Baan Cats 2018 หลากหลายมุมเหม่อกลางอากาศ กับการกลับมารักกันใหม่ของหมู่แมว

เรื่อง: สิริพร ด่านสกุล
ภาพ: ณัฐวุฒิ มัชฌิมา Mutchima Studio
สถาปนิก: ณัฐวุฒิ มัชฌิมา Mutchima Studio

การเลี้ยงแมวในบ้านกำลังเป็นที่นิยม เพราะไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ลดการเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันการติดโรค แต่บางครั้งก็ทำให้แมวเครียด วิธีจัดการไม่ให้แมวมีปัญหาดังกล่าว แบบที่คุณณัฐวุฒิ มัชฌิมา จาก Mutchima Studio สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาคือการสร้างสเปซที่แมวจะไม่เบื่อนั่นเอง

Baan Cats 2018 คือส่วนต่อเติมหน้าบ้านของครอบครัวที่มีพ่อแม่สูงวัยกับลูกสาววัยรุ่น เป็นพื้นที่ 2 ชั้นที่เชื่อมต่อห้องนั่งเล่นที่ชั้น 1 และห้องนอนในชั้น 2 มีการแก้ปัญหาการใช้งานของเจ้าของบ้านให้สะดวกขึ้น โดยหมาจะใช้พื้นที่ซ้อนทับกับคนในชั้นหนึ่ง ส่วนแมวจะอยู่ทั้ง 2 ชั้น สถาปนิกมีความตั้งใจจะออกแบบพื้นที่เรียบง่ายเหมือนอยู่ต่างจังหวัดแบบไทยบ้านที่วัยรุ่นก็อยู่สบาย และแก้ปัญหาให้กับหมู่แมวที่เริ่มมีประชากรแออัดได้รู้สึกปลอดโปร่งขึ้น

เนื่องจากแมวก็เหมือนคน ที่มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป สถาปนิกจึงเริ่มต้นจากการทำความรู้จักประชากรแมวในบ้าน โดยการเข้าไปสังเกต และตั้งกล้องวิดิโอไว้ประมาณ 5 วัน แล้วให้เจ้าของบ้านส่งวิดิโอกลับมา เพื่อศึกษาพฤติกรรมของแมวและลักษณะนิสัยของแมวแต่ละตัว ที่บ้างก็ชอบนอน ชอบคน มีโลกส่วนตัวสูง และบ้างก็ชอบแกล้งผู้อื่น จนเป็นสีสันของบ้าน ก่อนนำข้อมูลมาออกแบบพื้นที่ที่ตอบรับพฤติกรรมเดิมๆ แต่ให้ความรู้สึกใหม่แก่แมว

ขั้นตอนการออกแบบเริ่มจากแก้ไขกิจกรรมของคนในส่วนซักล้าง ตากผ้า และจอดรถในชั้น 1 ให้ใช้งานง่ายขึ้น และสร้างพื้นที่อิสระในชั้น 2 ต่อมาจึงกำหนดพิกัดพฤติกรรมเดิมของแมว ยกให้สูงขึ้นเป็นทางเดินเหนือศีรษะเพื่อแยกทางสัญจรแมวออกจากคน เน้นการลดระยะการเดินของคน แต่เพิ่มระยะการเดินของแมว เพราะคนจะเครียดเมื่อเดินมากแต่แมวจะเครียดเมื่อเดินน้อย

“เรารักษาพิกัดเดิมที่แมวชอบแล้วยกระดับเป็นทางเดินลอยฟ้าเลียบผนังโปร่งของเหล็กฉีก กำหนดพิกัดความสูงให้เห็นวิวให้มากขึ้น แล้วปรับแบบตามข้อจำกัดทางโครงสร้าง กฎหมายและสิ่งแวดล้อม” สถาปนิกอธิบายการกำหนดความสูงและสัดส่วน “ความห่างของชั้นคือระยะกระโดดและความยาวของชั้นคือระยะทางเดิน ซึ่งมาจากการสังเกตพฤติกรรม ความกว้างของทางเดินมาจากแมวตัวใหญ่ที่สุด เพื่อให้ได้ชั้นที่แคบที่สุดเท่าที่แมวจะยังอยู่สบายแต่ไม่ทำให้คนอึดอัด ส่วนเชื่อมชั้นเล่นระดับเพื่อให้รู้สึกเหมือนขึ้นเนิน ส่วนที่แยกจากกันเพื่อให้เขาได้ย่อและกระโดดตามนิสัยของเขา”

“แมวเป็นสัตว์แนวดิ่ง”สถาปนิกพูดถึงเหล่าแมวในบ้าน “เแมวแต่ละตัวชอบความสูงต่างกัน ทั้งเพื่ออยู่ นอน และพิกัดเหม่อมอง” โลกสามมิติที่ลอยกลางอากาศนี้ซ้อนทับอยู่ในมวลอากาศของคน เป็นโลกที่แมวจะปฎิสัมพันธ์กันเอง นั่งเคียงกัน เดินไปเรื่อยๆ เล่นด้วยกัน เหม่อมอง และนอนอืด ทางเดินล้อมรอบบ้านทำให้แมวสามารถย้ายทิศที่อยู่ได้อิสระ เลือกเหม่อในพิกัดไหนก็ได้ การไม่เชื่อมต่อของทางเดินทำให้เลือกทางขึ้นตรงไหนก็ได้ เปลี่ยนเส้นทางเดินได้ทุกวัน และผนังที่ล้อมไปด้วยเหล็กฉีกก็สร้างตำแหน่งชมวิวอิสระให้เลือกวิวเปลี่ยนวิวได้เรื่อยๆ สถาปนิกจงใจสร้างพื้นที่เรียบง่ายที่สุดที่สร้างพิกัดหลากหลายให้แมวได้เลือกตลอดเวลาเพราะเป็นบ้านที่หมู่แมวอาศัยอยู่ทุกวัน

“นิสัยเบื้องต้นที่แมวมีคือ การยืนเฉยๆ แล้วมองวิวภายนอก ชอบความเป็นส่วนตัว ชอบนอนเล่นในที่ต่างๆ การซุกคือการเล่น แต่การนอนคือสิ่งที่แมวชอบทำ” สถาปนิกสรุปผลการทดลองของเขา การเหม่อมองวิวเป็นกุญแจสำคัญที่สถาปนิกค้นพบ และดูเหมือนหลักการนี้จะตรงกับหลักจิตวิทยาแมวบ้านทั่วโลก แมวบ้านที่ไม่ได้ออกนอกบ้านจะชอบมองวิว เขาอยากมีมุมส่วนตัวที่สามารถหยุดพักและเหม่อมองนานเท่าไหร่ก็ได้ ตะแกรงเหล็กในบ้านหลังนี้เปิดมุมมอง กรองแดด และลมอ่อนๆให้เข้ามาสัมผัสแมว เกิดเป็นพื้นที่ชมวิวในอุดมคติ สำหรับแมว สัตว์ที่ชอบกลิ่นของลมในแต่ละวัน

“เมื่อต่อเติมเสร็จ พื้นที่ของแมวเพิ่มขึ้น แมวก็จะก้าวร้าวน้อยลง ไม่แสดงอาการเจ้าถิ่นใส่กัน แล้วก็พากันออกมานอน และเจ้าของบ้านก็เริ่มเก็บแมวมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น (ยิ้ม)” สถาปนิกกล่าวถึงผลการออกแบบของเขา แมวมีกฎของเขาเอง การอยู่ร่วมกันของแมวจะมีการกำหนดพฤติกรรม และสถานที่ ตามช่วงจังหวะเวลาของวัน หากประชากรหนาแน่น เขาจะข่วนพื้นที่เพื่อเป็นสัญญะสร้างอำนาจ Baan Cats 2018 จึงเป็นเหมือนการเพิ่มพื้นผิวทางการใช้งานเพื่อลดความหนาแน่นประชากรแมว ใช้มุมมองและพื้นที่เหม่อลอยในการกำกับพิกัด เพิ่มตัวเลือกในการใช้พื้นที่อย่างอิสระ สร้างสีสันให้กับทุกวัน เพื่อลดความเครียดและสร้างความสุขให้ประชากรแมว และทุกชีวิตที่อยู่ร่วมกัน

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก “แนวคิดบ้านสัดว์เลี้ยง”

Pin It on Pinterest

Shares
Share This