกชน ที่ทำงานร่วมกับสถาปนิกและนักวางผัง โดยมีสภาพบริบทท้องถิ่นที่เฉพาะเจาะจงเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการ

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

กรณีศึกษาเหล่านี้เป็นดั่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมและเมืองอาจมีส่วนในการดูแลโลกที่กำลังแตกสลายได้ แม้จะเป็นส่วนน้อยจากจุดใดจุดหนึ่ง แต่หากมีความพยายามในการใส่ใจทำมากยิ่งขึ้นจากคนหลายๆ ฝ่ายทั่วทุกมุมโลก อาจจะช่วยชะลอการไร้ที่อยู่อาศัยถาวร หรือการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์โลกไปยังดาวดวงอื่นได้บ้าง ดังนั้นนอกจากจะร่วมกันรณรงค์ใช้ถุงผ้า ลดใช้หลอดพลาสติก หรือการรักษ์โลกในชีวิตประจำวันแล้วนั้น คงถึงเวลาแล้วที่สถาปนิกนักออกแบบอย่างเราต้องกลับมาใส่ใจอย่างจริงจัง และเริ่มเยียวยาสิ่งแวดล้อมจากทักษะความสามารถที่เราทำเป็นวิชาชีพกันอย่างเต็มที่เสียที หากจะยังไม่สายเกินไป

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet

Critical Care: Architecture and Urbanism for a Broken Planet
บรรณาธิการ: Angelika Fitz และ Elke Krasny ร่วมกับ Architekturzentrum Wien
ปีที่พิมพ์: 2019
สำนักพิมพ์: The MIT Press
ISBN: 9780262536837
จำนวน 304 หน้า

Pin It on Pinterest

Shares
Share This